มิถุนายน 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง 695 คนแล้ว คดี ม.112 และละเมิดอำนาจศาล เพิ่มต่อเนื่อง

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งยังคงมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น  แนวโน้มในเดือนนี้ ตำรวจยังคงมีการออกหมายเรียกในคดีจากการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้อนหลัง หรือคดีตามมาตรา 112 ที่ยังคงมีผู้ถูกจับกุมและออกหมายเรียกเพิ่มขึ้นเป็นระยะ จนตัวเลขสถิติในระลอกใหม่นี้เกินกว่า 100 รายไปแล้ว รวมไปถึงคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ศาลมีการไต่สวนนักกิจกรรมตลอดเดือนที่ผ่านมา

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 695 คน ในจำนวน 374 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 43 ราย อีกด้วย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 1,309 ครั้งแล้ว 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 17 คน ใน 31 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 100 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 30 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 206 คน ในจำนวน 44 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 501 คน ในจำนวน 155 คดี  แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 131 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 511 คน ในจำนวน 162 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 100 คน ในจำนวน 66 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 59 คน ในจำนวน 69 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 36 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

จากจำนวนคดี 374 คดีดังกล่าว มีจำนวน 64 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น ขณะที่ในจำนวนนี้ มี 1 คดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยเด็ดขาด 

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1. คดี ม.112 ทะลุ 100 ราย ขณะกลุ่มอ้าง “ปกป้องสถาบันฯ” เข้ากล่าวโทษบุคคลจำนวนมาก 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดเดือนมิถุนายน มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอย่างน้อย 6 ราย โดยเป็นคดีใหม่ 8 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีการนำข้อหานี้กลับมาใช้อีกครั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีทะลุ 100 คน ไปแล้ว คือรวมอย่างน้อย 103 ราย ใน 100 คดี (ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112) โดยสถิตินี้เป็นเพียงตัวเลขที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น 

.

ภาพจากเพจ “เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย”

.

เดือนที่ผ่านมา มีกรณีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ กรณี “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และนายสหรัฐ เจริญสิน ทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. จับกุมและกล่าวหาจากกรณีโพสต์เกี่ยวกับอาการประชวรของบุคคลในราชวงศ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 

ในส่วนของอุกฤษฏ์ ต่อมายังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว หลังได้รับการประกันตัวในคดีแรก โดยเขาถูกกล่าวหาอีกคดีหนึ่ง จากกรณีที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 จากกรณีแชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี ผู้กล่าวหากรณีนี้ยังพบว่าเป็นประชาชนรายเดิม ที่เคยกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้ที่ สภ.บางแก้ว รวมอย่างน้อย 8 คดีแล้ว 

ขณะที่แกนนำราษฎร ที่ได้รับการประกันตัวออกมา ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ในคดีใหม่เพิ่มอีก โดยเป็นคดีที่สมาชิกของกลุ่ม “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ บก.ปอท. ได้แก่ คดีของอานนท์ นำภา กรณีโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 และปัญหาของสถาบันกษัตริย์ และคดีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ กรณีโพสต์วิจารณ์การใช้พื้นที่สนามหลวง และกล่าวถึงกรณีหย่าร่างกับสุจาริณี ทำให้ทั้งสองคนถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 12 และคดีที่ 20 แล้ว ตามลำดับ 

รวมทั้งคดีที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อรรถพล บัวพัฒน์ และภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาเพิ่มอีกคดี จากกรณีการปราศรัยที่หน้า สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษจากการคุกคามนักเรียน กรณีจัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 และคดีที่ปิยรัฐ จงเทพ ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติมในคดีเดิม กรณีชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี  เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63

.

.

สถานการณ์ที่กลุ่มเคลื่อนไหวที่อ้างตนว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ ไปแจ้งความกล่าวหาผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนที่ผ่านมา มีกรณีของ “กัลยา” พนักงานบริษัทในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถูกตำรวจ สภ.สุไหง-โกลก ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาถึงจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมีผู้ได้แจ้งความกล่าวหาเธอไว้จากกรณีการแชร์และโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยมีรายงานว่าผู้แจ้งความรายดังกล่าว ยังร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกหลายรายไว้ที่สถานีตำรวจนี้ด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวยังยกระดับขึ้นอีก เมื่อในเดือนที่ผ่านมาทางกลุ่ม ศชอ. ได้ปฏิบัติการคุกคามเองโดยตรง ทั้งการรวบรวมและส่งข้อมูลส่วนตัวไปทางกล่องข้อความออนไลน์เพื่อข่มขู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นจำนวนมาก หรือการจัดทำแผนที่ Google Maps ที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของคนกว่า 466 ราย รวมทั้งการไปร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ใช้อินเตอร์เน็ทไว้ที่ บก.ปอท. เพิ่มเติมอีกกว่า 130 ราย

สถานการณ์การใช้มาตรการทั้งทาง “กฎหมาย” และ “นอกกฎหมาย” เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งและคุกคามในทางการเมือง เพื่อพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในประเด็นสถาบันกษัตริย์บนโลกออนไลน์ จึงเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องจับตาต่อไป 

.

2. ไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลทุกสัปดาห์ ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดไปแล้ว 3 คดีรวด 

ในเดือนมิถุนายน สถานการณ์การดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลยังเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อมีการนัดไต่สวนทุกสัปดาห์ในคดีของนักกิจกรรมหลายรายที่ร่วมชุมนุมและแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์องค์กรตุลาการ โดยนับแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 64 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลแล้วอย่างน้อย 18 ราย ใน 14 คดี (สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564)

เนื่องจากข้อหานี้ศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวน และวินิจฉัยลงโทษผู้กระทำผิดได้เองทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้องเหมือนคดีทางอาญาอื่นๆ กระบวนการจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว 

.

.

ในเดือนที่ผ่านมา มีการนัดไต่สวนคดีทั้งหมด 8 คดี โดยมี 3 คดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว โดยล้วนเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดทั้งหมดอีกด้วย ได้แก่ คดีของ “ไบรท์”​ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี ซึ่งถูกกล่าวหาจากเหตุการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับแกนนำกลุ่มราษฎร ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ศาลได้ลงโทษจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา  โดยเห็นว่ามีการกล่าวถึงศาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย  เช่นเดียวกับ คดีของ “กระเดื่อง” พิสิฎฐ์กุล นักกิจกรรมกลุ่มศิลปะปลดแอก จากการชุมนุมในวันเดียวกัน ได้ถูกศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษเป็นเวลา 2 ปี 

หรือคดีของอะดิศักดิ์ สมบัติคำ หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีแตะไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งยืนบังการพิจารณาของเขาในห้องพิจารณาคดี ล่าสุดศาลเห็นว่ามีความผิด ให้ลงโทษปรับ 500 บาท

.

.

นอกจากนั้นยังมีคดีของเลิศศักดิ์-นวพล กรณีชุมนุมให้กำลังใจการสั่งฟ้องจำเลยคดีมาตรา 112 หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64, คดีของเบนจา, คดีของณัฐชนน, คดีของภัทรพงศ์ จากการชุมนุมวันที่ 29 เม.ย. 64 และ คดีของเบนจากับณัฐชนน จากการชุมนุมหน้าศาลอาญา วันที่ 30 เม.ย. 64 ที่มีนัดหมายไต่สวนเดือนที่ผ่านมา แต่ศาลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย 

ในคดีของเบนจา และคดีของณัฐชนน ผู้ถูกกล่าวหายังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าบทลงโทษในข้อหาละเมิดอำนาจศาลนี้ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อีกด้วย ทำให้ต้องจับตาคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน การสังเกตการณ์การไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลในเดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่าศาลมีมาตรการที่เข้มงวดอย่างมาก ทั้งการจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง บางคดีมีการอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ทำหนังสือแจ้งเรื่องขอเข้าสังเกตการณ์มาเท่านั้น ที่จะเข้าฟังการพิจารณาได้ และในทุกคดี ศาลได้มีการสั่งห้ามจดบันทึกในระหว่างไต่สวน โดยอ้างเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย มาตรการต่างๆ เหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะกระทบต่อหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและโปร่งใส โดยเฉพาะคดีละเมิดอำนาจศาลเอง ที่กล่าวได้ว่าศาลเป็น “คู่กรณี” ในคดีเองโดยตรง

นอกจากข้อหาละเมิดอำนาจศาล ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาลเพิ่มเติมอีก โดยเป็นกลุ่มเยาวชน 4 ราย ที่เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา ที่หน้าศาลอาญา ในจำนวนนี้ 3 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.พหลโยธิน ไปแล้ว 

สถานการณ์การไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล และคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกในทางวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรตุลาการจึงยังเป็นสถานการณ์ที่ยังต้องจับตาต่อไป

.

3. การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กล่าวหาผู้ชุมนุมทางการเมืองยังดำเนินต่อไป

ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน นับได้ว่าเป็นเวลารวม 15 เดือน หรือ 1 ปี 3 เดือนแล้ว ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด และข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาดำเนินคดีแกนนำและผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง  เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามในระยะเวลาดังกล่าว พบผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ จากการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 511 ราย คิดเป็นคดีกว่า 161 คดีแล้ว

.

.

ในเดือนที่ผ่านมา ตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อการชุมนุมในช่วงก่อนการระบาดของโควิดระลอกใหม่นี้เพิ่มอีก อาทิ ผู้ชุมนุม 5 ราย ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ จากการชุมนุม #Saveบางกลอย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ, ผู้ชุมนุม 4 ราย ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 64 ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้ชุมนุม 16 ราย ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 ที่หน้ารัฐสภา, ผู้ชุมนุม 4 ราย ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #รดน้ำกดหัวประยุทธ์ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

รวมไปถึงกลุ่มไทยไม่ทน นำโดยจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดชุมนุมที่สวนสันติพร ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 โดยมีการดำเนินคดีแยกเป็น 3 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 23 คน 

ในเดือนที่ผ่านมา พบว่ายังมีกรณีของผู้ชุมนุมกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ 2 ราย ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมแสดงพลังปกป้องสถาบันฯ ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 64 โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 กรณีนี้นับเป็นคดีแรกที่มีการดำเนินคดีต่อกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะปกป้องสถาบันกษัตริย์

กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถูกประกาศใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยังคงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคเกิดขึ้นเป็นคลัสเตอร์จากการชุมนุมแต่อย่างใด 

ขณะเดียวกันแม้จะมีแนวทางที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลำปาง มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีจากการชุมนุมในจังหวัดลำปาง เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมจัดขึ้นในพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ไม่พบการติดเชื้อไวรัสในท้องที่จังหวัด และยังเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่คดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อื่นๆ ก็ยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยจากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไปในแนวทางดังกล่าว และเดือนที่ผ่านมา ยังมีการทยอยสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป

.

ย้อนดูสรุปสถานการณ์เดือนก่อนหน้านี้

พฤษภาคม 64: ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองอย่างน้อย 679 รายแล้ว คดี ม.112 แนวโน้มสั่งฟ้องเร็ว ขณะคดีดูหมิ่นศาล/ละเมิดอำนาจศาลเพิ่มมากขึ้น

.

X