เปิดคำฟ้องคดี ม.112 #ม็อบ6ธันวา “ตี้ พะเยา” ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างเกรงจะหลบหนี

27 เมษายน 2564 – ที่สำนักงานคดีอาญาธนบุรี  “ตี้วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยาได้เดินทางมาตามนัดหมายของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 3 เพื่อฟังคำสั่งฟ้องคดีตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา สืบเนื่องมาจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 หรือ #ม็อบ6ธันวา  

ในคดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีกหนึ่งรายคือ ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ จัสตินซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในอีกคดีหนึ่ง โดยขณะนี้หลังพบว่าติดเชื้อโควิด จึงได้ถูกส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และไม่ได้ถูกนำตัวมาศาลในวันนี้

ช่วงสายวันนี้ พนักงานอัยการได้แจ้งต่อวรรณวลีว่า ทางอัยการมีคำสั่งที่จะฟ้องคดีของทั้งสองคนต่อศาลอาญาธนบุรี และแจ้งอีกว่าจะขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ทำให้เธอถูกนำตัวไปไว้ที่ห้องเวรชี้ระหว่างรอยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายความวางหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน 

ศาลอาญาธนบุรีได้รับฟ้องไว้ แต่ให้เลื่อนอ่านฟ้องและสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น. เนื่องจากจำเลยที่ 1 คือชูเกียรติ ยังไม่ได้ถูกนำตัวมาศาล

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราววรรณวลี โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับโจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว และจำเลยที่ 2 ที่ถูกกล่าวหายังอยู่ระหว่างการสอบสวนในข้อหาความผิดเดียวกับคดีนี้อีก หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” ลงนามโดยนายวิระพล เทียนขก

ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว วรรณวลีได้ถูกนำตัวไปยังทัณฑสถานหญิงธนบุรีเพื่อคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีทันที

.

เปิดคำฟ้องคดีมาตรา 112: “พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันมิอาจละเมิดได้” 

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องที่อัยการยื่นต่อศาลนั้น ระบุโดยเท้าความว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยในรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุในมาตราที่ 1 ว่า  ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้” มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมาตรา 3 บัญญัติว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลและมาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”

ในส่วนต่อมา คำฟ้องระบุเกี่ยวกับพฤติการณ์ของคดีว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 จําเลยที่ 1 (ชูเกียรติ) ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ขึ้นกล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งเป็นบุคคลผู้เข้าร่วมชุมนุม บริเวณวงเวียนใหญ่ โดยได้ยกเนื้อหาคำปราศรัยหลายส่วนของเขามากล่าวหา

เนื้อหาการปราศรัย อาทิเช่น การกล่าวถึงเหตุการณ์การยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสินฯ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นของราชวงศ์ในปัจจุบัน, การที่รัฐใช้มาตรา 112 เนื่องจากกลัวว่าประชาชนจะเอาความจริงมาพูด เลยต้องใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อปิดปาก ประเทศไทยแม้จะบอกว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลับมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้อง มีการส่งมือที่ 3 เข้ามาลอบทำร้ายผู้ชุมนุม 

คำปราศรัยของชูเกียรติยังกล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกล่าวหาว่าการแต่งกายของเขานั้นเข้าข่ายหมิ่นฯ ทั้งๆ ที่เป็นการแต่งกายเลียนแบบนักร้องในต่างประเทศ และคำปราศรัยที่กล่าวถึงภาวะของสถาบันกษัตริย์ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ และพูดถึงความจำเป็นที่ผู้ชุมนุมต้องออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีการใช้อำนาจหลายอย่างที่เกินขอบเขต แตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นๆ

ในส่วนของวรรณวลี (จำเลยที่ 2) ได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทยซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ทรงมีอำนาจที่จะชี้นำกองทัพและมีส่วนในการเซ็นรับรองการรัฐประหาร รวมไปถึงชี้นำการทำงานของคณะรัฐมนตรี

คำฟ้องระบุว่า การกระทำของทั้งสองมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการจงใจใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกินดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง มีเจตนาที่จะทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

คดีนี้ จำเลยทั้ง 2 ได้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2564 โดยในชั้นสอบสวน ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน อัยการยังได้ขอให้เบิกตัวจำเลยที่ 1 มาที่ศาลนี้เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาในคดีต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ พนักงานอัยการขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องเป็นจำเลยของศาลอาญาในคดีที่มีความผิดฐานเดียวกันและมีคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเดียวกันนี้โดยคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจำเลยทั้ง 2 จะหลบหนี

.

.

คำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราว: จำเลยเป็นเพียงนักศึกษา ไม่คิดหลบหนี การคุมขังจำเลยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสในเรือนจำ

ในส่วนของคำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราวของวรรณวลี ระบุว่าจำเลยประสงค์ที่จะขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีรายละเอียดและเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. จำเลยที่ 2 ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา มีภาระทางการศึกษาที่ต้องรับผิดชอบ หากจำเลยถูกฝากขัง จะกระทบกับการเรียนของจำเลยอย่างร้ายแรง
  2. จำเลยให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนและอัยการเป็นอย่างดี เดินทางมาตามที่เจ้าพนักงานนัดหมายทุกครั้งที่ได้รับหมายเรียก ไม่เคยมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีมาตั้งแต่ต้น คดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและมีความประสงค์ที่จะสู้คดีต่อไปอย่างเต็มที่
  3. จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ปัจจุบันจำเลยมีอายุ 21 ปี เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับพยานเอกสาร พยานวัตถุและพยานบุคคลก็อยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งหมดแล้ว
  4. จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปก่อเหตุอันตรายอื่นใด ทั้งจำเลยยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ประกอบกับคดีนี้ยังมีการวางหลักประกันที่น่าเชื่อถือเป็นเงินสดตามเกณฑ์ของศาล ดังนั้น การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด
  5. นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในสถานที่คุมขังหรือเรือนจํา การปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี ตามคําแนะนําของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 3 ข้อ 7 กําหนดว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจําอันอาจนําไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ผู้ต้องหาหรือจําเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจําเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกําหนดเงื่อนไขก็ได้

คดีนี้โจทก์เพียงยื่นฟ้องจําเลยต่อศาล ยังไม่ได้สืบพยานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของจําเลย หากขังจําเลยไว้ระหว่างพิจารณา จําเลยย่อมได้รับความเดือดร้อน จึงขอศาลได้โปรดมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

.

ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี เพิ่มขึ้นเป็น 17 ราย

สำหรับวรรณวลี หรือ “ตี้ พะเยา” อายุ 21 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คู่ขนานเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังจากเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา เธอถูกกล่าวหาไปแล้วทั้งหมด 9 คดี โดยแยกเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คดี ได้แก่ คดี #ม็อบ6ธันวา ชุมนุมที่วงเวียนใหญ่, คดี #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb ชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ และคดีการโพสต์ภาพที่ชูป้ายในที่ชุมนุม ซึ่งมีผู้ไปแจ้งความไว้ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ทั้งที่คดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสามคดีมาตรา 112 ที่เธอถูกกล่าวหา ยังเป็นคดีที่กลุ่มประชาชนเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาเองอีกด้วย 

การไม่ได้ประกันตัวของวรรณวลี ยังทำให้มีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง อย่างน้อย 17 คน โดยแยกเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 10 คน 

ในส่วนกรณี #ม็อบ6ธันวา นี้ นอกจากชูเกียรติและวรรณวลีแล้ว ยังมีผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 อีกรายคือ ธนกรนักกิจกรรมเยาวชนวัย 17 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดีแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว คดีนี้พนักงานอัยการศาลเยาวชนฯ ได้นัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 24 พ.ค. 64

>> จัสติน-ตี้ พะเยา-เยาวชน 17 ปี รับทราบข้อหา ม.112 ปราศรัยวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่วงเวียนใหญ่

>> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

.

X