คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องแล้ว 7 คดี อัยการไม่ฟ้อง 7 คดี ไม่มีคดีที่ต่อสู้แล้วลงโทษแม้แต่คดีเดียว

26 มีนาคม นี้ จะเป็นระยะเวลาครบสองปีแล้ว ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากข้ออ้างเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นการประกาศต่อเนื่อง ไม่ได้มีการงดเว้นไปตามระยะต่างๆ ของการระบาดที่ไม่ได้เป็นไปอย่างเข้มข้นโดยตลอด หรือไม่ได้มีการพยายามใช้กฎหมายอื่นๆ ที่ออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดได้ดีกว่า

ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยมีการออกข้อกำหนดจำนวนมากที่ห้ามการมั่วสุม ชุมนุมทำกิจกรรม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ฯลฯ โดยเฉพาะพุ่งเป้าต่อการชุมนุมขับไล่รัฐบาล และการเรียกร้องรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 24 มี.ค. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,447 คน คิดเป็นจำนวนอย่างน้อย 629 คดี นักกิจกรรมหลายคนยังถูกกล่าวหาในหลายคดี ทำให้มีภาระในชีวิตประจำวันอย่างมากในการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ในจำนวนนี้ มีบางคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาล ทำให้คดีสิ้นสุดลง โดยมากเพราะจำเลยไม่อยากมีภาระทางคดี เนื่องจากระยะในการต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อ หรือบางคดี จำเลยเพราะไม่ได้พบหรือปรึกษาทนายความก่อน จึงตัดสินใจให้การเช่นนั้น อาทิเช่น คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดลำปาง, คดีคาร์ม็อบหนองบัวลำภู หรือคาร์ม็อบชัยภูมิ (คดีนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา)

ขณะที่ยังมีคดีอีกจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ แม้แต่คดีที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการเริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งผ่านวันเกิดเหตุมาเกือบครบ 2 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลงแต่อย่างใด หลายคดียังรอการสืบพยานในชั้นศาล ซึ่งอาจยาวนานไปอีกหลายปี

.

จนถึงวันที่ 24 มี.ค. 2565 พบว่าคดีจากการชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 7 คดี พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องอีกอย่างน้อย 7 คดี โดยยังไม่พบว่ามีคดีที่จำเลยเลือกจะต่อสู้คดี แล้วศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด

สำหรับคดีที่ศาลยกฟ้องไปแล้ว 7 คดี ได้แก่

1.    คดีชุมนุม #อุดรธานีสิบ่ทน ที่ทุ่งศรีเมือง วันที่ 24 ก.ค. 2563 (ศาลแขวงอุดรธานี)      

2.    คดีชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ วันที่ 6 ธ.ค. 2563 (ศาลแขวงธนบุรี)

3.    คดีชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 27 ก.ค. 2563 (ศาลจังหวัดพะเยา)   

กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย วันที่ 21 ต.ค. 2563 การชุมนุมนี้ถูกฟ้องคดีแยกเป็นรายคนในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงฯ โดยมีคดีที่ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องแล้ว ได้แก่

4.    คดีของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

5.    คดีของอานันท์ ลุ่มจันทร์

6.    คดีของไพศาล จันปาน  

7.    คดีของวสันต์ กล่ำถาวร และสุวรรณา ตาลเหล็ก

สำหรับแนวทางคำพิพากษาของศาล อาจพอสรุปประเด็นสำคัญ ได้แก่

– พยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่ต้องมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค (คดีชุมนุมอุดรธานี และคดีชุมนุมวงเวียนใหญ่)

– สถานที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ไม่ใช่สถานที่แออัด อีกทั้งจำเลยได้มีมาตรการป้องกันตนเองแล้ว (คดีชุมนุมอุดรธานี, คดีชุมนุมพะเยา)

– ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นๆ (คดีชุมนุมอุดรธานี, คดีอานันท์ ลุ่มจันทร์)

– การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย เนื้อหาปราศรัยมีเพียงการวิจารณ์รัฐบาล เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ (ทุกคดี)

– ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับ (คดีชุมนุมพะเยา)

.

ส่วนคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว 7 คดี ได้แก่

1. คดีชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่ห้าแยกหอนาฬิกา จังหวัดลำปาง วันที่ 26 ก.ค. 2563

2. คดียื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมการอุ้มหายวันเฉลิม ที่สถานทูตกัมพูชา วันที่ 8 มิ.ย. 2563 (ช่วงเช้า ผู้ต้องหา 4 คน)

3. คดียื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมการอุ้มหายวันเฉลิม ที่สถานทูตกัมพูชา วันที่ 8 มิ.ย. 2563 (ช่วงบ่าย ผู้ต้องหา 6 คน)

4. คดีชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี วันที่ 29 ก.ค. 2563

5. คดีชุมนุม #สมุทรปราการจะไม่ทน ที่ลานหน้าหอชมเมืองสมุทรปราการ วันที่ 25 ก.ค. 2563

6. คดีคาร์ม็อบจังหวัดตาก วันที่ 15 ส.ค. 2564

7. คดีคาร์ม็อบจังหวัดมุกดาหาร วันที่ 29 ส.ค. 2564

.

สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของพนักงานอัยการ อาจพอสรุปประเด็นสำคัญที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ อัยการเห็นว่าการชุมนุมที่จัดในสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เป็นสถานที่แออัด หากผู้ที่มาร่วมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่จังหวัดในช่วงวันเกิดเหตุ ก็ถือว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในคดีชุมนุมท่าน้ำนนทบุรี อัยการยังเห็นว่าระหว่างกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันจัดทางเข้าออกเป็นทางเดียว และจัดให้มีการตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิ ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างอยู่แล้ว

ส่วนคดีคาร์ม็อบมุกดาหาร อัยการเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอจะบอกได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้จัดกิจกรรม ที่ต้องดูแลมาตรการในการควบคุมโรค

นอกจากนั้น อัยการยังพิจารณาเนื้อหาการชุมนุมหรือการปราศรัย คดีทั้งหมดเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ ที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีเหตุรุนแรงและวุ่นวาย จึงไม่เป็นกระทําการใดๆ เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

.

จะเห็นได้ว่าแนวทางคำพิพากษาของศาลและคำวินิจฉัยของอัยการ ล้วนชี้ไปว่าการชุมนุมสาธารณะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สามารถกระทำได้ ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดในทันที และการใช้กฎหมายเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการพิจารณาชั่งน้ำหนักอย่างรอบด้าน ระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ กับสถานการณ์จำเป็นด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากโควิด-19  

ในขณะที่สถานการณ์ทางคดีที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ กลับสวนทางกับการใช้และตีความกฎหมายที่สมควรแก่เหตุ คือ ขณะที่ตำรวจ ซึ่งทำงานภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล ยังคงดำเนินการกล่าวหาแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมต่างๆ อย่างต่อเนื่องแทบทุกกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลตลอดสองปีที่ผ่านมา  พนักงานอัยการในคดีชุมนุมยังคงทยอยสั่งฟ้องคดีและผู้ถูกกล่าวหา ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ได้จัดก็ตาม ขึ้นสู่ศาลอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างคดีที่สั่งไม่ฟ้องนี้ยังคงเป็นเพียงส่วนน้อยของคดีในช่วงสองปีนี้

ทั้งรัฐบาลยังมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก ยาวนานเกิน 2 ปี ซึ่งการออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมฯ เหล่านี้ ไม่ได้สอดคล้องต่ออัตราผู้ติดเชื้อในประเทศในช่วงต่างๆ ขัดต่อหลักความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนต่อการบังคับใช้กฎหมายกระทบสิทธิของประชาชน  กล่าวได้ว่าการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการควบคุมโรคโควิด-19 แต่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ 

แม้ว่าศาลทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องคดี แต่การถูกดำเนินคดีมาเป็นเวลายาวนานก็ได้สร้างภาระของนักกิจกรรมและประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการเช่นนี้ ที่ดูจะไม่ได้มี “เป้าประสงค์” ที่จะสร้างความยุติธรรมในสังคม แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

.

ดูตารางคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี และรายละเอียดคำวินิจฉัยต่างๆ https://tlhr2014.com/archives/41328

.

X