ศาลยกฟ้องคดี “อานันท์ ลุ่มจันทร์” ร่วมชุมนุม 21 ตุลา 63 ชี้เป็นการใช้สิทธิตาม รธน. ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง

2 มี.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องคดีของอานันท์ ลุ่มจันทร์ นักกิจกรรมวัย 27 ปี ซึ่งถูกฟ้องร้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นผู้ถูกฟ้องจากกรณีนี้รายที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว

สำหรับการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของประชาชนซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ของผู้ชุมนุม 

ต่อมามีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูกกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมฯ 

ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ไปแล้ว

>> เปิดคำพิพากษายกฟ้อง ‘มายด์-ภัสราวลี’ ชี้ชุมนุมโดยสงบตาม รธน.-ไม่มีพฤติกรรมมั่วสุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ใน #ม็อบ21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย 

.

สำหรับคดีของอานันท์ เขาถูกอัยการฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 คดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 22-24 ธ.ค. 2564 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา

ศาลมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์ รับฟังได้เพียงว่าจำเลยปรากฏตัวในที่ชุมนุม และพยานโจทก์ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ที่ประชาชนปะทะกับเจ้าพนักงานตำรวจ  ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ปะทะกันก็ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ใด และไม่มีใครถูกดำเนินคดี  ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ ไม่มีพฤติการณ์อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ไม่เห็นว่ามีการทำลายทรัพย์สิน  

ถึงแม้ในวันเวลาเกิดเหตุคดีนี้ อยู่ระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แต่เมื่อพิจารณาบทนิยามคำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง 

การที่นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้รัฐบาลนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะให้ยุติลงได้โดยเร็ว  การชุมนุมที่จะเป็นความผิดได้นั้น จำต้องเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปหรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ ก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นตามนัยมาตรา 4 

เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ และพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยเพียงแต่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินขบวนไปตามถนนสาธารณะ เพื่อนำข้อเรียกร้องไปยื่นต่อตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และกลุ่มผู้ชุมนุมก็ประกาศยุติการชุมนุม แม้การชุมนุมจะมีเหตุปะทะกันบริเวณแยกยมราช และแยกอุรุพงษ์ แต่ยังถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ภาพรวมเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ  สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่รุนแรง อันอาจอ้างเป็นเหตุห้ามชุมนุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน  การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะได้

การที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ จึงมิใช่การชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยตามฟ้องจึงไม่ขัดต่อพระราชการกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พิพากษายกฟ้อง

นอกจากคดีภัสราวลี และคดีอานันท์ ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว กรณีการชุมนุมเดียวกันนี้ ยังมีคดีของผู้ถูกฟ้องรายอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการรอฟังคำพิพากษา ได้แก่ ไพศาล จันปาน, วสันต์ กล่ำถาวร และสุวรรณา ตาลเหล็ก ขณะที่คดีของวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, ชาติชาย แกดำ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ปิยรัฐ จงเทพ, ชลธิชา แจ้งเร็ว และกรกช แสงเย็นพันธ์ ยังไม่ได้มีการสืบพยานในคดี และอยู่ระหว่างนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน ทำให้ต้องจับตาสถานการณ์การดำเนินคดีต่อไป เมื่อศาลมีคำพิพากษาในกรณีลักษณะเดียวกันแล้วสองคดี

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประมวลสืบพยานคดี ‘มายด์-ภัสราวลี’ ชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ยื่นหนังสือให้ประยุทธ์ลาออก ก่อนศาลพิพากษา 13 ธ.ค.

ประชาชน 12 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

ดูข้อมูลการชุมนุมโดย Mob Data >> #ม็อบ21ตุลา : เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยไปทำเนียบรัฐบาล

X