วันนี้ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาและนักกิจกรรม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ที่ทำเนียบรัฐบาล
.
ศาลชี้ภัสราวลีไม่ได้กระทำความรุนแรง และการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ตาม รธน.
เวลา 10.30 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง โดยสรุประบุว่า ตามข้อกล่าวหาของโจทก์ ที่ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ร่วมก่อความรุนแรง คือ มีการฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น ในทางนำสืบพบว่า จำเลยอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัย และบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือได้กระทำความรุนแรงใด กรณีมีการฝ่าแนวกั้นตำรวจนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานปรากฏว่าจำเลยได้อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ หรือมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ฝ่าแนวกั้นดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยจึงยังไม่ได้กระทำความรุนแรงตามโจทก์ฟ้อง
ประกอบกับการออกคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นั้น จำต้องประกาศใช้ในสถานการณ์ที่มีความฉุกเฉินและมีความร้ายแรงอย่างยิ่ง รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ร้ายแรงนั้น จำต้องใช้บังคับกับการชุมนุมที่ไม่ชอบโดยกฎหมายเท่านั้น
แต่ศาลเห็นว่าการชุมนุม เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจึงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคุ้มครอง
ดังนี้ การที่จำเลยไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดที่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
.
ชี้การชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย กว่าหมื่นคนให้ประยุทธ์ลาออก เป็นการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่การมั่วสุม
ส่วนในประเด็นของการชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกินกว่า 5 คน ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 ศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “มั่วสุม” หมายถึง การชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี
ส่วนการที่มีบุคคลมารวมตัวกันกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น เป็นการเรียกร้องโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ “การมั่วสุม” ประกอบกับอัยการโจทก์นำสืบไม่ได้ว่ามี “การมั่วสุม” อย่างไร
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ศาลแขวงดุสิตจึงมีพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง
ทั้งนี้ คำพิพากษาฉบับจริงอยู่ในระหว่างการขอคัดถ่ายจากศาลต่อไป คดีนี้นับเป็นแรกที่มีการต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร จึงต้องจับตาการเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของบุคคลอื่นต่อไป แม้เหตุการชุมนุมนี้ไม่ควรถูกตำรวจและอัยการสั่งฟ้องตั้งแต่แรก รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ยังเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม
ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 63 เวลา 04.00 น. จนถึงวันที่ 22 ต.ค. 63 เวลา 12.00 น.
สำหรับการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมของประชาชนซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลาประมาณ 16.00 น. ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ” ฉบับจำลองให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ของผู้ชุมนุม
ในวันดังกล่าว ตลอดเส้นทางที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนได้มีการวางเครื่องกีดขวาง วางแนวกั้นแบริเออร์ รั้วลวดหนามและรถเมล์ รวมถึงแนวตำรวจ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินทางไปถึงทำเนียบรัฐบาลได้ จึงรออยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ต่อมา พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้เป็นผู้ออกมาเป็นตัวแทนรับหนังสือจากลุ่มผู้ชุมนุม และมีการยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 21.30 น.
ต่อมามีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจากการชุมนุมครั้งนี้ จำนวน 14 คน อาทิ ชลธิชา แจ้งเร็ว, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ปิยรัฐ จงเทพ, ชาติชาย แกดำ และไพศาล จันปาน ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยและแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล ไม่ได้พิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน
ในส่วนของ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ และ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” คดีถึงที่สุดแล้ว และศาลพิพากษาลงโทษปรับ 5,000 บาท ให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือปรับ 2,500 บาท ไปก่อนหน้านี้
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประชาชน 12 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย
อัยการสั่งฟ้อง 10 คดีการเมืองภายในครึ่งเดือนสิงหา ขณะตร.ทยอยแจ้งข้อหา คดีชุมนุม-คาร์ม็อบ ต่อเนื่อง