กรกฎาคม 64: 1 ปี เยาวชนปลดแอก ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองถึง 757 คน คดี 112-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเพิ่มต่อเนื่อง

ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์การดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองก็ไม่ได้ลดลงไป แต่ยังเข้มข้นเช่นเดียวกับความไม่พอใจของประชาชนต่อการจัดการปัญหาโรคระบาดของรัฐบาล โดยทั้งการดำเนินคดีมาตรา 112 และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง และคดีหมิ่นประมาทจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐ ก็ยังคงมีคดีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเดือน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 757 คน ในจำนวน 413 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 51 ราย อีกด้วย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 1,442 ครั้งแล้ว 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 62 คน ใน 39 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 113 คน ในจำนวน 111 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 31 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 225 คน ในจำนวน 49 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 539 คน ในจำนวน 171 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 147 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 549 คน ในจำนวน 178 คดี 

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 100 คน ในจำนวน 67 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 72 คน ในจำนวน 83 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 37 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 413 คดีดังกล่าว มีจำนวน 71 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่ในจำนวนนี้ มี 2 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 

.

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1.  จับกุม-ออกหมายเรียกคดี ม.112 เพิ่มอีก 11 คดี ขณะอัยการสั่งฟ้องศาลเพิ่มอีก 8 คดี  

ในเดือนกรกฎาคม สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างน้อย 10 ราย เป็นคดีใหม่ 11 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีการนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 113 ราย ใน 111 คดี (ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112) โดยสถิตินี้เป็นเพียงตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น 

เดือนที่ผ่านมา มีคดีที่ถูกกล่าวหาใหม่ๆ ทั้งคดีจากการปราศรัยในช่วงปี 2563 อย่างคดีของ “สามเณรโฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า จากการปราศรัยในม็อบ #บ๊ายบายไดโนเสาร์ ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 63 หรือกรณีของประชาชนที่โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ได้แก่ คดีของ “ไวรัส” อดีตพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ถูกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ คุกคามถึงที่ทำงานและกล่าวหาดำเนินคดี โดยเขาถูกตำรวจ สน.โชคชัย เรียกไปแจ้งข้อหาในเดือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ยังมีการจับกุมประชาชนที่โพสต์แสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการออกหมายเรียกมาก่อน ได้แก่ คดีของประสงค์ โคตรสงคราม ชาวจังหวัดลพบุรี ซึ่งถูกจับกุมคุมขังในคดีที่ สน.บางพลัด และศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างฝากขัง รวมทั้งศูนย์ทนายสิทธิฯ ยังได้รับทราบข้อมูลว่ามีประชาชนอีกรายหนึ่งถูกจับกุมในลักษณะเดียวกันในคดีที่ สน.บางพลัด แต่ต่อมาได้รับการประกันตัว

.

ประสงค์ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขัง 27 วัน

รวมทั้งกรณีของสิทธิโชค ไรเดอร์ส่งอาหาร ที่ถูกจับกุมหลังถูกกล่าวหาจากพฤติการณ์วางเพลิงใกล้พระบรมฉายาลักษณ์  ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา บริเวณถนนราชดำเนินนอก เช่นเดียวกับ “สายน้ำ” เยาวชนอายุ 17 ปี ที่เข้ามอบตัวหลังทราบว่าถูกออกหมายจับในกรณีแปะกระดาษและพ่นสีสเปรย์บนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุมเดียวกัน

พนักงานอัยการยังได้ทยอยสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยมีคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน ถูกสั่งฟ้องไปถึงชั้นศาลจำนวนอย่างน้อย 33 คดีแล้ว 

ในเดือนที่ผ่านมาได้มีการทยอยสั่งฟ้องคดีเพิ่มเติมไปอีก 8 คดี ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา จากกรณีม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63, คดีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี วันที่ 26 ต.ค. 63, คดีของจตุพร จากการชุมนุม #ม็อบ29ตุลา รันเวย์ของประชาชน หน้าวัดแขก เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63, คดีของ “พนิดา” พ่นข้อความใต้พระบรมฉายาลักษณ์ ที่พัทยา, คดีของประชาชนทั่วไปที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความ ที่ สภ.บางแก้ว และ บก.ปอท. อีก 4 คดี

นอกจากนั้น ยังต้องจับตาสถานการณ์การยื่นขอถอนประกันตัวแกนนำราษฎรที่ได้รับการประกันตัวออกมา แต่อัยการอ้างว่าผิดเงื่อนไขประกัน จึงได้ยื่นขอถอนประกันตัว โดยศาลได้ทยอยนัดไต่สวนแล้ว อาทิ กรณีของ “ตี้ พะเยา”, “รุ้ง” ปนัสยา และอานนท์ นำภา

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่กลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) ได้ข่มขู่คุกคามผู้แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างการรวบรวมและส่งข้อมูลส่วนตัวไปทางกล่องข้อความออนไลน์เพื่อข่มขู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบเกือบสองเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้รับแจ้งเรื่องลักษณะนี้มากว่า 200 รายแล้ว รวมทั้งยังต้องจับตาการนำข้อมูลเหล่านี้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่กลุ่มอ้างตนว่าปกป้องสถาบันฯ ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

.

ภาพการสั่งฟ้องคดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก ที่ศาลอาญา

2. การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กล่าวหาผู้ชุมนุมทางการเมืองยังดำเนินต่อไป

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความไม่พอใจในการบริหารจัดการของภาครัฐ ทั้งในเรื่องการจัดหาวัคซีน การชดเชยเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลในวงกว้าง และเกิดการชุมนุมรูปแบบต่างๆ เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 16 แล้ว และข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาดำเนินคดีแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่าผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ จากการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 549 ราย คิดเป็น 178 คดี

ในเดือนที่ผ่านมา ตำรวจได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 64 ที่จัดโดยกลุ่มราษฎรนนทบุรี โดยมีผู้ถูกจับกุมระหว่างและหลังการชุมนุมรวม 9 รายแล้ว กรณีนี้ยังมีการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย

หรือการจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต โดยเป็นการจับกุมภายหลังการชุมนุมไปแล้ว รวม 15 คน ในจำนวนนี้ยังเป็นเยาวชน 4 คน รวมทั้งยังมีสถานการณ์การควบคุมตัวผู้ถูกจับไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 จ.ปทุมธานี กลับมาอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุ หรือสถานีเจ้าของคดีแต่อย่างใด

ตำรวจยังทยอยออกหมายเรียกจากการชุมนุมในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะการชุมนุมรำลึกครบรอบการอภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น มีรายงานผู้ถูกออกหมายเรียกไม่น้อยกว่า 38 คน หรือการชุมนุม #ม็อบ2กรกฎา หรือ #เปิดท้ายวันศุกร์ลุกไล่เผด็จการ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล มีรายงานการออกหมายเรียกผู้ชุมนุม 17 คน

รวมทั้งในเดือนที่ผ่านมา อัยการยังทยอยเร่งสั่งฟ้องคดีจากการชุมนุมในช่วงกลางปี 2563 หลังใกล้ครบ 1 ปีของเหตุการณ์ ทั้งคดีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 คดีชุมนุมม็อบมุ้งมิ้ง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 63 หรือคดีชุมนุมธีมแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 

ขณะเดียวกัน ยังมีการชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรี #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 ที่พบว่าพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อผู้ต้องหา 3 คน ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ในข้อหาใช้เครื่องเสียงขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาติ ผู้ต้องหาได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลง

การสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ นับเป็นคดีที่ 3 ที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ ทราบข้อมูล แนวทางการสั่งไม่ฟ้องคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของอัยการ ยังคงเป็นเพียงส่วนน้อย ท่ามกลางคดีจากการชุมนุมจำนวนมากที่เกิดขึ้น

.

ภาพการสั่งฟ้องคดีชุมนุมม็อบมุ้งมิ้งวันที่ 29 ก.ค. 64

 

3. ผู้มีอำนาจ-เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ข้อหาหมิ่นประมาท – ดูหมิ่น กล่าวหาประชาชนต่อเนื่อง

ในเดือนกรกฎาคม ยังมีแนวโน้มการดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์บุคคลในรัฐบาล หรือข้าราชการผู้ใช้อำนาจรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นโดยการโฆษณา โดยเฉพาะกรณีผู้แสดงออกทางการเมืองที่ถูกนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีของ “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์ ที่ถูกกล่าวหาจากการทวิตข้อความถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รวมทั้งมีรายงานกรณีดารา-ผู้กำกับได้รับหมายเรียกในลักษณะเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วย ได้แก่ กรณีของพัชรพร จันทรประดิษฐ์ หรือ “น้ำ” มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 และ กรณียุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับภาพยนตร์

ขณะที่ในกรณีของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบอำนาจให้ทนายความ ไปแจ้งความผู้โพสต์ถึงกรณีชายที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยามว่าติดโควิด-19 ยังมีผู้ถูกเรียกไปแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ ที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งมีกรณีใหม่ที่ตำรวจ สภ.เมืองอุดรธานี ออกหมายเรียกประชาชนหลายราย ไปรับทราบข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เนื่องจากแชร์ข้อความจากเพจ “ข้าราชการปลดแอก” มีเนื้อหาร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในสำนักงานจังหวัดอุดรธานี โดยคดีมีนายพิทิศ ชัยคำจันทร์ เป็นผู้รับอำนาจกล่าวหา 

และกรณีของประชาชนที่เข้าไปแก้ไขข้อมูลของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เป็นที่ปรึกษาการจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล ว่าเป็น “เป็นเซลส์ขายวัคซีนซิโนแวค ให้กับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ” บนเว็บไซต์วิกิพีเดีย ก็มีรายงานว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หลังนายแพทย์ยง มอบอำนาจให้ทนายความกล่าวหา

ขณะที่ในคดีเดิม อย่างคดีหมิ่นประมาทลูกสาวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคดีหมิ่นประมาทแกนนำอาชีวะช่วยชาติ จากการแชร์โพสต์ข้อความของเพจ CSI LA ทางอัยการก็ได้ทยอยสั่งฟ้องต่อศาลอีกด้วยในเดือนที่ผ่านมา

สถานการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นประมาท ดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่ด่าทอผู้มีอำนาจรัฐ และผู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 จึงยังเข้มข้นและต้องจับตาต่อไป

.

ย้อนดูสรุปสถานการณ์เดือนก่อนหน้านี้

มิถุนายน 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง 695 คนแล้ว คดี ม.112 และละเมิดอำนาจศาล เพิ่มต่อเนื่อง

.

X