‘ลูกเกด-ไมค์’ รับทราบข้อกล่าวหา 112 เหตุ ‘ราษฎรสาส์น’ โพสต์จดหมายถึงกษัตริย์

25 ม.ค. 64 เวลา 14.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียก ทั้งสองคดีมีสมาชิกของกลุ่ม ศชอ. เป็นผู้กล่าวหา จากกรณีการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63

ภาณุพงศ์และชลธิชา ได้รับหมายเรียกออกโดยพ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงค์ รองผู้บังคับการบก.ปอท. ลงวันที่ 18 ม.ค. 64 โดยคดีของภาณุพงศ์นี้มีนางแน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นผู้กล่าวหา และคดีของชลธิชามีนายนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหา

ในคดีของภาณุพงศ์ พ.ต.ต.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ และ ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร พนักงานสอบสวนจากกองกำกับการ 3 บก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 นางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ภาณุพงศ์ จาดนอก” ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “#คุณคิดว่า คุณยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย หรือศพของประชาชนแล้วคุณจะสง่างามหรอ #ประชาสาส์น #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (โดยระบุชื่อของกษัตริย์ในโพสต์ดังกล่าว)

ด้านคดีของชลธิชา มี พ.ต.ต.หญิง สุธัญดา เอมเอก และ ร.ต.อ.กรกฏ ศรนิกร พนักงานสอบสวนจากกองกำกับการ 3 ของบก.ปอท. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 นายนพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Chonticha Kate Jangrew” ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความ “ราษฎรสาส์น” 

ผู้กล่าวหาเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวมีส่วนที่เป็นข้อความซึ่งหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ฯ สองส่วน ได้แก่ ส่วนที่ว่าด้วยการใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ และการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ และส่วนที่ว่าด้วยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยการรับฟังเสียงโห่ร้องไม่พอใจของราษฎร

พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์มีเนื้อหากล่าวหา ใส่ความพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการสืบสวนน่าเชื่อว่าภาณุพงศ์เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ภาณุพงศ์ จากนอก” และ ชลธิชาเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “Chonticha Kate Jangrew”

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) ภาณุพงศ์และชลธิชาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าคณะทำงานที่ปรึกษากฎหมายของ บก.ปอท. มีคำสั่งให้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมทั้งสองคดีเป็นหนังสือภายใน 15 วัน ภาณุพงศ์จึงแสดงความประสงค์ขอดูคำสั่งฉบับดังกล่าว แต่พนักงานสอบสวนไม่นำมาแสดงอ้างว่าเป็นคำสั่งภายใน ภาณุพงศ์จึงให้การไว้ในคำให้การดังนี้

ข้าได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนนำคำสั่งของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ บก.ปอท. มาให้ดูแล้วแต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธไม่นำมาให้ข้าดูในวันนี้ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งภายใน ข้าฯ จึงขอยืนยันให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในราชอาณาจักรมีอัตราโทษสูงและมีข้อเท็จจริงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ผู้ต้องหาจึงมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 วรรคสอง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ผู้ต้องหาขอให้การเพิ่มเติมด้วยว่าขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นดังนี้

  1. ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เคยมีพระราชดำรัสสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 จริงหรือไม่  ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อใด มีข้อเท็จจริงรายละเอียดอย่างไร  ปัจจุบันยังมีพระราชดำรัสไม่ให้ใช้อยู่หรือไม่
  2. ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มอบอำนาจให้ผู้กล่าวหาในคดีนี้มาแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษหรือไม่
  3. ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรู้สึกว่าข้อความตามที่ข้าฯ ถูกกล่าวหานั้นพระองค์รู้สึกถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด

ผู้ต้องหาให้การต่อว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาในคดีนี้ เมื่อครั้งผู้ต้องหาดำรงตำแหน่งประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง

หลังจากการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ และจะนัดหมายให้มาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

สำหรับกิจกรรม #ราษฎรสาส์น เป็นการจัดการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 โดยมีการให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งจดหมาย ทำให้นักกิจกรรมมีการเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

จากการสืบค้นพบว่านางแน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งจังหวัดพิษณุโลกของพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีตำแหน่งเป็นประธานของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) และนายนพดล พรหมภาสิต มีตำแหน่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)  ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการดำเนินการไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในพื้นที่ต่างๆ 

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ที่กลับมามีการกล่าวหากันตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีอย่างน้อย 21 คดีแล้ว ที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และส่วนใหญ่พบว่าเป็นกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในลักษณะคัดค้านการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คณะราษฎร” อยู่แล้ว

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112 >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X