วานนี้ (23 มิ.ย.64) เวลา 13.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีต่ออานนท์ เหตุจากการโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
แจ้ง “ม.112 – พ.ร.บ.คอม” ระบุโพสต์วิจารณ์ม.112-สถาบัน มีเจตนามุ่งหมายให้ปปช. ดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์
เวลา 15.30 น. ที่บก.ปอท. อานนท์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร รอง สารวัตร (สอบสวน)ฯ ปรก.กก.3 บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่อานนท์ดังนี้
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหา ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้อง ทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับ ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นําภา” หลังเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 63 ผู้กล่าวหาได้ตรวจพบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นําภา” ได้โพสต์ 3 ข้อความ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
ข้อความแรก โพสต์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 64 มีเนื้อหาของข้อความได้วิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 ในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
“เสื่อมศรัทธาในระบอบกษัตริย์จะเป็นความผิดได้ยังไง คือต่อให้ดี เลว ขนาดไหนก็ต้องรักต้องศรัทธางั้นหรือ ? ผมว่า คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องนี้ รุ่นเก่าที่พอมีสติปัญญาก็คงไม่เชื่อเช่นกัน หมดสมัยกดหัวคนให้รักให้ศรัทธาด้วย 112 แล้ว”
ต่อมา ข้อความที่สองที่ถูกล่าวหานั้นโพสต์ในวันเดียวกัน (1 ม.ค. 64) โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า มาตรา 112 นั้นมีโทษที่สูงเกินไป และสังคมไม่ควรสยบยอมให้มาตรา 112 มาปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเป้นเรื่องที่ประชาชนทั่วย่อมสามารถพูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์ได้
“ตํารวจบอกว่าการทําให้คนเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์เป็นความผิด 112 ถ้าผมบอกว่า “กษัตริย์คนนี้ทําตัวขัด กับหลักการประชาธิปไตย เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย” แบบนี้คนใดได้ยินได้ฟังย่อมเสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์อย่างแน่นอน แต่ !! แบบนี้ ผมควรมีโทษจําคุก 3 – 15 ปี หรือ ? สังคมไม่ควรสยบยอมให้ 112 มาปิดปากการพูดถึงกษัตริย์ในแง่ไม่ดี ถ้าเรื่องนั้นเป็นความจริง และเป็นเรื่องสาธารณะ คนย่อมสามารถพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์ได้ และด่าได้ด้วย การยืนตัวตรงพูดความจริงคือสิ่งที่ต้องเป็นไป ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เข้าใจตรงกัน !!”
ข้อความที่สามที่ถูกกล่าวหานั้นโพสต์เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 64 เป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้ปกป้องสถาบันกษัตริย์
“ฝ่ายที่ออกมาต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นี้เขาไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเราจริงๆ หรือเป็นเพราะพอเป็นความคิดของฝ่ายเราเขาก็จะไม่เอาด้วยทุกเรื่อง ถ้าเรารณรงค์ให้คนสวมหน้ากากป้องกันโควิด พวกเขาจะรณรงค์สวนให้คนไม่ใส่หน้ากากมั้ย ? ผมว่าแทบจะเป็นข้อยุติแล้วว่าสถาบันกษัตริย์กําลังมีปัญหาและสร้างปัญหาหลายอย่างในสังคม อย่างน้อยก็น่าจะเห็นการใช้ชีวิตของคนในสถาบันกษัตริย์ที่ใช้เงินของรัฐอย่างสุรุ่ยสุร่าย (ลองนึก ภาพดูว่าถ้านายกหรือข้าราชการคนใดไปพักไปเช่าที่พักที่ทํางานอยู่เยอรมัน แล้วบินไปกลับ ขนคนไปรับใช้ที่นั่น แบบนี้สังคมจะยอมรับได้มั้ย ?) แต่ฝ่ายนั้นก็ยังหลับหูหลับตาเชียร์ และคอยเล่นงานคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อยู่ ปีนี้เราต้องทํางานให้หนักขึ้น ทั้งข้อมูลและเนื้อหาของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ ปีนี้ ช่วยๆ กันนะครับ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นและศรัทธา อานนท์ นําภา 3 มกราคม 2564”
จากการสืบสวนพบว่าอานนท์เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่ออานนท์ ได้แก่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามมาตรา 14 (3) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
อานนท์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา อีกทั้งให้การเพิ่มเติมว่า ทั้ง 3 โพสต์ดังกล่าวผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ก.ค. 64
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการรับทราบข้อหา พนักงานสอบสวนปล่อยตัวอานนท์ไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 นาย เดินมาส่งอานนท์จากบก.ปอท. ถึงบริเวณหน้าตึกของศูนย์ราชการ อาคาร B อ้างเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ต้องหา
.
ภาพเจ้าหน้าที่รปภ.เดินตามอานนท์เพื่อรักษาความปลอดภัย
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน (22 มิ.ย. 64) พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 101 คน ใน 98 คดี โดยในจำนวนนี้มี 45 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ
>> ‘ลูกเกด-ไมค์’ รับทราบข้อกล่าวหา 112 เหตุ ‘ราษฎรสาส์น’ โพสต์จดหมายถึงกษัตริย์
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64