อัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหา “ไบร์ท” ชินวัตร เหตุขึ้นปราศัย-จัดชุมนุม #ม็อบ6ธันวา  

วันนี้ (22 เมษายน 2564) เวลาประมาณ 09.00 น. ที่ศาลแขวงธนบุรี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 7 มีคำสั่งฟ้องคดีของนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ “ไบรท์” อายุ 28 ปี นักกิจกรรมจากจังหวัดนนทบุรี ใน 6 ข้อกล่าวหา โดยมีข้อหาหลักเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สืบเนื่องจากการขึ้นปราศัยและร่วมชุมนุมใน #ม็อบ6ธันวา ของกลุ่มราษฎรฝั่งธนฯ และกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 

หลังฟังคำสั่งฟ้อง ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้สาบานตนว่าจะมาตามนัดหมายครั้งต่อๆ ไป พร้อมกับกำหนดวันนัดสอบคำให้การในคดีวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 9.00 น.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ชินวัตรได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สภ.บุปผาราม โดยมี ร.ต.อ.วสันต์ดิลก คำโสภา รองสารวัตร (สอบสวน) สน.บุปผาราม ทำการสอบสวน ในชั้นสอบสวน ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และถูกปล่อยตัวไป โดยไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้แต่อย่างใด

ต่อมาหลังพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการศาลแขวงธนบุรี และได้ขาดผัดฟ้องภายในกำหนด 30 วัน ทำให้ต้องขออนุญาตฟ้องต่ออัยการสูงสุด ซึ่งรองอัยการสูงสุดได้มีหนังสืออนุญาตให้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ทางอัยการจึงได้นัดหมายสั่งฟ้องคดีของชินวัตรในวันนี้ 

สำหรับข้อกล่าวหาที่ชินวัตรถูกสั่งฟ้อง 6 ข้อหา ได้แก่

  1. พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า”
  2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “จัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค”
  3. ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 385 “ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ” 
  4. พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ “ร่วมกันกีดขวางการจราจร”
  5. พ.ร.บ.รักษาความสะอาด “ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน”
  6. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”

คำฟ้องในคดีนี้ น.ส.กัลยรักษ์ สิทธิชัยบุณเรือง พนักงานอัยการ กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จําเลยกับพวกที่หลบหนี ได้บังอาจกระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนี้

1. จัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยจําเลยขึ้นปราศรัยที่บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ต่อเนื่องกัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน มารวมตัวกัน จําเลยได้พูดชักชวนให้กลุ่มคนดังกล่าวเดินลงบนถนนลาดหญ้าเพื่อเดินมุ่งหน้าไปทางวงเวียนใหญ่ อันเป็นการเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ในวัน เวลา และในสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าด้วย วิธีการใดๆ 

นอกจากนี้ จําเลยได้ปราศรัยว่า “จริงๆ แล้วท่านเปิดให้เราเข้าไปวงเวียนอนุสาวรีย์ พระเจ้าตากสินมหาราช ทุกอย่างก็จบแล้ว อย่าคิดเยอะนะครับเจ้าหน้าที่ตํารวจ มันเป็นพื้นที่ สาธารณะ… เราไม่ต้องการให้จราจรติดขัด เราต้องการเข้าไปอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน” อันเป็นการขอให้ทางราชการคือเจ้าหน้าที่ตํารวจในพื้นที่ อํานวยความสะดวกในการชุมนุม ถือว่าจําเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม แต่จําเลยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะหรือบุคคลอื่น ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง 

2. จําเลยในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม ไม่จัดให้ผู้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

3. จําเลยได้ร่วมกันนํากลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปบนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินฝั่งขาเข้า ขาออก และถนนรอบวงเวียนใหญ่ อันเป็นการกีดขวางทางสาธารณะ ทําให้ผู้ใช้รถไม่สามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้ตามปกติ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร และเป็นการกระทําโดยไม่จําเป็น นอกจากนี้ ในการเดินบนถนนดังกล่าว จําเลยกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันวางหรือตั้งแผงเหล็กบนถนนในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร และโดยไม่ได้รับอนุญาต 

4. จําเลยกับพวกที่หลบหนีได้ร่วมกันใช้เครื่องขายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน 

สำหรับข้อกล่าวหาของชินวัตรมีอัตราโทษปรับเกือบทั้งหมด ยกเว้นข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท 

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า อัยการได้มีการฟ้องร้องทั้งในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมกับ ข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทับซ้อนไปพร้อมกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในคดีจากการชุมนุมทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 35 คดี โดยยังไม่มีแนวทางการวินิจฉัยประเด็นปัญหานี้จากองค์กรตุลาการ จึงต้องจับตาแนวทางการพิจารณาต่อไป

X