13 มิ.ย. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของ “เวฟ” (นามสมมติ) ประชาชนจากนนทบุรีวัย 30 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์และโพสต์ข้อความประกอบในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการผลิตวัคซีนจากภาษีประชาชน ตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค. 2564
คดีนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในช่วงก่อนการสั่งฟ้อง โดยพบว่าคดีมี นพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเดิมสำนวนคดีเป็นของ สน.บางพลัด แต่ถูกโอนย้ายมาที่ บก.ปอท. และเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 “เวฟ” ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเองที่ บก.ปอท. เขาให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้
ตามตะวัน ยอแสงรัตน์ พนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 จําเลยได้เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ก โดยแชร์ภาพและช้อความเป็นสาธารณะ ปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 และมีข้อความในภาพระบุตั้งคำถามถึงการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทสยามไบโอไซน์
โจทก์กล่าวหาว่าข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยอาจจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยตามประมวลกฎหมายอาญา
หลังศาลอาญารับฟ้อง เวฟได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทนายความได้ยื่นประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ส.ค. 2566
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64