เมื่อวันที่ 25-26 พ.ย. 2564 ศาลแขวงธนบุรีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีของชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ “ไบรท์” อายุ 28 ปี นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี สืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยและร่วมชุมนุมใน #ม็อบ6ธันวา ของกลุ่มราษฎรฝั่งธนฯ และกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563
คดีนี้ชินวัตรถูกอัยการฟ้องใน 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร, ตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ย้อนอ่านคำฟ้องคดีนี้ >> อัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหา “ไบร์ท” ชินวัตร เหตุขึ้นปราศรัย-จัดชุมนุม #ม็อบ6ธันวา
การสืบพยานเสร็จสิ้นตามกำหนดภายในสองวัน ศาลแขวงธนบุรีได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธินุษยชนชวนทบทวนประเด็นการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานที่ถูกเบิกความระหว่างพิจารณาในชั้นศาล
ภาพรวมของการสืบพยาน: จำเลยสู้ว่าไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม การชุมนุมไม่ได้เสี่ยงโควิด
ณ ห้องพิจารณา 10 ชั้น 3 เวลา 10.00 น. ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณา ศาลได้กล่าวทบทวนแนวทางการต่อสู้คดีที่คู่ความระบุไว้ในนัดตรวจพยานหลักฐาน และได้เน้นย้ำว่านี่ไม่ใช่คดีการเมือง หรือเป็นคดีที่มีความร้ายแรงที่ต้องพิจารณาในศาลอาญาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ศาลสนับสนุนให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ และการใช้สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ดี หากมีข้อกฎหมายใดที่จำเลยต้องสู้ ก็ขอให้สู้ได้อย่างเต็มที่ ศาลจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดูตามตัวบทกฎหมาย และรูปการณ์แห่งคดี หากสืบแล้วไม่มีความผิด ศาลก็จะยกฟ้อง แต่หากมีการกระทำใดสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ก็ขอให้รับสารภาพ ศาลจะพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล
ทนายจำเลยกับจำเลยได้ขอออกไปนอกห้องพิจารณา ปรึกษากันครู่หนึ่ง ก่อนจะแถลงยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี
ด้านอัยการโจทก์แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.สมรวย อินต๊ะนัย ในฐานะผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.เสกสรรค์ ประเทสังข์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุม, ร.ต.อ.จักรพงศ์ วงศ์งามใส พนักงานสืบสวนผู้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวระหว่างการชุมนุม, ร.ต.อ.ไพฑูรย์ รัตนเวียง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบการจราจร และ ร.ต.อ.วสันต์ดิลก คำโสภา พนักงานสอบสวนในคดี
ส่วนฝ่ายจำเลย ได้นำพยานขึ้นเบิกความ 1 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง
ทั้งนี้ประเด็นในต่อสู้คดีนี้ ชินวัตรยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ได้มีหน้าที่ดูแลจัดการการชุมนุม การชุมนุมยังเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยังกำหนดว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจำเลยไม่ได้เป็นผู้นำให้ผู้ชุมนุมไปทำการปิดถนน ทั้งโดยข้อเท็จจริง รถยังสัญจรไปมาได้ โดยมีผู้ชุมนุมช่วยดูแลการจราจร
ปากคำ พ.ต.ท.สมรวย อินต๊ะนัย รอง ผกก. สน.บุปผาราม ผู้แจ้งความกล่าวหา
พยานปากแรกของฝ่ายโจทก์ คือ พ.ต.ท.สมรวย อินต๊ะนัย รองผู้กำกับ สน.บุปผาราม พยานเบิกความย้อนไปว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 พยานได้รับรายงานจากฝ่ายสืบสวนว่า กลุ่มฟันเฟืองธนบุรีและกลุ่มรวมพลคนอาชีวะ จะจัดการชุมนุมที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน จึงได้แจ้งให้ฝ่ายสืบสวนป้องกันปราบปรามและการจราจรให้หาข่าวเรื่องการชุมนุมดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 พยานได้เดินทางไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน พร้อมกับ พ.ต.ท.เสกสรรค์ ประเทสังข์ สารวัตรป้องกันและปราบปรามจาก สน.บุปผาราม เมื่อไปถึงแล้ว พยานพบเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมและจำเลยในที่เกิดเหตุ โดยชินวัตรกำลังยืนอยู่บนรถกระบะ กล่าวปราศรัยและชักชวนประชาชนที่ยืนบนฟุตบาทบริเวณห้างแพลทฟอร์ม ให้เข้าไปบวงสรวงดวงวิญญาณของพระเจ้าตากสิน
พยานเบิกความว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุดังกล่าว รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามการรวมตัวชุมนุม และให้มีมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 พยานจึงเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงผู้ชุมนุมไม่ได้มีการแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และยังไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง
ต่อมา หลังจากที่พยานได้ประกาศให้เลิกชุมนุม แต่จำเลยกับกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกแต่อย่างใด จนถึงกระทั่งเวลา 21.40 น. กลุ่มผู้ชุมนุมถึงได้แยกย้ายกลับบ้าน พยานจึงได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับรวบรวมหลักฐานและได้ให้การให้ไว้ในชั้นสอบสวน
ทนายจำเลยได้ถามค้านว่า หลังจากพยานได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่ม พยานรับว่าไม่ได้รู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัวมาก่อน และไม่ทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มฟันเฟืองธนบุรีหรือไม่ อีกทั้งยืนยันไม่ได้ว่าใครเป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว
ทนายจำเลยถามค้านว่า พื้นที่บนลานพระเจ้าตากสินที่รถเครื่องขยายเสียงขับขึ้นไป เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
ทนายจำเลยถามต่ออีกว่า ในที่ชุมนุมทุกคนสวมหน้ากากหรือไม่ และบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การชุมนุมไม่มีจุดคัดกรอง มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนไม่ได้ใส่หน้ากาก แต่ก็มีบางส่วนสวมหน้ากากด้วยเช่นกัน ส่วนพื้นที่บริเวณลานพระเจ้าตากสินเป็นที่เปิดโล่งกว้าง
ทนายถามค้านว่า หลังรถเครื่องขยายเสียงเคลื่อนตัวจากบริเวณหัวถนนลาดหญ้า ไปที่ลานพระเจ้าตากสินแล้ว พยานได้เห็นจำเลยปราศรัยอยู่ในที่ลานดังกล่าวหรือไม่ พยานตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะยังไม่เห็นจำเลยในขณะนั้น และมีผู้ชุมนุมหลายคน
พยานโจทก์ปากที่ 2 พ.ต.ท.เสกสรรค์ ประเทสังข์ พยานผู้รายงานเหตุการณ์การชุมนุม
พยานปากที่สองของฝ่ายโจทก์ คือ พ.ต.ท.เสกสรรค์ ประเทสังข์ สารวัตรป้องกันและปราบปรามคดีอาญา สน.บุปผาราม และเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมและเป็นผู้รายงานเหตุการณ์
พ.ต.ท.เสกสรรค์ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุในคดีนี้หลังได้รับรายงานจากฝ่ายสืบสวน และพบว่ามีการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียง พบจำเลยกำลังขึ้นกล่าวปราศรัยบนรถกระบะ ประกาศเชิญชวนให้พี่น้องเข้าไปสักการะขอพรอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินเพื่อขับไล่เผด็จการ โดยในระหว่างการเคลื่อนขบวน กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณหัวถนนลานหญ้า พยานเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจึงประกาศให้เลิกชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงดำเนินการชุมนุมต่อไป จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น.
ทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะพยานไปที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 16.00 น. ได้มีผู้ปราศรัยก่อนหน้าจำเลย และชี้แจงเรื่องจุดประสงค์ของการชุมนุมเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า มีผู้ปราศรัยก่อนหน้าจำเลยและแจ้งจุดประสงค์เรื่องการชุมนุม รวมถึงเห็นจำเลยขึ้นปราศรัยพูดเชิญชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปบวงสรวงอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
ทนายถามค้านว่า ตรงบริเวณหัวถนนลาดหญ้า มีการกั้นแผงเหล็ก 2 รอบ รอบแรกคือตอนกลุ่มผู้ชุมนุมและรถปราศรัยเคลื่อนตัวข้ามถนนไปบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ส่วนรอบที่สอง พนักงานของกรุงเทพมหานครไม่อนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่ชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงย้านจากลานมาตรงถนน และกั้นแผงเหล็กถาวรใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
ทนายถามค้านว่า พอรถกระบะปราศรัยขึ้นไปจอดบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินแล้ว จำเลยกล่าวปราศรัยเสร็จแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้ เพราะระหว่างนั้นกำลังสังเกตการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นๆ หลัง พ.ต.ท.สมรวย ประกาศให้เลิกชุมนุม ก็มีเสียงโห่ร้องตอบโต้ของกลุ่มผู้ชุมนุม พยานกับ พ.ต.ท.สมรวย จึงได้ถอนตัวออกมาเพื่อความปลอดภัย
พยานเบิกความอีกว่า ครั้งสุดท้ายที่เห็นจำเลยคือ ก่อนที่รถกระบะเครื่องเสียงจะเคลื่อนตัวไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน อย่างไรก็ตาม พยานเชื่อว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นในการจัดชุมนุม เพราะได้มีการกล่าวรายละเอียดว่าใครจะเป็นผู้ปราศรัยต่อไป คนปราศรัยเป็นใคร และรายละเอียดกิจกรรมการชุมนุม รวมถึงมีการเชิญชวนให้มวลชนเคลื่อนย้ายไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
พยานโจทก์ปากที่ 3 ร.ต.อ.จักรพงศ์ วงศ์งามใส ผู้บันทึกเหตุการณ์การชุมนุม
ร.ต.อ.จักรพงศ์ วงศ์งามใส รองสารวัตรสืบสวน สน.บุปผาราม ผู้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวระหว่างชุมนุม เบิกความย้อนไปว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 พยานได้เดินทางไปที่เกิดเหตุประมาณ 15.00 น. พบว่ามีรถกระบะและเครื่องขยายเสียงจอดหน้าห้างสรรพสินค้าแพลทฟอร์ม พยานเห็นจำเลยกำลังปราศรัยบนรถกระบะ ชักชวนให้มีการชุมนุม โดยจำเลยได้กล่าวทำนองว่า “วันนี้จะไปสักการะพระเจ้าตาก ให้เดินตามรถลงมาบนพื้นถนน มุ่งหน้าไปวงเวียนพระเจ้าตาก” โดยพยานเป็นคนถอดเทปเสียงคำปราศรัยดังกล่าว รวมไปถึงบันทึกภาพ ขณะที่มวลชนกำลังเดินลงถนน และนำเอาแผงเหล็กไปวางกั้นบริเวณหัวถนนลาดหญ้า ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกีดขวางทางจราจร
ทนายความถามค้านว่า กลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในการเคลื่อนย้ายจากหน้าห้างสรรพสินค้าแพลทฟอร์มไปบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
ทนายความถามว่า ตอนกลุ่มผู้ชุมนุมข้ามถนนตามรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง มีการตั้งแผงเหล็กบนถนนลาดหญ้า เพื่อให้ผู้ชุมนุมเดินข้ามไปได้สะดวก หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขึ้นไปแล้ว ได้มีการเอาแผงเหล็กกั้นออกใช่หรือไม่ พยานตอบว่าจำเหตุการณ์ส่วนนี้ไม่ได้ เพราะต้องไปสังเกตการณ์ที่อื่น อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันว่าผู้ปราศรัยได้เชิญชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นไปบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน หลังจากขึ้นไปบนลานดังกล่าวแล้ว พยานก็ไม่เห็นจำเลยปราศรัยอีก
ทนายถามความค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ผู้ปราศรัยได้แจ้งว่าพนักงานของกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน หากไม่เคลื่อนตัวออกจากลานดังกล่าวจะแจ้งข้อหาบุกรุก พยานตอบว่าไม่ทราบ และพยานก็ไม่ทราบว่าจำเลยได้เป็นผู้สั่งให้กั้นแผงเหล็กบนหัวถนนลาดหญ้าหรือไม่
พยานโจทก์ปากที่ 4 ร.ต.อ ไพฑูรย์ รัตนเวียง เจ้าหน้าที่ดูแลจราจร
ในวันเกิดเหตุ ร.ต.อ.ไพฑูรย์ รัตนเวียง ปฎิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรจราจรของ สน.บุปผาราม ได้เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ โดยจำเลยกำลังยืนอยู่บนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงและใช้ไมค์กล่าวปราศรัยหน้าห้างสรรพสินค้าแพลทฟอร์ม
ในขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมเริ่มตั้งแผงเหล็กกั้นบนถนน ยืนกีดขวางทางจราจร เคลื่อนย้ายไปบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน พยานเห็นว่าบริเวณที่ชุมนุม ไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง หรือมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 แต่อย่างใด นอกจากนี้ เมื่อ พ.ต.ท.สมรวย ประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมต่อไป จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. ถึงได้แยกย้ายกลับ
ทนายความถามค้านว่า จำเลยเป็นคนสั่งการให้เอาแผงเหล็กมากั้นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เห็นว่ามีการตั้งแผงเหล็ก แต่ไม่ทราบว่าใครเอามากั้น
ทนายถามค้านต่อว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศยุติการชุมนุมแล้ว จำเลยได้กล่าวปราศรัยต่อหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ เพราะมีผู้ร่วมชุมนุมเยอะ และพยานมีหน้าที่แค่อำนวยการจราจรบริเวณชุมนุมเท่านั้น
พยานโจทก์ปากที่ 5 ร.ต.อ.วสันต์ดิลก คำโสภา พนักงานสอบสวน
ขณะเกิดเหตุ ร.ต.อ.วสันต์ดิลก คำโสภา เป็นรองสารวัตรสอบสวน สน.บุปผาราม และเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้
พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 พ.ต.ท.สมรวย อันต๊ะนัย ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย เหตุร่วม #ม็อบ6ธันวา เหตุผลในการดำเนินคดีมี 4 ประการ ได้แก่
หนึ่ง ผู้กล่าวหาถือว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุม เพราะจากรายงานการสืบสวน มีข้อความที่จำเลยพูดว่า “จริงๆ แล้วท่านเปิดให้เราเข้าไปวงเวียนอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ทุกอย่างก็จบแล้ว อย่าคิดเยอะนะครับเจ้าหน้าที่ตํารวจ มันเป็นพื้นที่สาธารณะ…เราไม่ต้องการให้จราจรติดขัด เราต้องการเข้าไปอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน” ซึ่งเป็นลักษณะเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน
สอง จําเลยในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม ไม่จัดให้ผู้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด
สาม จําเลยได้ร่วมกันนํากลุ่มผู้ชุมนุมเดินไปบนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินฝั่งขาเข้า ขาออก และถนนรอบวงเวียนใหญ่ อันเป็นการกีดขวางทางสาธารณะ ทําให้ผู้ใช้รถไม่สามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้ตามปกติ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร และเป็นการกระทําโดยไม่จําเป็น นอกจากนี้ ในการเดินบนถนนดังกล่าว จําเลยกับพวกได้ร่วมกันวางหรือตั้งแผงเหล็กบนถนนในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต
สี่ จําเลยกับพวก ได้ร่วมกันใช้เครื่องขายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน
ต่อมา พยานได้ทำการสอบสวนจำเลย รวบรวมพยานหลักฐาน แล้วทำสำนวนส่งต่อผู้บังคับบัญชา ให้ส่งฟ้องต่ออัยการ
ทนายความจำเลยถามค้านว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุขณะนั้นมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งในทางกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่สามารถบังคับใช้ร่วมกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
ทนายความถามว่า ในประเด็นการตั้งวางแผงเหล็กบนถนน ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114 กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรจะอนุญาตได้ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น” พยานได้ทำการสอบปากคำเจ้าพนักงานหัวหน้าจราจรด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้สอบคำให้การหัวหน้าพนักงานจราจร
ทนายจำเลยถามค้านต่อในประเด็นเดียวกันว่า ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ หากจะมีการร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน จะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พยานได้สอบคำให้การผู้อำนวยการเขตคลองสานหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่ได้สอบสวนว่าได้มีการขออนุญาตหรือไม่ แต่ได้โทรไปสอบถามแล้ว พบว่าไม่มีการขออนุญาตแต่อย่างใด
ทนายถามต่อค้านว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 “ผู้ใดกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด” ในส่วนนี้ พยานได้สอบสวนหรือไม่ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจอนุญาต และจำเป็นต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่ พยานตอบว่า พยานไม่ได้สอบสวนว่าใครเป็นผู้มีอำนาจอนุญาต และในส่วนของมาตรานี้ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนแต่อย่างใด
อัยการถามติงเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พยานเบิกความว่า ตนได้โทรถามเจ้าหน้าที่พนักงานเขตคลองสาน เพื่อสอบถามเรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง พบว่าไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด
คำเบิกความของ “ชินวัตร” ยืนยันไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม
เกี่ยวกับวันเกิดเหตุ ชินวัตรเบิกความว่า ตนไปชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง หลังทราบประกาศการชุมนุมในเฟซบุ๊ก ‘กลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย’ จึงได้นั่งรถมาจากจังหวัดนนทบุรี โดยวัตถุประสงค์การชุมนุมคือ ขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ชินวัตรยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้โพสต์ชักชวน หรือนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ให้ผู้อื่นมาชุมนุม และเมื่อมาถึงที่นัดหมาย เวลาประมาณ 15.00 น. แล้ว พบว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนรวมตัวและมีผู้ปราศรัยอยู่ก่อนแล้ว
ต่อมา ตนได้เจอกับบุคคลที่คาดว่าจะเป็นพิธีกรในการชุมนุม บุคคลดังกล่าวเห็นว่าจำเลยเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยในจังหวัดนนทบุรี จึงเชิญจำเลยขึ้นปราศรัย จำเลยจึงได้ขึ้นปราศรัย กล่าวเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย และยืนยันให้การชุมนุมดำเนินไปอย่างสันติ ไม่เกิดความรุนแรง พร้อมกันนี้จำเลยได้กล่าวด้วยว่า “หากล้ำไปบนพื้นถนน มันจะผิดกฎหมาย”
ต่อมา พิธีกรในที่ชุมนุมแจ้งว่า หากชุมนุมบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแพลทฟอร์ม อาจจะผิด พ.ร.บ.จราจรฯ ได้ จึงให้เดินไปลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินแทน เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งกว้างและมีอากาศถ่ายเท
ชินวัตรเบิกความต่อว่า ประโยคที่กล่าวว่า “เปิดให้เข้าก็จบ อย่าคิดเยอะคุณตำรวจ มันเป็นพื้นที่สาธารณะ ขอให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก” จำเลยพูดเนื่องจากได้ยินว่าเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ไม่อนุญาตให้เข้าไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ซึ่งตามหลักการแล้ว ตำรวจควรจะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครไม่ควรขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
ในส่วนของประเด็นเรื่องมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ชินวัตรเบิกความว่า ขณะชุมนุมมวลชนส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากาก และฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือ
สำหรับประเด็นเรื่องขวางถนน ปิดทางเข้าออก กีดขวางทางสาธารณะ และการตั้งแผงเหล็ก ทนายได้นำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการชุมนุมเอาไว้ ซึ่งพบว่าถนนมีช่องว่างให้รถวิ่งผ่านไปได้ และกลุ่มผู้ชุมนุมได้โบกให้รถผ่านไป
ชินวัตรเบิกความในส่วนนี้ว่า ตอนเดินจากห้างสรรพสินค้าแพลทฟอร์ม กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ถนนลาดหญ้าเพียงเส้นเดียว โดยใช้เวลาเคลื่อนตัวเพียง 10 นาที และมีกลุ่มผู้ชุมนุมคอยช่วยกันโบกรถให้ผ่านไปได้ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่รถที่สัญจรไปมา นอกจากนี้มีการ์ดที่ดูแลการชุมนุม วางแผงเหล็กกั้นบนถนน โดยวางกั้นไว้เพียงไม่กี่นาที จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมเดินข้ามได้สะดวกปลอดภัย เมื่อผู้ชุมนุมข้ามฝั่งหมดแล้ว จึงค่อยนำแผงเหล็กออก ปล่อยให้รถวิ่งได้ปกติ
ชินวัตรเบิกความอีกว่า หลังขึ้นไปบนลานอนุเสาวรีย์พระเจ้าตากสินแล้ว ครู่ต่อมาก็มีเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครสั่งให้เลิกการชุมนุมบนลานดังกล่าว พิธีกรในที่ชุมนุมได้ตกลงตามที่เจ้าหน้าที่ประสาน โดยจะกลับไปบริเวณถนนลาดหญ้าเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม พยานไม่เห็นด้วย เพราะหากจะกลับไปชุมนุมในท้องถนนจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย พยานเลยตัดสินใจกลับบ้านในตอนนั้น
ต่อมา มีทีมงานเข้ามาพูดคุยกับชินวัตรว่า ทำไมถึงไม่จัดการชุมนุมบนลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินต่อ ชินวัตรยืนยันว่าตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม และไม่ทราบด้วยว่าใครเป็นผู้จัด เพราะมีหลายคนอ้างว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม
สำหรับประเด็นเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง ชินวัตรเบิกความว่า ตนไม่ทราบว่าผู้จัดชุมนุมได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ อีกทั้งยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม
ทั้งนี้ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่นี้ นอกจากการฟ้องร้องชินวัตรที่ศาลแขวงธนบุรีแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม ยังมีการดำเนินคดีต่อ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และ “เพชร” ธนกร เยาวชนซึ่งขณะนั้นอายุ 17 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเนื้อหาคำปราศรัยของทั้งสามคนในวันดังกล่าวอีกด้วย