ประมวลสืบพยานคดี ‘มายด์-ภัสราวลี’ ชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ยื่นหนังสือให้ประยุทธ์ลาออก ก่อนศาลพิพากษา 13 ธ.ค.

ระหว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม 2564 ศาลแขวงดุสิต นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 (ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือลาออกให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยคดีนี้นับเป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงในคดีแรกของกลุ่มบุคคลที่ถูกฟ้องคดีจากเหตุการณ์เดียวกัน รวมผู้ถูกฟ้องคดีถึง 14 คน อาทิ ลูกเกด ชลธิชา, ปอ กรกช, ลูกตาล สุวรรณา, โตโต้ ปิยรัฐ, บอย ชาติชาย, ไพศาล จันปาน และนพ.ทศพร เสรีรักษ์ ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยและแยกสำนวนคดีเป็นหลายสำนวนคดี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม ถึง 22 ตุลาคม 2563 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ก่อนที่ศาลแขวงดุสิตจะอ่านคำพิพากษาคดีในส่วนคดีของภัสราวลี ในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธินุษยชนชวนมาร่วมกันทบทวนแนวทางการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานที่ถูกเบิกความระหว่างพิจารณาในชั้นศาล

ภาพรวมของการสืบพยาน

เมื่อเริ่มการพิจารณา พนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ได้นำสืบพยาน 3 ปาก ประกอบด้วย พันตำรวจโทวิบูลย์ นนทะแสง เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท, พันตำรวจโทชัยณรงค์ ทรัพยสาร ผู้กล่าวหาในคดี และ พันตำรวจตรีวิศรุช หยกนิธิภัทร พนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ส่วนฝ่ายจำเลย ได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 3 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง, พยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานนักข่าว

ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์นั้นมีการเน้นย้ำถึงกิจกรรมในการชุมนุมในวันดังกล่าว ว่าเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กล่าวคือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการยุยงปลุกปั่น และขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยนั้น คือ การชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตามกฎหมายที่ให้อำนาจในพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การชุมนุมโดยไม่สงบและถือโทรโข่งเป็นแกนนำ จากปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พยานปากแรกของฝ่ายโจทก์ คือ พันตำรวจโทวิบูลย์ นนทะแสง เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายในการลงพื้นที่ตรวจสอบการชุมนุมในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ร่วมกับลูกน้องในสังกัด

ในวันดังกล่าว พันตำรวจโทวิบูลย์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุม และเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบด้วย ภาพถ่ายของจำเลยที่อยู่บริเวณที่ชุมนุม และวิดีโอที่จำเลยพูดผ่านโทรโข่ง ต่อมาส่งให้พนักงานสอบสวน

โดยพันตำรวจโทวิบูลย์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีการนัดการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยมีผู้ชุมนุมทยอยเข้าพื้นที่ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึงเวลา 18.00 น. รวมกว่า 3,000-4,000 คน ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งพบว่ามีผู้ชุมนุมเพิ่มเกือบ 10,000 คน

พยานเบิกความต่อว่า พยานไม่เห็นจำเลยตอนเคลื่อนขบวนไปแยกอุรุพงษ์ แต่เห็นจำเลยที่อนุสาวรีย์ชัยและมาเห็นอีกทีที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ในเวลา 21.00 น. โดยพบจำเลยถือโทรโข่งคล้ายมีการปราศรัยอยู่  โดยพยานเบิกความว่าตามวิดีโอคลิปที่พยานเป็นผู้ถ่ายนั้น จำเลยได้มีการปราศรัยมากกว่าที่มีข้อความที่ปรากฏในคลิป รวมไปถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก, เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ พยานตอบโดยไม่แน่ใจในข้อเรียกร้องดังกล่าว จนศาลได้ช่วยนำว่าข้อเรียกร้องมีอะไรบ้าง อีกทั้งการที่พยานเห็นจำเลยถือโทรโข่งอยู่นั้นทำให้พยานเองเชื่อว่าจำเลยเป็นแกนนำการชุมนุมด้วย

พยานตอบคำถามถามติงของอัยการว่า การชุมนุมที่ไม่สงบนั้น เนื่องมาจากมีเหตุฝ่าฝืนกฎหมาย และกีดขวางการจราจร และมีการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน แต่พยานไม่สามารถอธิบายอย่างชัดเจนได้ถึง “ความไม่สงบ” เช่นนั้นเป็นอย่างไรตามที่ศาลได้สอบถามอีกครั้ง 

ในช่วงทนายถามค้าน ทนายจำเลยได้ให้พันตำรวจโทวิบูลย์ ฟังเสียงในวิดีโอคลิปที่ตัวเองเป็นผู้จัดทำอีกครั้งหนึ่ง โดยในคลิปนั้นจำเลยได้พูดเนื้อหาเพียงขอให้คนที่อยู่ในขบวนชุมนุมนั่งลงและคนข้างหลังอย่าดันคนข้างหน้าเท่านั้น

ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า จากเนื้อหาในคลิปดังกล่าวมีถ้อยคำที่เป็นการยุยงปลุกปั่นอย่างไร พยานตอบทนายจำเลยแต่เพียงว่า “ไม่ทราบ” อีกทั้งพยานยังตอบทนายจำเลยอีกว่า ในวันดังกล่าวไม่พบว่าจำเลยพกอาวุธมา

และตามพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายไม่ปรากฏว่าจำเลยอยู่ในบริเวณแยกอุรุพงษ์ขณะที่ผู้ชุมนุมรื้อสิ่งกีดขวางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาปิดกั้นแต่อย่างใด ปรากฏแต่เพียงว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น

นอกจากนี้ พยานโจทก์ คือ พันตำรวจตรีวิศรุช หยกนิธิภัทร พนักงานสอบสวนสถานี ตำรวจนครบาลพญาไท ได้เบิกความว่า พันตำรวจโทวิบูลย์ นนทะแสง เป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดมาส่งให้ตนที่เป็นพนักงานสอบสวน ตนจึงทำหน้าที่ออกหมายเรียกจำเลยกับพวกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามกระบวนการทางอาญา และต่อมาตนได้มีการสรุปสำนวน มีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เพราะมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณแยกอุรุพงษ์

แต่อย่างไรก็ตาม พันตำรวจตรีวิศรุชตอบคำถามค้านทนายจำเลยเป็นส่วนใหญ่ว่า “ไม่ทราบและไม่แน่ใจ” ถึงข้อเรียกร้องในการชุมนุม, การนัดหมายเพื่อเคลื่อนขบวนชุมนุมไปยังหน้าทำเนียบ, เวลาในการเลิกการชุมนุม และการฟ้องคดีให้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของนักวิชาการ

การจราจรติดขัดในพื้นที่ที่มีขบวนเสด็จเป็นประจำกระทบความมั่นคงของรัฐแล้ว มุมมองของตำรวจผู้กล่าวหา

พยานปากที่สองของฝ่ายโจทก์ คือ พันตำรวจโทชัยณรงค์ ทรัพยสาร รองผู้กำกับหน่วยสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจพญาไท มีความเกี่ยวข้องเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

พันตำรวจโทชัยณรงค์ ได้เบิกความย้อนไปถึงเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ว่ามีประชาชนหลายกลุ่มมีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย คือ “สร้างความปั่นป่วน” โดยการฝ่าขบวนเสด็จของพระราชินี และชุมนุมแม้มีการประกาศมาตรการควบคุมโรคไวรัส Covid-19 การชุมนุมในครั้งต่อๆ ไป ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจึงสั่งให้มีการแบ่งหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน และติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมในลักษณะนี้  

ต่อมาในการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ซึ่งตนมีหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวน และหาข่าวในเขตสถานีตำรวจพญาไทพบมีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล โดยพยานได้ตอบคำถามอัยการว่า ในระหว่างที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนพยานติดตามขบวนดังกล่าวถึงบริเวณทางด่วนยมราชเท่านั้น เนื่องจากสิ้นสุดเขตพญาไทที่จะดูแลแล้ว และพยานได้ตามแบบทิ้งระยะห่างรอบนอกเท่านั้น โดยพยานไม่เห็นจำเลยในวันเกิดเหตุอีกด้วย

พยานเบิกความว่าการชุมนุมในวันนั้นที่อนุสาวรีย์ชัยมีผู้ชุมนุมค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นจนเต็มถนนจนเป็นเหตุให้การจราจรติดขัด

ต่อมาทนายจำเลยได้ถามค้าน ว่าตามที่พยานได้เบิกความไปก่อนนี้ว่าการจราจรติดขัดกระทบต่อความมั่นคงของรัฐนั้น กระทบอย่างไร พยานตอบว่า “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากว่าเขตพญาไทนั้น เป็นเขตที่มีขบวนเสด็จ

อยู่เป็นประจำ” แต่พยานกลับตอบทนายจำเลยว่า “จำไม่ได้ว่าในวันที่มีการจัดการชุมนุมในคดีนี้มีขบวนเสด็จหรือไม่” และพยานตอบทนายความจำเลยว่าพยานไม่เคยดำเนินคดีในความผิดฐานเดียวกันนี้กับการชุมนุมของกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์

การชุมนุมในช่วงประกาศควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พันตำรวจโทชัยณรงค์ ทรัพยสาร พยานฝ่ายโจทก์ยังได้เบิกความว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องด้วยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการประกาศควบคุมโรคไวรัส Covid-19

ต่อมาทนายจำเลยถามค้านพยานในประเด็นนี้ เมื่อพยานดูภาพถ่ายที่ปรากฏก็ยอมรับตามภาพว่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือให้ลาออกจากผู้ชุมนุมนั้นไม่สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวการแพร่ระบาดของโรคไวรัส Covid-19 ยังไม่มีการระบาดร้ายแรง ประกอบกับเมื่อศาลสอบถามพยานถึงตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 พยานตอบศาลแต่เพียงว่า “จำไม่ได้”

พยานยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า ตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มีมาตรการ ผ่อนคลายการล็อคดาวน์ พยานเองอ่านและสามารถเข้าใจได้ว่าสถานการณ์เกี่ยวกับโรคไวรัส Covid-19 นั้นดีขึ้น ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จึงมีการผ่อนคลายมาตรการ

โดยภายหลังการชุมนุมนั้น โฆษกกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ) ออกมาแถลงการณ์ตามวิดิโอคลิปที่เปิดในห้องพิจารณา ถึงการชุมนุมในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ว่าโดยภาพรวมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย รวมถึงพยานนักข่าวของฝ่ายจำเลย คือ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย จากสำนักข่าวออนไลน์ The Reporters ซึ่งไปทำข่าวในวันเกิดเหตุ ได้ยืนยันอีกว่าการชุมนุมในวันที่เกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบ และในช่วงเวลาดังกล่าวไม่พบการติดเชื้อแบบกลุ่มใหญ่หรือคลัสเตอร์จากผู้ชุมนุม ในเดือนพฤศจิกายนยังไม่มีการติดต่อร้ายแรง ส่วนการติดเชื้อกลุ่มใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม จากกลุ่มคนงานในจังหวัดสมุทรสาคร

.

ภัสราวลีประสงค์ให้ประยุทธ์ลาออก เหตุบริหารบ้านเมืองผิดพลาด การชุมนุมสงบฯ เพียงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยไม่มีการปราศรัย

ภัสราวลี ได้เบิกความต่อศาล เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ว่าตนไปร่วมชุมนุมจากโพสต์เชิญชวนของเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเพจของเยาวชนปลดแอก โดยที่ตนเป็นสมาชิกของอีกกลุ่ม คือ กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ตนไม่ได้โพสต์เชิญชวนและไม่ได้เป็นแกนนำแต่อย่างใดโดยการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็น

การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่กฎหมายรัฐธรรมมนูญรับรองไว้ โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และไม่มีการปราศรัย

จำเลยได้เบิกความว่า จุดประสงค์ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก คือ ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีนั้นเข้ามารับตำแหน่งโดยไม่ชอบ ทั้งยังวางอำนาจโดยไม่ชอบ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และมีการจับกุมผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตย อีกทั้งยังจัดการกับโรคระบาดอย่างไวรัส Covid-19 อย่างไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสม จำเลยผู้เป็นประชาชนจึงเห็นว่าไม่ถูกต้อง และต้องการให้รัฐบาลจัดการอย่างเหมาะสม

ภัสราวลีได้เบิกความว่าตนเห็นโทรโข่งวางกองอยู่กับพื้น จึงอาสาหยิบโทรโข่งมาเพื่อสื่อสารกับผู้ชุมนุมให้เดินไปพร้อมๆ กันเท่านั้น และเมื่อเดินไปถึงสะพานสะพานชมัยมรุเชฐมีการนำรถเมล์มาจอดขวางทางไว้ ผู้ชุมนุมจึงไม่สามารถเดินไปยังทำเนียบรัฐบาลได้

อีกทั้ง พยานได้เบิกความว่าวันเกิดเหตุมีรถพยาบาลต้องใช้เส้นทาง ผู้ชุมนุมก็ได้หลีกทางให้รถพยาบาลผ่านไปได้ และการชุมนุมทุกครั้งรถพยาบาลสามารถผ่านไปได้โดยผู้ชุมนุมเปิดทางให้ และตนจำได้ว่าวันนั้นไม่มีขบวนเสด็จแต่อย่างใด

ภัสราวลีตอบคำถามค้านพนักงานอัยการว่า หน้าที่ในการจัดการสิทธิในการสัญจรไปมาของประชาชนบนถนนในวันที่มีการชุมนุมนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมไม่มีอำนาจอะไรในการจัดการจราจรได้เหมือนเจ้าหน้าที่ เมื่อผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุม เจ้าหน้ารัฐมีหน้าที่ต้องจัดการจราจรเพื่อให้ผู้ชุมนุมและผู้ใช้ทางสัญจรสามารถใช้สิทธิของแต่ละฝ่ายคู่ขนานกันไปได้ ในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมจำนวนมากเกินหนึ่งหมื่นคน โทรโข่งที่ใช้เพื่อการสื่อสารน่าจะมีเกิน 10 ตัว แต่ไม่ถึง 100 ตัว และตอบทนายความจำเลยถามติงว่า ภัสราวลีทราบว่าฝ่ายประชาธิปไตยถูกดำเนินคดีในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชุมนุมกลุ่มอื่น และในวันนี้ (28 ตุลาคม2564) มีผู้ชุมนุมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยที่ศาลนี้ประมาณ 60 คน เมื่อวานมีฝ่ายประชาธิปไตยถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้ประมาณ 20 คน  

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกาศโดยไม่ชอบ

พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลย คือ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ประกอบหนังสือแสดงความคิดเห็นในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และเสรีภาพในการชุมนุม ที่ยื่นต่อศาลในวันเบิกความ

โดยในหนังสือแสดงความคิดเห็น ได้ชี้แจงถึงการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และการชุมนุมที่จำเลยเข้าร่วมอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเป็นไปโดยชอบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

พยานได้แสดงเหตุผลที่สำคัญถึงปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 (ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) อันเป็นข้อหาหลักที่อัยการฟ้องจำเลยไว้สรุปได้ว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 และ 15 ตุลาคม 2563 ตามที่พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ได้ให้อำนาจไว้นั้น ไม่เข้าเงื่อนไข (มาตรา 4) ที่วางหลักไว้ 2 ประการ

ประการแรก ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีสถานการณ์ที่จําเป็นและฉุกเฉินอย่างยิ่งเกิดขึ้นแล้ว (หลักความมีอยู่จริง) กล่าวคือ ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง โดยอ้างว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดําเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทําที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดําเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิ์ผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น

พยานเห็นว่า เหตุทั้งหลายที่อ้างเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ กล่าวคือ

            1) การออกมาชุมนุมของประชาชนในวันที่ 14 และ 15 ตุลาคม 2563 นั้น เป็นไปโดยสันติวิธีมิได้เป็นการปั่นป่วนวุ่นวายหรือมีเหตุการณ์จราจล เจ้าหน้าที่บ้านเมืองยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติได้ และทุกครั้งที่มีการชุมนุม ผู้ชุมนุมใช้ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ในการแสดงออกของตนเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ ให้ผู้มีอํานาจรัฐทราบและรับข้อเรียกร้องไปปฏิบัติ และยุติการชุมนุมไป

            2) ข้ออ้างว่ามีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน นั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดแล้วจบลงโดยทันที ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมีมาตรการพิเศษที่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในการจัดการ และ

            3) ข้ออ้างเรื่องมาตรการควบคุมไวรัส Covid-19 ยิ่งเป็นข้ออ้างที่ไร้ความเป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากที่ผ่านมาก็ไม่มีหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดโรคไวรัส Covid-19 เป็นผลมาจากการชุมนุม โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเกือบทั้งหมดในประเทศเป็นผู้ที่อยู่ในสถานที่กักกันที่ราชการกําหนด (state quarantine) ไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ       

ประการที่สอง การขจัดหรือแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้น ไม่จําเป็นต้องอาศัยมาตรการเร่งด่วนเพื่อขจัดภัยอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง กล่าวคือ จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 และ 15 ตุลาคม 2563 ไม่ปรากฏเหตุผลข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายปกติไม่อาจกําหนดมาตรการที่จําเป็นเหมาะสมสําหรับการแก้ไขปัญหา พิจารณาการสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ก็จะพบว่ารัฐบาลมีความสามารถทั้งกำลังพลและเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่เพียงพอที่จะสามารถสลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพิ่มเติมแต่อย่างใด

และข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า ผู้ชุมนุมก็ไม่มีแนวโน้มที่จะบุกรุกเข้าไปในรั้วทำเนียบรัฐบาล  แค่จำนวนตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองที่อยู่ในบริเวณนั้นก็มีจำนวนมากพอที่จะผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม แกนนำก็ได้มีการประกาศยุติการชุมนุมและตำรวจสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ชุมนุมได้สำเร็จภายในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นเป็นการออกประกาศที่ขัดต่อเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

เมื่อการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ รัฐบาลก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายระดับปรกติกำหนดไว้อยู่แล้ว โดยรัฐบาลมิได้กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ว่าความฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนั้นเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามเงื่อนไขที่กฎหมายได้กําหนดอย่างไร ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่อาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อใช้กับสถานการณ์ที่ยังอยู่ในวิสัยที่รัฐใช้กฎหมายระดับปกติแก้ไขได้ การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจึงเป็นการพรากสิทธิและเสรีภาพที่พลเมืองพึงมีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการทําลายหลักการกระทําของรัฐต้องชอบด้วยกฎหมาย (ultra vires) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยไม่เข้าเงื่อนไขตามที่พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 11 กำหนดเงื่อนไขไว้ พยานผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการชุมนุมโดยสงบของจำเลยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 จึงไม่เป็นความผิด

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ก่อนที่พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยจะได้เบิกความต่อศาลนั้น ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกพยานปากนี้ โดยให้เหตุผลว่าพยานไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในคดี การสืบพยานเป็นกระบวนพิจารณาในการนำข้อเท็จจริงเข้าสู่สำนวนคดี ไม่อาจสืบพยานหลักฐานในข้อกฎหมายได้ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณานัดประชุมคดีว่าพยานปากดังกล่าวเป็นพยานที่จะเบิกความในปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความในคดีจะต้องนำสืบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87 (1)  ประกอบ พรบ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ยกคำร้อง

ต่อมาทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอออกหมายเรียกพยานปากนี้ต่อศาลอีกครั้ง ในวันที่ 27 ตุลาคม 2564 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยต่อสู้ว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และข้อกำหนดอื่นที่ตามมาเป็นข้อหาหลักที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้และคดีอื่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย ซึ่งจำเป็นที่พยานปากนี้จะต้องเบิกความเกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริงอันนำไปสู่ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศและข้อกำหนดตามฟ้อง ต่อมาศาลจึงอนุญาตและออกหมายเรียกพยานผู้เชี่ยวชาญในปากนี้มาเบิกความประกอบเอกสารในวันที่ 28 ตุลาคม 2564  

สำหรับการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมของประชาชนในนาม “คณะราษฎร”  ซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลา 16.00 น. ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ” ฉบับจำลองให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ซึ่งในวันดังกล่าว ตลอดเส้นทางที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนได้มีการวางเครื่องกีดขวาง วางแนวกั้นแบรีเออร์ รั้วลวดหนามและรถเมล์ รวมถึงแนวตำรวจ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินทางไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ จึงรออยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ต่อมาพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้เป็นผู้ออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือจากลุ่มผู้ชุมนุม และมีการยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 21.30 น.   

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ประชาชน 12 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

อัยการสั่งฟ้อง “ลูกเกด-ชลธิชา” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง 2 คดี กรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ18ตุลา และ #ม็อบ21ตุลา

อัยการสั่งฟ้อง 10 คดีการเมืองภายในครึ่งเดือนสิงหา ขณะตร.ทยอยแจ้งข้อหา คดีชุมนุม-คาร์ม็อบ ต่อเนื่อง

.

X