ในพื้นที่ภาคกลาง ช่วงวันที่ 16 จนถึง 31 สิงหาคม 2564 หรือในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีถึง 10 คดี โดยเป็นคดีจากการชุมนุมเมื่อปี 2563 จำนวน 7 คดี ขณะที่มีคดีที่อัยการยื่นฟ้องในผัดฝากขังอีก 3 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 หรือ #ม็อบ18กรกฎา, คดีกรณีณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) ราดน้ำมันหน้าทำเนียบ ประท้วงพ่อไม่มีเตียงหลังติดโควิด-19 และคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีทีมงานรถโมบายปราศรัยของราษฎรในกิจกรรมคาร์ม็อบถูกจับกุมหลังการชุมนุม #ม็อบ1สิงหา
ขณะเดียวกัน พนักงานสอบสวนยังคงออกหมายเรียกประชาชนไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นคดีใหม่รวม 9 คดี ในจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมคาร์ม็อบถึง 4 คดี
.
ยื่นฟ้อง 9 คดีชุมนุมปีที่แล้ว รวมคดี ม.112 ของเพนกวิน ที่ชุมนุมอยุธยา
๐ 16 สิงหาคม 2564 พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งฟ้องคดีชุมนุมปี 2563 จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ของ “หนุ่ย” อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, คดีชุมนุม #ม็อบ16สิงหา และ #ม็อบ22สิงหา ของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว
ขณะที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการยังได้ยื่นฟ้อง ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ในคดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อ 18 ก.ค. 63 เพิ่มเติม หลังณัฐวุฒิไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 64 เพราะอยู่ระหว่างการกักตัวหลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ สำหรับคดีที่ชลธิชาถูกยื่นฟ้องนั้น เป็นกรณีจากการที่ตนเป็นผู้แจ้งการชุมนุมทั้งสองคดี
1. คดีชุมนุม #ขีดเส้นใต้ไล่เผด็จการ “ประชาชนปลดแอก”
คดีนี้มาจากกรณีเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มประชาชนปลดแอกนัดหมายการชุมนุมเพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ทั้งนี้ มีเพียงชลธิชาที่เป็นนักกิจกรรมรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี
พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง ได้ยื่นฟ้องชลธิชาในฐานความผิด เป็นผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ, ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องบรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า ชลธิชาเป็นผู้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ขีดเส้นใต้ไล่เผด็จการ” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนหน้าการชุมนุม ชลธิชาได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในท้องที่มีการจัดการชุมนุม ด้าน สน.ชนะสงคราม ได้รับแจ้งชุมนุม โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้จัดการชุมนุมควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดตามผังการแจ้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจร แต่ปรากฎว่าผู้รับผิดชอบการชุมนุมได้นำแผงเหล็กมาวางกั้น ตั้งเวที และติดตั้งเครื่องขยายเสียง บริเวณหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางจราจรและทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัย อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม อีกทั้งผู้จัดยังไม่ได้จัดมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังศาลรับฟ้อง ด้านทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมระบุเหตุผลว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ต่อมา ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมกำหนดนัดพร้อมในวันที่ 8 พ.ย. 64
ทั้งนี้ ย้อนไปหลังการชุมนุมครั้งนั้นมีรายงานว่า กิจกรรมเวทีวันที่ 16 ส.ค. 63 มีการแจ้งการชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกำหนดการชุมนุมตามกฎหมายให้ทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เบื้องต้นในภาพรวมทางผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่จะมีบางข้อตรงตามเจ้าหน้าที่บังคับให้ปฏิบัติตาม และมีการละเมิดกรณี พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา ซึ่งตำรวจมองว่าเป็นความผิดเล็กน้อย และไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 116 ทำให้ตำรวจพิจารณาดำเนินคดีผู้แจ้งการชุมนุมเพียงคนเดียว คือ ลูกเกด เพราะตามกฎหมายผู้แจ้งการชุมนุม คือผู้จัด และผู้จัดจะต้องมีหน้าที่ให้ความร่วมมือตำรวจในการรักษาความสงบ การตั้งจุดคัดกรองตรวจอาวุธก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และไม่ละเมิดกฎหมาย
.
2. คดีชุมนุม #ม็อบ22สิงหา “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย”
คดีนี้สืบเนื่องมาจากกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63 บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เป็นกิจกรรมรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายในเหตุการณ์ทางการเมือง จัดขึ้นโดยกลุ่มศิลปินปลดแอก ในกิจกรรมนี้มีการเปิดเผยรายชื่อนักกิจกรรมทางการเมือง กว่า 100 คน ที่ต้องลี้ภัยทางเมือง รวมถึงถูกบังคับให้สูญหาย หลังจากปี 2557 จนถึงคนล่าสุด คือ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่หายตัวไปในระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย. 63
พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อชลธิชาในฐานความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องคดีนี้บรรยายโดยสรุปว่า เมือวันที่ 22 ส.ค. 63 ชลธิชา ซึ่งเป็นผู้แจ้งการชุมนุม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มศิลปินกวีปลดแอก “กวี ดนตรี ปลดแอก แหวกหา คนหาย ร่วมรำลึกเหตุการณ์ทางการเมือง” ระหว่างการจัดกิจกรรม มีผู้ชุมนุมผลัดกันปราศรัยโจมตีรัฐบาล และสลับเล่นดนตรี มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมและฟังปราศรัยจำนวนมาก ราว 150 คน โดยทั้งหมดยืนแออัดกัน อันเป็นการทำกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยผู้แจ้งการชุมนุมไม่จัดมาตรการ เช่น จุดคัดกรอง เจลแอลกอฮอล์ ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขเข้าไปดูแล ไม่มีเข้าระบบแอปพลิเคชันไทยชนะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค
หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมระบุเหตุผลว่าการชุมนุมดังกล่าวนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ต่อมา ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมกำหนดนัดพร้อมในวันที่ 8 พ.ย. 64 เช่นเดียวกับคดีชุมนุมประชาชนปลดแอกที่ยื่นฟ้องในวันเดียวกัน
.
3. คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย
คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย สืบเนื่องมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 14 ราย ซึ่งได้ทยอยถูกสั่งฟ้องคดีไปก่อนแล้ว และ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องแค่อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ในฐานความผิดฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 1 ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
กรณีนี้พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 อภิสิทธิ์กับประชาชนรวมประมาณ 10,000 คน ได้รวมตัวชุมนุมมั่วสุมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังศาลแขวงดุสิตรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน ต่อมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน พร้อมกำหนดนัดพร้อมในวันที่ 8 พ.ย. 64 เช่นเดียวกับคดีของชลธิชาอีก 2 คดี
.
4. คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 63
ในวันเดียวกัน ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ กรณีเข้าร่วมการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ในข้อหลัก ได้แก่ ยุยงปลุกปั่น และเป็นแกนนำมั่วสุมก่อความวุ่นวายฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 116 และ 215 วรรคสาม รวมทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ไปแล้ว 11 ราย เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 64 แต่ณัฐวุฒิไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากต้องกักตัวเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
หลังศาลอ่านฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 45,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญารัชดาฯ
.
๐ ฟ้องคดีผู้ใช้ “โดรน” บินถ่ายรูปการชุมนุมประชาชนปลดแอก
17 สิงหาคม 2564 ที่ศาลอาญารัชดาฯ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสำนักอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 มีคำสั่งฟ้องคดีนายเอกอนันต์ ด่านเพชรดำรง กล่าวหาใช้โดรนระหว่างการชุมนุมประชาชนปลดแอก วันที่ 16 ส.ค. 63 ในฐานความผิดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 22
ก่อนหน้านี้ นายเอกอนันต์ได้ถูกจับกุมขณะใช้โดรนระหว่างการชุมนุมประชาชนปลดแอก และถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนทำการบินในพื้นที่หวงห้ามเฉพาะตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 24 พร้อมสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย ก่อนที่พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตได้พิจารณาสำนวนการสอบสวนและตีกลับให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ มาตรา 22 เพิ่มเติม ทำให้คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลอาญา เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีโทษจำคุกเกิน 3 ปี
พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 63 นายเอกอนันต์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมให้บังคับหรือปล่อยโดรน ได้ปล่อยโดรน ซึ่งมีกล้องบันทึกภาพและวิดีโอ ในพื้นที่ที่หวงห้ามเฉพาะ อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด พื้นที่หวงห้ามเฉพาะ และพื้นที่อันตราย โดยนายเอกอนันต์ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระบุว่า นายเอกอนันต์ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ได้มีอิทธิพลสามารถยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ไม่มีเหตุเข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พร้อมวางเงินสดจำนวน 25,000 บาท จากกองทุนราษฏรประสงค์ เป็นหลักประกัน
ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว พร้อมกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 8 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น. และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 27 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น.
.
๐ ฟ้องคดี 19 สมาชิกวีโว่รื้อลวดหนามแยกอุรุพงษ์
30 สิงหาคม 2564 ที่ศาลอาญารัชดาฯ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง สมาชิกกลุ่มวีโว่ (We Volunteer) จำนวน 19 ราย จากกรณีเข้ารื้อลวดหนามหีบเพลงที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถสัญจรได้สะดวก ก่อนหน้านี้ทั้ง 19 ถูกจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, มาตรา 216 เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และมาตรา 138 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระบุ พฤติการณ์ที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา ทั้งจำเลยทั้งหมดยังไม่มีพฤติการณ์ที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว สำหรับหลักประกันในคดีนี้ คือตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ในวงเงินคนละ 25,000 บาท
ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้งหมด พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 11 ตุลาคม 2564 เวลา 09:00 น.
.
๐ อัยการยื่นฟ้องคดีม. 112 “เพนกวิน” เหตุปราศรัยในการชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตได้แจ้งกับทนายความที่เข้าเยี่ยมผ่านวิดีโอคอลว่า ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับพริษฐ์ แต่พริษฐ์ยืนยันว่า ต้องมีทนายเข้าร่วมฟังด้วย จึงยังไม่ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ต่อมา ทราบว่าเป็นกรณีพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องพริษฐ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และภาณุพงษ์ จาดนอก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 โดยศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กำหนดนัดสอบคำให้การวันที่ 28 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น.
.
อัยการเร่งฟ้อง 3 คดีชุมนุมเดือนกรกฎา-สิงหา ในผัดฝากขัง
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 คดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดผัดฟ้องฝากขัง และระยะเวลาฝากขัง ได้แก่ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค. 64, กรณีของณัฐวุฒิ ที่ถูกกล่าวหาตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์จากการราดน้ำมันหน้าทำเนียบ เพื่อประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังพ่อติดไวรัสโควิด-19 แต่ไม่สามารถหาเตียงได้ และคดีชุมนุม #ม็อบ1สิงหา
๐ 17 สิงหาคม 2564 ที่ศาลแขวงดุสิต พนักงานอัยการสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้ยื่นฟ้อง ประชาชน 7 ราย ในคดีชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค. 64 ในฐานความผิดร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, ร่วมกันวาง ตั้ง ยืน หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาด มาตรา 39
พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 จำเลยและพวกรวม 7 คนได้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมมั่วสุม เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองวิจารณ์โจมตีรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมราว 1,000 คน ได้ยืนกันหนาแน่น อันเป็นการชุมนุมในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทั้งยังไม่มีมาตรการจำกัดทางเข้าออกในการร่วมกิจกรรมการชุมนุม ไม่มีการจัดให้เว้นระยะห่างทางสังคม
นอกจากนี้ จำเลยและพวกยังได้นำรถยนต์กระบะมาจอดบนถนน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในลักษณะกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ ทำให้เกิดปัญหาจราจรและรถติดขัดอย่างหนัก
ต่อมา 18 ส.ค. 64 ประชาชนทั้ง 7 รายได้มารายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน และทราบว่าถูกสั่งฟ้องคดีทันที หลังทั้งหมดรับทราบคำฟ้อง ทั้ง 7 ได้ขอยื่นประกันตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยต่อสัญญาประกันเดิม คือหลักทรัพย์จำนวนคนละ 20,000 บาท รวมทั้งหมด 180,000 บาท ด้านศาลกำหนดนัดพร้อมวันที่ 1 พฤศจิกายน 64 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต
.
๐ 27 สิงหาคม 2564 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดยังได้ยื่นฟ้อง “ณัฐวุฒิ” (สงวนนามสกุล) กรณีราดน้ำมันหน้าทำเนียบ เพื่อประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังพ่อติดโควิด-19 แต่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลเข้ารักษาได้ โดยศาลได้กำหนดนัดสอบคำให้การในวันที่ 11 ต.ค. 64
ก่อนหน้านี้ ณัฐวุฒิถูกจับกุมในวันที่ 10 ก.ค. 64 และถูกพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต แจ้งข้อกล่าวหา “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน และตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 ตามลำดับ โดยขณะแจ้งข้อกล่าวหานั้นไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนด้วย ต่อมา พนักงานสอบสวนได้นำตัวณัฐวุฒิไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง และได้รับการประกันตัวในวงเงิน 37,000 บาท ในเวลาต่อมา
ศาลให้ประกัน! “ณัฐวุฒิ” ชายราดน้ำมันเตรียมเผาทำเนียบ ประท้วงนายกฯ เหตุพ่อติดโควิดแต่หาเตียงไม่ได้
๐ 31 สิงหาคม 2564 พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตได้ยื่นฟ้อง 3 ทีมงานขับรถโมบายปราศรัยของราษฎรในกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64 ก่อนที่ในวันที่ 1 ก.ย. 64 ทั้งสามจะต้องเดินทางไปรายงานตัวต่อศาล ขณะที่ศาลแขวงดุสิตยังได้กำหนดสอบคำให้การในวันที่ 1 ก.ย. ด้วยเช่นกัน
ทั้งสามนั้นถูกจับกุมเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 ส.ค. 64 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนที่ศาลแขวงดุสิตจะให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักประกัน
.
ตร.เรียกปชช.มาแจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เหตุชุมนุม-คาร์ม็อบต่อเนื่อง 9 คดี
นอกจากนี้ ช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม ในพื้นที่กรุงเทพฯ พนักงานสอบสวนยังออกหมายเรียกให้ประชาชนเดินทางไปรับทราบข้อหาจากการเข้าร่วมการชุมนุมในหลายคดี รวมไปถึงชุมนุมคาร์ม็อบ โดยที่ผ่านมามีการแจ้งข้อหาในคดีใหม่ๆ ไปแล้วจำนวน 9 คดี (นับเฉพาะคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย) ดังนี้
๐ แจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ผู้ร่วมหล่อเทียนพรรษา ไล่เสนียดจัญไร ที่สวนลุมพินี
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64 ที่ สน.ลุมพินี นักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ โชคดี ร่มพฤกษ์, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และธนายุทธ ณ อยุธยา ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการร่วมกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 โดยคดีนี้มีรายงานผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 10 ราย แต่นักกิจกรรมสามรายได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาเป็นชุดแรก
ทั้งสามคนได้ถูก พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 3 ก.ย. 64
สำหรับกิจกรรมรวมพลแห่เทียนดังกล่าว กลุ่มทะลุฟ้าจัดขึ้นในช่วงก่อนและระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา ในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทำให้จนถึงปัจจุบัน ตำรวจในสถานีตำรวจต่างๆ มีการดำเนินคดีแล้ว 4 คดี ได้แก่ คดีที่สน.ลุมพินี 2 คดี, คดีที่ สน.พญาไท และ สน.พหลโยธิน ที่จะ 1 คดี
.
๐ สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ทยอยเข้ารับทราบข้อหา เหตุจัด Rainbow Carmob 1 สิงหา
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64 ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ สองนักกิจกรรมกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้แก่ “แรปเตอร์” สิรภพ อัตโตหิ และ “วาดดาว” ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก กรณีกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกจัดกิจกรรม Rainbow Carmob #แหกกีไปไล่คนจัญไร เพื่อร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64
ทั้งสองคนได้ถูก พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ โดยทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ขณะเดียวกัน ต่อมาตำรวจยังมีการทยอยออกหมายเรียกสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกเพิ่มเติมอีก 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 3 ราย จนวันที่ 30 ส.ค. 64 ศิริ นิลพฤกษ์ พร้อมเยาวชน 2 ราย อายุ 15 และ 16 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเดียวกันนี้แล้ว
.
๐ แจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เหตุคาร์ม็อบ “สมบัติทัวร์” วันที่ 3 ก.ค. 64
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 64 ที่ สน.ชนะสงคราม ประชาชนและนักกิจกรรมรวม 9 คนได้เดินทางรับทราบข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ “สมบัติทัวร์” ที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 64 สำหรับนักกิจกรรมที่เดินทางมารับทราบข้อหาตามหมายเรียกในครั้งนี้ ได้แก่ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, รำพึง เมืองหริ่ง, มณฑา แสงเปล่ง, เชน ชีวอบัญชา, รัชนก มหาวรรณ, ธนาช่วย วุฒิ, ภัทรพล ธนเดชพรเลิศ
หลังพ.ต.ท.ประเสริฐ จันทร์แดง รองผู้กับกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 14 ก.ย. 64 ด้านพนักงานสอบสวนได้นัดส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในวันที่ 17 ก.ย. 64
.
๐ แจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ม่อน อาชีวะ เหตุร่วมคาร์ม็อบคนพันธ์ุ R
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 64 ที่สน.มีนบุรี “ม่อน อาชีวะ” ธนเดช ศรีสงคราม กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ “รวมพลังคนพันธุ์ R CAR MOB อาชีวะขับไล่เผด็จการ” โดยกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 64
พ.ต.ท.ธนาเดช หนูเอียด รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.มีนบุรี ได้แจ้งข้อกล่าวหาธนเดช เรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และขับรถเป็นขบวนแห่ หรือเดินรถเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร
ธนเดชได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 13 ก.ย. 64 ขณะพนักงานสอบสวนได้นัดส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในวันที่ 13 ก.ย. เช่นเดียวกัน
.
๐ แจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” คดี #ม็อบแฮร์รี่v2
นอกจากอานนท์ นำภา ที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยังออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อนักกิจกรรมและประชาชนอีก 20 ราย ในข้อหาหลักคือฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 64 โชคดี ร่มพฤกษ์, พริม มณีโชติ และสุวิมล นัมคณิสรณ์ กลุ่ม Nurses Connect ได้เดินทางไปรับทราบข้อหาที่ สน.ปทุมวัน ก่อนที่ในวันที่ 29 ส.ค. 64 นักกิจกรรมอีก 2 รายจะเดินทางเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในคดีเดียวกัน โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวหลังจากเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน
.
๐ แจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ม่อน อาชีวะอีก! เหตุร่วมคาร์ม็อบ 15 ส.ค.
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 64 พนักงานสอบสวน สน.บางชัน ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก่ “ม่อน อาชีวะ” หรือ ธนเดช ศรีสงคราม หลังธนเดชเดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียก จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ “รวมพลังคนพันธุ์ R อาชีวะขับไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 64 โดยเริ่มขบวนจากหน้าห้างแฟชั่นไอซ์แลนด์มุ่งหน้าไปยังลาดพร้าว
ธนเดชได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 16 ก.ย. 64
ทั้งนี้ นักกิจกรรมยังได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ24มิถุนา ที่สน.สำราญราษฎร์ เพิ่มเติมอีกด้วย เช่น “ปูน” ธนพัฒน์, “ตี้ พะเยา”วรรณวลี ธรรมสัตยา
.
๐ ตร.สน.นางเลิ้งแจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ไบรท์ ชินวัตร เหตุร่วม 3 การชุมนุม #ม็อบ26มิถุนา #ม็อบ2กรกฎา และ #ม็อบ11กรกฎา
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 64 “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี เดินทางมาที่ สน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อหาหลัก ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุม “ไทยไม่ทน” เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกเพราะการบริหารที่ผิดพลาด เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 64 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยชินวัตรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมา ในวันที่ 31 ส.ค. 64 ที่สน.นางเลิ้ง พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ยังได้แจ้งข้อหาชินวัตร จากการชุมนุมอีก 2 ครั้ง ได้แก่ การชุมนุม #ม็อบ2กรกฎา “เปิดท้ายวันศุกร์เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 64 และการชุมนุม #ม็อบ11กรกฎา เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64
สำหรับทั้ง 2 คดี พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งได้แจ้ง 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะกีดขวางการจราจร ตามพ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114, ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนพื้นถนน ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 19 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง มาตรา 4
ด้านชินวัตรได้ให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป ทั้งนี้ ทั้ง 3 คดีเป็นคดีเดียวกันกับที่ธนเดชเคยถูกจับกุมและแจ้งข้อหาไปเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 64
.