22 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ที่ สน. บางเขน “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียกผู้ต้องหา ในข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และข้อหาอื่นๆ รวม 4 ข้อหา ขณะที่ชินวัตรถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย จากกรณีแห่ขันหมากให้กำลังใจ 8 ประชาชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เหตุ #ม็อบ29พฤศจิกา หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 63
ภาพกิจกรรมแห่ขันหมากหน้าสน.บางเขน เมื่อ 21 ธ.ค. 63
มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากการประชาชนราว 200 คน ไปให้กำลังใจนักกิจกรรมและประชาชน 8 ราย ในวันที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 และมาตรา 116 จากกรณี #ม็อบ29พฤศจิกา โดยประชาชนได้ตั้งขบวนแห่ขันหมากเดินไปส่งผู้ได้รับหมายที่หน้า สน.บางเขน ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมแสดงดนตรี และปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง เพื่อให้กำลังใจประชาชนทั้ง 8 ที่มารับทราบข้อกล่าวหา
>> เปิดข้อหาคดี #ม็อบ29พฤศจิกา “ทราย” ไม่ได้ขึ้นปราศรัยแต่ถูกแจ้ง ม.112-116 ด้วย
หลังการให้กำลังใจและรับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว พ.ต.ท.อนันต์ วรสาตร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.บางเขน ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนักกิจกรรมรวม 7 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, วรรณวลี ธรรมสัตยา และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ โดย 5 ราย เป็นผู้ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว และถูกดำเนินคดีอีกคดี ส่วนอีก 2 รายเป็นเพื่อนนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้มีผู้มารับทราบข้อกล่าวหาเพียง 3 ราย ส่วนอานนท์, พริษฐ์, ภาณุพงศ์ และพรหมศร ไม่สามารถมารับทราบข้อกล่าวหาได้ เนื่องจาก 3 รายแรกนั้นยังถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างพิจารณาคดีในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ส่วนพรหมศรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว สิริชัย” ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับคดี 112 และถูกนำตัวไปฝากขัง
09.50 น. บรรยากาศช่วงเช้าบริเวณทางเข้า สน. บางเขน มีการกั้นแผงเหล็กหน้าประตูทางเข้า โดยให้ใช้ทางเข้า-ออกเพียงทางเดียว มีเจ้าหน้าควบคุมฝูงชนกระจายตัวตามแผงกั้นจำนวนหนึ่ง ภายใน สน.มีการตั้งจุดคัดกรองโควิด-19 ตรวจบัตรประชาชน และจดบันทึกชื่อผู้ที่มาติดต่อ สน.
พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ในคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 63 ผู้ต้องหากับพวกได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา แต่มีการจัดชุมนุมขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง และการชุมนุมนั้นกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ ประกอบกับการรวมตัว มีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก เสี่ยงต่อการติดโรคระบาด และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งให้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ต้องหากับพวกไม่ปฏิบัติตามและไม่เลิกการชุมนุม เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหารวม 4 ข้อหา ได้แก่
- ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 8 ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออก หรือ รบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันกระทําการ หรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 “ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
สำหรับชินวัตร พ.ต.ท.สราวุธ ยังได้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา อีก 1 ข้อหา โดยบรรยายพฤติการณ์ส่วนของชินวัตรว่า ในวันที่ผู้ต้องหาเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหานั้น ผู้ต้องหาได้ขึ้นพูดปราศรัยในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย โดยมีเนื้อหาคำปราศรัยตอนหนึ่งว่า “…กรณีที่ผม โดนฟ้องก็คือเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกา ที่หน้าราบ 11 คิดดูครับพี่น้อง แสดงว่าคนที่รักสถาบันรักได้แต่คนที่ใส่สีเหลืองใช่ไหม คนอย่างพวกเรามันรักไม่ได้เหรอ วันที่ 29 พฤศจิกา ผมก็พูดอธิบายให้พี่น้องได้ฟังว่า เมื่อก่อนโน้น ธุรกิจทุกอย่าง มรดกทุกอย่าง ของพระมหากษัตริย์จะไปอยู่ส่วนกลาง สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกต้องไหมครับ ตอนนี้พอมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ 10 ปั๊บ เปลี่ยนกฎหมายเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แล้วมันจริงไหมละครับพี่น้อง ผมก็เลยพูดต่อว่าใน เมื่อท่านเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ในอนาคตสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปเขาจะใช้อะไร แล้วมันจะผิดตรงไหนละครับ..”
พนักงานสอบสวนระบุว่า คำปราศรัยดังกล่าวมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์พระราชอํานาจของกษัตริย์ถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชมรดกและพระราชอํานาจโดยชอบธรรม เป็นการกล่าวโดยไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน แสดงถึงเจตนาบิดเบือนข้อมูลให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจผิด ทําให้ผู้ฟังเกิดความสับสน ไขว้เขว กล่าวร้ายต่อกษัตริย์ ให้ประชาชนทั่วไปฟังแล้วดูหมิ่น เกลียดชังในสถาบันกษัตริย์
ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยวรรณวลีและพิมพ์สิริจะให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ส่วนชินวัตรจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
ชินวัตรยังได้ให้การว่า ขอให้พนักงานสอบสวนส่งหนังสือไปสอบถามสํานักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อตรวจสอบว่าได้มีการออกกฎหมายเปลี่ยนแปลงสถานะของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์จริงหรือไม่
หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทั้งสาม โดยไม่ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก
ทั้งนี้ ชินวัตรและวรรณวลีปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ด้านวรรณวลีลงข้อความว่า “นัดเย็นๆ หน่อยค่ะ” แทน
ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 รายที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนั้น พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะทำเรื่องเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำต่อไป
สำหรับชินวัตร ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีนี้เป็นคดีที่ 4 แล้ว ก่อนหน้านี้เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หน้ากรมทหารราบที่ 11, การชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb และการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการชุมนุมทางการเมืองระลอกใหญ่นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 75 ราย ใน 65 คดี
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64