ฟ้อง ม.112 “อานนท์ นำภา” คดีที่ 11 เหตุโพสต์เฟซบุ๊กต้นปี 64 วิพากษ์ ร.10 ใช้อำนาจบริหารประเทศ  


17 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดถามคำให้การในคดีที่ “อานนท์ นำภา” ถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 โพสต์ ตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 

คดีนี้อานนท์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขณะถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ช่วงเดือน ก.ย. 2564 ก่อนอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 โดยไม่ได้นัดหมายอานนท์ให้ไปที่ศาลเพื่อส่งฟ้องด้วย แม้อานนท์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 โดยนับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 11 ที่อานนท์ถูกฟ้องต่อศาล

>>ปอท.แจ้ง 112 “อานนท์” คดีที่ 14 ในเรือนจำ ยก 2 โพสต์วิพากษ์ ร.10 ต้นปี 64 มาดำเนินคดี

ในนัดถามคำให้การนี้ อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เวลา 13.30 น.

อย่างไรก็ตาม อานนท์ต้องรออยู่ในห้องควบคุมตัวตลอดทั้งวัน ระหว่างที่นายประกันยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณา โดยในครั้งแรกทนายได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท แต่ศาลได้สั่งให้ยื่นหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท แล้วจะพิจารณาคำร้องอีกครั้งหนึ่ง นายประกันจึงต้องยื่นประกันครั้งที่ 2 โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

เวลา 17.00 น. ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไข 5 ข้อ ได้แก่ 1.ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหา 2.ห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3.ห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล 4.ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 5.ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

คดีนี้ ณัฐพล รัตนทัศนีย์ พนักงานอัยการ บรรยายพฤติการณ์คดีในคำฟ้องว่า

1. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 อานนท์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” ว่า “การที่ในหลวงวชิราลงกรณ์ลงมาบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง นี่ขัดกับหลักประชาธิปไตยแน่ๆ ไม่มีใครบอกเลยหรือว่ามันผิด และถ้าไม่มีใครบอก ก็จะทําผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาพูด ก็โดน 112 แบบนี้ สังคมมีแต่จะพากันเดินลงเหว”

การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงใช้พระราชอํานาจเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินด้วยตนเอง ซึ่งขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เมื่อประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นก็จะถูกดําเนินคดีอาญาให้ได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทําให้สังคมตกต่ำลง 

2. เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 อานนท์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “อานนท์ นำภา” ว่า “ย้ายลูกจากอัยการไปเป็นทหาร นี่แหละตัวอย่างของการทําตัวอยู่เหนือระบบระบอบทั้งปวง ทําอะไรตามใจ และใช้อํานาจบริหารประเทศอย่างแท้จริง ไม่ทําตนให้เป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย แล้วจะให้คนเคารพในฐานะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม ก่อนที่จะชิบหายไปมากกว่านี้”

การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับโอนข้าราชการฝ่ายอัยการเป็นข้าราชการในพระองค์ ฝ่ายทหาร และพระราชทานพระยศทหารให้ พลโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สํานักงานอัยการภาค 2 สํานักงานอัยการสูงสุด มาทรงดํารงตําแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) และพระราชทานพระยศเป็นพลเอกหญิง เป็นการทรงใช้พระราชอํานาจบริหารประเทศตามอําเภอใจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ในการโยกย้ายดังกล่าว เป็นกษัตริย์ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 

อัยการระบุว่า ข้อความทั้ง 2 เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่10 โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้ายและทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 

ทั้งนี้ อัยการโจทก์ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ในชั้นพิจารณา โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

อัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของอานนท์ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 และคดีอื่นๆ ที่ฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้วในศาลอาญา, ศาลอาญากรุงเทพใต้, ศาลแขวงดุสิต และศาลแขวงปทุมวัน รวม 16 คดี

X