ตร.ปอท.แจ้งข้อหา ม.112 ‘เพนกวิน’ หลังสมาชิก ‘ศชอ.’ กล่าวหาเหตุโพสต์เรื่องเผาศพที่สนามหลวง-เหตุหย่าร้างสุจาริณี

วันนี้ (15 มิถุนายน 2564) เวลา 12.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 นายนพดล พรหมภาสิต สมาชิกของศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีต่อพริษฐ์ เหตุจากการโพสต์ 2 ข้อความในเฟซบุ๊กพาดพิงถึงการประกอบพิธีเผาศพที่สนามหลวง และข้อความเกี่ยวกับสาเหตุการหย่าร้างของสุจาริณี วิวัชรวงศ์ และรัชกาลที่ 10

เวลา 12.00 น. พริษฐ์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.หญิง รัฐฐานนท์ คชนนท์ รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่พริษฐ์ 

 

แจ้ง ม.112 จากเหตุโพสต์วิจารณ์กรณีการใช้พื้นที่สนามหลวง – เหตุหย่าร้างสุจาริณี

ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของพริษฐ์ พนักงานสอบสวนได้มีการตั้งกล้องวิดีโอบันทึกการสอบปากคำ และขอให้ผู้ไว้วางใจที่เข้าร่วมทุกคนลงบันทึกว่าเข้าร่วมการสอบสวน และทำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนด้วย

พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 64 นายนพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak”

สืบเนื่องมาจาก เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ปรากฏข้อความอันผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 โพสต์ ได้แก่ ข้อความแรก โพสต์เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63 ได้โพสต์รูปภาพพร้อมด้วยข้อความเกี่ยวกับการสามารถประกอบพิธีเผาศพที่สนามหลวง แต่ไม่สามารถเผากุ้งได้ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 31 ธ.ค. ดังกล่าว ได้มีเหตุการณ์ที่สมาชิกกลุ่ม We Volunteer ซึ่งทำกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ทำการจำหน่ายกุ้งเพื่อช่วยผู้ค้ากุ้งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมดำเนินคดีที่บริเวณสนามหลวง และอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

โพสต์ที่สองที่ถูกกล่าวหา ระบุว่าโพสต์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 มีข้อความพาดพิงเกี่ยวกับวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และสาเหตุการหย่าร้างของสุจาริณี วิวัชรวงศ์ (หรือยุวธิดา ผลประเสริฐ) กับกษัตริย์รัชกาลที่ 10 รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ ไม่ให้นำเงินภาษีของประชาชนไปโปรโมทแบรนด์เสื้อผ้าส่วนพระองค์ พร้อมทั้งแนบลิงค์ยูทูปคลิปเสียง “พี่รู้พี่มันเลว” ลงไปในโพสต์ดังกล่าว

ผู้กล่าวหาระบุว่าการโพสต์เฟซบุ๊กทั้ง 2 โพสต์ดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทําให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อพริษฐ์ ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ให้การเบื้องต้นในวันนี้ว่า ต้องการอ้างพยานเป็นอดีตหม่อมสุจารินี และท่านชายทั้ง 4 องค์ มาเป็นพยานในประเด็นว่า เหตุใดจึงต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ ใครมีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง และทั้ง 5 ประสงค์ที่จะกลับประเทศไทยหรือไม่ พร้อมจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 15 ก.ค. 64 

พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และให้ปล่อยตัวพริษฐ์ไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

การรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ นับเป็นคดีแรกที่พริษฐ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลังได้รับการประกันตัวจากการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดี MobFest เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 และเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 20 ซึ่งพริษฐ์ถูกกล่าวหาอีกด้วย

ทั้งนี้นายนพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหา มีตำแหน่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการดำเนินการไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

ในกรณีของนายนพดลยังเป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรมหลายรายไว้ที่ บก.ปอท. อาทิ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว จากกรณีการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” และกล่าวหา “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ จากการโพสต์วิจารณ์พาดพิงถึงการใช้ภาษีของกษัตริย์

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 100 คน ใน 97 คดี โดยในจำนวนนี้มี 44 คดีแล้วที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

 

X