อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบตาก ชี้ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากาก ไม่เสี่ยงโรค

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564  “สุภา” (นามสมมติ) ประชาชนในจังหวัดตากวัย 63 ปี ได้รับแจ้งจากทางพนักงานสอบสวน สภ.แม่ท้อ ให้เดินทางเข้ารับทราบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ในคดีที่เธอถูกกล่าวหาจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีในทุกข้อกล่าวหา ทั้งในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดตาก, ส่งเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร และกีดขวางทางสาธารณะ ทำให้คดีสิ้นสุดลงแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 สุภา พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สภ.แม่ท้อ ตามหมายเรียกในคดีที่มี พ.ต.ท.ธนาภัสสร์ รุ่งรัตน์ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.แม่ท้อ เป็นผู้กล่าวหา โดยกล่าวหาว่าเธอได้แชร์โพสต์เชิญชวนทำกิจกรรม Car Mob เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจึงได้ติดตามไปตรวจสอบบริเวณหน้าวัดพระนารายณ์ ในอำเภอเมืองตาก และเวลา 15.05 น. ได้พบสุภานำรถยนต์กระบะมาเข้าร่วม พร้อมกับผู้เข้าร่วมที่นำรถมาประมาณ 17 คัน มาจอดเรียงเป็นแถวยาวบริเวณหน้าวัด

เจ้าหน้าที่ผู้กล่าวหาอ้างว่า สุภา และผู้ร่วมกิจกรรมบางคน ได้ลงจากรถมารวมตัวกันถ่ายรูปบนถนน ก่อนจะร่วมกันเคลื่อนขบวนรถเป็นแถวเรียงยาว มุ่งหน้าเข้าสู่หมู่บ้านหนองบัวใต้ และเข้าเขตพื้นที่ สภ.วังเจ้า โดยผู้ร่วมกิจกรรมมีการเปิดกระจก แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว เปิดไฟฉุกเฉิน และบีบแตรรถเป็นระยะๆ ไปตามถนนสาธารณะในหมู่บ้าน

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นความผิดใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดต่อ โดยมีจำนวนบุคคลรวมกันเกินกว่า 5 คน ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 3 ส.ค. 64, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดตากที่ 2643/2564 ลงวันที่ 1 ส.ค. 64 เรื่องมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดต่อเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019, ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370 ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนหรือตกใจ และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 กีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร

สุภา ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ยื่นคำให้การยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เข้าข่ายการทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 แต่อย่างใด และการแสดงออกก็เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง รวมทั้งการแจ้งความดำเนินคดีลักษณะนี้ มีเจตนามุ่งหวังจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อหวังผลในการปิดปากบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างไปจากฝ่ายรัฐบาล

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 โดยสุภาต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการมาทั้งหมด 3 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา

.

ภาพโปสเตอร์กิจกรรมคาร์ม็อบ #ไล่ประยุทธ์ วันที่ 15 ส.ค. 64 ในกรุงเทพฯ โดยที่จังหวัดตากก็มีการจัดกิจกรรมคู่ขนานเช่นกัน

.

อัยการชี้ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากากอนามัย ไม่สัมผัสใกล้ชิด ไม่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 พนักงานสอบสวน สภ.แม่ท้อ ได้แจ้งถึงหนังสือคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดตากให้กับสุภาทราบ โดยคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวถือเป็นเด็ดขาดแล้ว

สำหรับเนื้อหาคำวินิจฉัยของพนักงานอัยการ ที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีในทุกข้อกล่าวหา ระบุว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ได้เดินทางมาบริเวณที่เกิดเหตุโดยต่างคนต่างขับรถยนต์ส่วนตัว ต่างคนต่างจอดรถยนต์บริเวณหน้าวัดพระนารายณ์ รวมกันประมาณ 17 คัน โดยจอดเป็นแถวเรียงต่อกันยาวบริเวณที่เกิดเหตุ เข้าร่วมกันทำกิจกรรมประมาณ 20 คน โดยทุกคนมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด แม้จะมีการรวมตัวกันบนถนนประมาณ 6-7 คน และทำการถ่ายรูปและแสดงสัญลักษณ์ยกมือชู 3 นิ้ว หลังจากนั้นผู้ต้องหาและผู้ร่วมกิจกรรมได้ขับรถเคลื่อนขบวนเป็นแถวเรียงยาวตามกันเป็นขบวน มุ่งหน้าสู่ถนนสาธารณะในหมู่บ้าน รวมตัวกันในระยะเวลาอันสั้น โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอยู่ โดยไม่ปรากฏว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดหรือการกระทำอื่นใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคติดต่อแต่อย่างใด ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก

“ขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นเวลากลางวันไม่ใช่ยามวิกาล ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ขับรถเคลื่อนขบวนเป็นแถวเรียงยาวตามกันเป็นขบวนมุ่งหน้าสู่ถนนสาธารณะในหมู่บ้าน โดยขณะเคลื่อนขบวน ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เปิดกระจกรถแสดงสัญลักษณ์ยกมือชู 3 นิ้ว โดยมีการเปิดไฟฉุกเฉินและบีบแตรเป็นระยะๆ ไปตามถนนที่เกิดเหตุในระดับปกติของการใช้รถยนต์ ไม่เป็นการใช้เสียงดังเกินกำหนด ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนตกใจ และถนนสาธารณะดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีประชาชนอยู่กันอย่างหนาแน่น จนถึงขนาดทำให้ประชาชนเดือดร้อน

“การที่ผู้ต้องหาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ขับรถเคลื่อนขบวนเป็นแถวเรียงตามกันเป็นขบวนไปตามถนนสาธารณะที่เกิดเหตุ ยานพาหนะอื่นๆ ในเส้นทางสาธารณะดังกล่าวก็ยังสามารถขับขี่ได้ตามปกติ โดยไม่ปรากฏว่ามีการปิดกั้นถนนที่เกิดเหตุโดยเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด แม้จะเป็นการไม่สะดวกอยู่บ้าง ก็ยังไม่เป็นเหตุถึงขนาดเป็นการกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ดังนั้น พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง”

คำวินิจฉัยลงนามโดย นายกิตติพงษ์ สินพิทักษ์กุล รองอัยการจังหวัดตาก สำนักงานอัยการจังหวัดตาก วันที่ 20 ธันวาคม 2564

.

คดีคาร์ม็อบคดีแรกที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูล คดีนี้นับเป็นคดีจากการทำกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คดีแรก ซึ่งพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ท่ามกลางคดีกว่า 100 คดี ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยที่ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ อัยการในหลายจังหวัดได้มีคำสั่งฟ้องคดีไปแล้ว อาทิเช่น คดีคาร์ม็อบยะลา, คดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี, คดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร, คดีคาร์ม็อบแม่สอด, คดีคาร์ม็อบนครราชสีมา, คดีคาร์ม็อบชัยภูมิ, คดีคาร์ม็อบหนองบัวลำภู เป็นต้น

ขณะที่หากพิจารณาการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา พนักงานอัยการเพิ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดในคดีลักษณะนี้ไปอย่างน้อย 6 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63, คดีจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ในช่วงเช้าและบ่าย รวม 2 คดี, คดีชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่ท่าน้ำนนทบุรี, คดีชุมนุม #สมุทรปราการจะไม่ทน ที่ลานหน้าหอชมเมืองสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 63 (อยู่ระหว่างรอคัดถ่ายคำสั่งไม่ฟ้องคดี) และคดีคาร์ม็อบจังหวัดตากนี้

ในขณะที่คดีการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงสิ้นปี 2564 มีไม่น้อยกว่า 606 คดี ผู้ถูกกล่าวหากว่า 1,419 คน และแนวโน้มส่วนใหญ่ พนักงานอัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องคดีไปถึงชั้นศาล คดีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น กล่าวได้ว่าบทบาทของพนักงานอัยการในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตั้งข้อกล่าวหาจำนวนมากเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ยังเป็นไปอย่างจำกัด

.

X