นศ.ม.รังสิตถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุแชร์คลิปการใช้พระราชอำนาจในดินแดนเยอรมนี

22 ม.ค. 64 เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “ฟรายเดย์” นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต วัย 23 ปี (นามสมมติ สงวนชื่อสกุลจริง) พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียก คดีมีเลขาธิการของกลุ่ม ศชอ. เป็นผู้กล่าวหา จากกรณีการแชร์คลิปวิดีโอ 2 คลิปในเฟซบุ๊ก ได้แก่ คลิปวิดีโอของคณะก้าวหน้าเรื่องการใช้พระราชอำนาจในดินแดนเยอรมนี และคลิปการฉีดน้ำความดันสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเขียนข้อความประกอบ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 64 “ฟรายเดย์” ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ของบก.ปอท. ลงวันที่ 7 ม.ค. 64 ให้ไปรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยคดีนี้มีนายนพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหา และมี พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงค์ รองผู้บังคับการบก.ปอท. เป็นผู้ออกหมายเรียก และยังเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน

ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พ.ต.ต.หญิง สุธัญดา เอมเอก และ ร.ต.ท.หญิง พรสถิตย บุราญรัตน์ พนักงานสอบสวนจากกองกำกับการ 3 ของบก.ปอท. ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ “ฟรายเดย์” โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 นายนพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษสามคำ ประกอบการแชร์คลิปวิดีโอของเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คณะก้าวหน้า – Progressive Movement” ซึ่งได้โพสต์ข้อความมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ไทยในดินแดนเยอรมนี พร้อมปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

และเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวยังได้โพสต์คลิปวิดีโอที่ถ่ายขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 63 ที่บริเวณสนามหลวง โดยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมลงข้อความภาษาไทยที่อาจตีความได้ว่าเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบ

พนักงานสอบสวนกล่าวหา ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์มีเนื้อหากล่าวหา ใส่ความพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการสืบสวนน่าเชื่อว่า “ฟรายเดย์” เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ “ฟรายเดย์” 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) โดยเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไป

พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวเอาไว้ โดยจะนัดหมายให้มาพบตำรวจต่อไป

จากการสืบค้นพบว่านายนพดล พรหมภาสิต มีตำแหน่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการดำเนินการไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในพื้นที่ต่างๆ ล่าสุดนายนพดลยังเป็นผู้กล่าวหาในคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งเพิ่งได้รับหมายเรียกในข้อหามาตรา 112 จาก บก.ปอท. เช่นกัน

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ที่กลับมามีการกล่าวหากันตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีอย่างน้อย 22 คดีแล้ว ที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และส่วนใหญ่พบว่าเป็นกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวในลักษณะคัดค้านการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “คณะราษฎร” อยู่แล้ว

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112 >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X