30 พ.ค. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4) มีคำสั่งฟ้องคดีของ “ต้นไผ่” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 41 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวน 2 คดี กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” และบัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” และ “Guillotine2475” โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565
โพสต์ที่ต้นไผ่ถูกกล่าวหามีทั้งข้อความวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีประชาชน และพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 10 รวม 2 คดี ถึง 20 ข้อความ
สำหรับคดีแรกมี พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด และคดีที่สองมี พ.ต.ท.แทน ไชยแสง เป็นผู้กล่าวหา คดีละ 10 ข้อความ โดยต้นไผ่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 และ 21 เม.ย. 2565 ตามลำดับ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 ต้นไผ่ยังเคยถูกจับกุมในทั้งสองคดีนี้ ตามหมายจับของศาลอาญา คือ หมายจับศาลอาญาที่ 346/2566 และ 347/2566 เนื่องจากไปปรากฎตัวที่บริเวณอาคารพิทักษ์สันติ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
.
อัยการสั่งฟ้อง 2 คดี รวม 20 กรรม ระบุการกระทำของจำเลยเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับในคำฟ้องคดีแรก ชฎาภา รุ่งเรือง เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง ได้กล่าวเกริ่นว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ 5 ข้อความ และใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” โพสต์ข้อความประกอบภาพในทำนองเดียวกันกับโพสต์เฟซบุ๊กข้างต้น 5 ข้อความ
สำหรับในคำฟ้องคดีที่สอง วิชชากร สุขานุสาสน์ เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง ได้กล่าวเกริ่นเช่นเดียวกับคำฟ้องในคดีแรก และคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine2475” โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ 10 ข้อความ
โดยสรุปในทั้งสองคดี พนักงานอัยการบรรยายว่า การกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างที่จำเลยใส่ความ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง
อัยการระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ต่อมาเวลา 18.16 น. ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวต้นไผ่ในระหว่างพิจารณาคดี ระบุเงื่อนไขประกันตัว ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง หรือกระทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกในทุกด้าน มิเช่นนั้นจะผิดสัญญาประกัน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินคดีละ 90,000 บาท รวม 180,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
.
ดูสถิติผู้ถูกดำเนินคดี >>> ลำดับที่ 212 และ 213 ใน สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-66