คดี “ไบรท์” ชินวัตร ชุมนุม #ม็อบ6ธันวา63 ศาลยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ชุมนุม แต่ปรับข้อหาจราจร-เครื่องเสียง รวม 1,650 บาท

31 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงธนบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ“ไบรท์” อายุ 28 ปี นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี กรณีถูกกล่าวหาว่าขึ้นปราศรัยและร่วมชุมนุมใน #ม็อบ6ธันวา จัดโดยกลุ่มราษฎรฝั่งธนฯ และกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563

คดีนี้ชินวัตรถูกอัยการฟ้องใน 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, กีดขวางการจราจร, ตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

>>เปิดบันทึกสืบพยานคดี “ไบร์ท” ชินวัตร ขึ้นปราศัย #ม็อบ6ธันวา63 ที่วงเวียนใหญ่ ก่อนศาลนัดพิพากษา 31 ม.ค.


ศาลยกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม

ในวันนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 เวลา 10.00 น. ภายในห้องพิจารณาประกอบด้วย พนักงานอัยการโจทก์ จำเลย และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลย 

ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุประบุว่า ตามฟ้องของโจทก์ ที่ว่าจำเลยมีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว โดยมีการยืนปราศรัยบนรถกระบะและชักชวนประชาชนที่ยืนบนฟุตบาทบริเวณห้างแพลทฟอร์ม ให้เข้าไปบวงสรวงดวงวิญญาณของพระเจ้าตากสิน ในทางนำสืบพบว่า หลังจากที่จำเลยได้เคลื่อนย้ายรถกระบะไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินแล้ว จำเลยไม่ได้กล่าวปราศรัยต่อและเดินทางกลับบ้านในทันที   

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยออกจากที่ชุมนุมกะทันหัน และไม่ได้อยู่ดูแลการชุมนุมจนกระทั่งจบการชุมนุม ถือว่าผิดวิสัยของผู้จัดการชุมนุม หลักฐานและพยานของฝ่ายโจทก์จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุมดังกล่าวจริง รวมถึงจำเลยไม่ได้มีการโพสต์ชักชวน หรือนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแต่อย่างใด 

ดังนี้ การชุมนุมในวันดังกล่าว จึงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดในฐานที่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

ต่อมา ในส่วนของประเด็นการกีดขวางทางจราจร, กีดขวางทางสาธารณะ, ตั้งวางวัตถุใดๆ บนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และการใช้เครื่องขยายเสียง ศาลเห็นว่าการที่จำเลยจะเคลื่อนย้ายรถกระบะจากห้างสรรพสินค้าไปที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ถือเป็นการกีดขวางทางสาธารณะโดยสภาพ แม้จะใช้เพียงช่องทางจราจรช่องเดียวในการเคลื่อนย้าย ส่วนประเด็นเรื่องการตั้งวางแผงเหล็ก ในทางนำสืบพบว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้วางแผงเหล็ก หรือสั่งการให้วางแผงเหล็กบนพื้นผิวถนนแต่อย่างใด  

ในส่วนประเด็นเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลระบุว่า เนื่องจากจำเลยเป็นผู้กล่าวปราศรัยและใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าว จึงถือเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องรับผิดชอบ ตรวจสอบว่าทางผู้จัดการชุมนุมได้มีการขอนุญาตเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนหรือไม่ 

ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในสองข้อหา คือความผิดฐาน “กีดขวางทางจราจร” ลงโทษปรับ 1,500 บาท และข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ลงโทษปรับ 150 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ศาลจึงลดโทษปรับลงหนึ่งในสาม เหลือปรับข้อหาแรก 1,000 บาท ข้อหาที่สองปรับ 100 บาท ตามลำดับ รวมเป็นค่าปรับ 1,100 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ พิพากษายกฟ้อง 

ความรู้สึกของ ‘ชินวัตร’ ต่อคำพิพากษา และผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี 

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จแล้ว ชินวัตรได้แสดงความรู้สึกต่อคำพิพากษา และการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงบอกเล่าผลกระทบที่ตนถูกดำเนินคดี ที่แม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษต่ำ แต่ก็สร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเขาอย่างมาก 

“คำพิพากษาวันนี้ ถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง ที่เขากล่าวหาเราว่า ‘เป็นผู้จัดการชุมนุม’ ซึ่งๆ จริงแล้ว เราไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม แต่เราแค่มาร่วมชุมนุมด้วยความสุจริตใจ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ทนทุกข์ทรมานกับการบริหารงานของรัฐบาล” 

“เรายืนยันว่า การชุมนุมของเราเป็นการใช้สิทธิของประชาชน เป็นสิทธิภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนวันนี้โดยรวมคือ ศาลยกฟ้องในกระทงใหญ่ๆ ทั้งหมด ลงโทษเพียงสองข้อหาคือเรื่องของ พ.ร.บ.จราจรฯ และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องโดนอยู่แล้ว แต่ในความคิดเห็นของผม เราก็แค่ใช้สิทธิการชุมนุมในฐานะประชาชนคนหนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ มันไม่ควรที่จะผิดอะไร” 

“ในวันเกิดเหตุ ตอนที่มวลชนกำลังลงพื้นผิวจราจร เราก็บอกเจ้าหน้าที่ไปว่า ถ้าปิดถนนมันจะทำให้การสัญจรเดือดร้อน ผมอยากจะให้พี่น้องทยอยขึ้นไปบนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็คือลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน แต่ศาลก็เห็นว่ามันเป็นการกีดขวางทางจราจร ซึ่งก็ลงความผิดไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร”

“ผมเสียโอกาสหลายอย่าง ทำมาหากินก็ไม่ได้ ต้องมารอขึ้นศาล และบางทีตำรวจก็ฟ้องแบบไม่มีเหตุผล กว่าจะมีคำตัดสินออกมา ผมต้องมาที่ศาลกี่หน ไปกลับระหว่างบ้านที่นนทบุรีกับศาลแขวงธนบุรี ก็ 500 กว่าบาททุกครั้ง” 

“ผมเองก็อยากฝากถึงตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐว่า เวลาบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน คุณไม่ควรสั่งฟ้องสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะคนที่เสียผลประโยชน์คือคนที่ถูกฟ้อง คนฟ้องนึกจะทำอะไรก็ได้ อยากจะฝากไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝากถึงตำรวจที่บังคับใช้กฎหมาย คุณต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ว่ายัดเยียดจะให้ผิดให้ได้ ตัวอย่างเช่นในคดีนี้ ตั้งแต่วันที่สอบพยาน ทั้งพยานและหลักฐานไม่มีน้ำหนักและฟังไม่ขึ้น รวมถึงคำเบิกความพยานโจทก์ก็มีน้ำหนักไม่เพียงพอ ศาลถามอะไรก็ตอบไม่รู้ แต่พวกคุณก็ยังมาฟ้องผม” 

“พอศาลยกฟ้อง คนที่ลำบากคือเรา เพราะเราเป็นประชาชนคนธรรมดา เวลาที่จะไปฟ้องกลับเพื่อเรียกค่าเสียหายกับตำรวจ ก็เป็นเรื่องที่ยากและเสียเวลา ผมมองว่าการกระทำแบบนี้เป็นฝีมือของรัฐที่จะทำให้เราเหนื่อยล้าและท้อแท้ ไม่อยากที่จะสู้ต่อ เพราะมันต้องเจออุปสรรคหลายอย่าง ไม่ว่าจะมีปัญหาในเรื่องการงาน การเดินทาง เสียทรัพย์สิน และหลายๆ อย่างประกอบกัน”  

ทั้งนี้ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่นี้ นอกจากการฟ้องร้องชินวัตรที่ศาลแขวงธนบุรีแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บุปผาราม ยังมีการดำเนินคดีต่อ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และ “เพชร” ธนกร เยาวชนซึ่งขณะนั้นอายุ 17 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเนื้อหาคำปราศรัยของทั้งสามคนในวันดังกล่าวอีกด้วย

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

อัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหา “ไบร์ท” ชินวัตร เหตุขึ้นปราศรัย-จัดชุมนุม #ม็อบ6ธันวา 

X