วันนี้ (12 ก.ค. 64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) อดีตทหารเกณฑ์ วัย 28 ปี ในวงเงิน 37,000 บาท จากกรณีเทน้ำมันราดประตูทำเนียบรัฐบาล ประท้วงนายกรัฐมนตรี เหตุพ่อติดโควิดหาเตียงไม่ได้ หลังจากถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา รัชดาฯ ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 และแจ้งข้อหา “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน และตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 ตามลำดับ
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 เวลาประมาณ 03.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ได้รับรายงานเหตุ มีบุคคลต้องสงสัยมาจอดรถจักรยานยนต์บริเวณประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล และเมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ ได้พบบุคคลขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบถังสแตนเลสขนาดเล็กวางอยู่ ซึ่งผู้ต้องสงสัยได้เทราดของเหลวหรือน้ำมันไว้บริเวณพื้นหน้าประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งน่าเชื่อได้ว่ามีการตระเตรียมเพื่อกระทำความผิดกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำความผิด และขออนุมัติศาลอาญารัชดาเพื่อออกหมายจับ (อ้างอิง: สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด – The Standard)
สำหรับบันทึกการจับกุมระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64 เวลา 20.25 น. เจ้าพนักงานตํารวจประจํา สน.ดุสิต ภายใต้การอํานวยการของ ว่าที่ พ.ต.อ.จตุพร พลภักดี ผู้กำกับ สน.ดุสิต โดยมีชุดจับกุมนำโดย ร.ต.อ.พนม ศรีสุวรรณ และ ร.ต.ท.ชนะ แม้นเจริญ รองสารวัตรสืบสวน สน. ดุสิต นำกำลังตำรวจ รวม 7 นาย ร่วมกันจับกุมตัว ณัฐวุฒิ ที่บ้านพัก หลังได้รับแจ้งจากสายลับว่า พบชายมีลักษณะคล้ายกับบุคคลในภาพตามหมายจับ
เมื่อพนักงานสืบสวนไปถึงสถานที่ดังกล่าว พบชายลักษณะคล้ายกับบุคคลในภาพตามหมายจับ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ หลังสอบถามณัฐวุฒิ พบว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลาญา รัขดาฯ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวณัฐวุฒิมาที่สน.ดุสิตในคืนเดียวกันเพื่อส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน
ในชั้นจับกุม ผู้ถูกจับกุมให้การรับสารภาพว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับหมายจับดังกล่าว ได้กระทําความผิดตามข้อกล่าวหาในหมายจับ และไม่เคยถูกจับกุมในคดีเดียวกันมาก่อน ทั้งนี้ ขณะถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีทนายความเข้าร่วมการสอบสวนกับณัฐวุฒิแต่อย่างใด
ต่อมา พนักงานสอบสวนจึงควบคุมตัวณัฐวุฒิไว้ที่ สน.ดุสิต ตั้งแต่คืนวันที่ 10 ก.ค. 64 โดยระบุว่าจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 64 ทำให้ณัฐวุฒิถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.ดุสิต เป็นเวลา 2 คืน
สำหรับข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งแก่ณัฐวุฒินั้น ได้แก่ ข้อหาตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ความสะอาดฯ “เทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครกหรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน” มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 “ตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์” โดยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 140,000 บาท
.
ศาลอาญาให้ประกันตัวในวงเงิน 37,000 บาท
หลังศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ทนายความได้ยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจํานวน 37,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกับเหตุผลประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยสรุปดังนี้
- ผู้ต้องหาประสงค์จะนําพยานหลักฐาน เพื่อนําเสนอต่อศาลประกอบการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และเชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหา
- ผู้ต้องหาเป็นผู้มีภูมิลําเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ขณะเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน
- ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ก่อนถูกดําเนินคดีนี้ผู้ต้องหา ประกอบสัมมาอาชีพรับจ้าง ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาลได้อย่างแน่นอน อีกทั้ง ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติ และไมเคยต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ
- โดยการขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ ได้วางเงินสดเป็นหลักประกันจํานวน 37,000 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักประกันที่มีความน่าเชื่อถือว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนีอย่างแน่นอนหากได้รับการพิจารณาปล่อยชั่วคราว
- หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะทําให้ผู้ต้องหาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องประกอบอาชีพ หาเงินเพื่อเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว
ท้ายคำร้องยังได้หยิบยกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ต่อมาเวลา 15.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในวงเงินประกัน 37,000 บาท โดยศาลกำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 ส.ค. 64 เวลา 08.30 น.
อนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน (12 ก.ค. 64) มีผู้ติดเชื้อสะสมอย่างน้อยถึง 345,027 ราย เสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 2,697 ราย ทั้งยังมีรายงานว่า เตียงผู้ป่วยนั้นไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับข่าวพบผู้เสียชีวิตที่บ้านระหว่างรอเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 โดยข้อ 11 ได้ระบุถึง ข้อห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความหวาดกลัว ไว้ว่า ห้ามมิให้ “มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
.