*อัพเดตเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 64
9 – 10 และ 15 มิ.ย. 64 ที่ สถานีตำรวจนครบาลบางโพ นักกิจกรรมและประชาชน รวม 16 ราย ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาตฯ จากกรณีร่วมกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #ม็อบ20กุมภา ที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
นักกิจกรรมหลายคนทยอยได้รับหมายเรียกจาก สน.บางโพ ลงวันที่ 25 พ.ค. 64 ในคดีที่ระบุว่ามี พ.ต.ท.บำเพ็ญ นามฉวี เป็นผู้กล่าวหา
ก่อนทราบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 16 ราย โดย วันที่ 9 – 10 ก.พ. ที่ผ่านมามีผู้เดินทางรับทราบข้อหา 13 ราย และในวันที่ 15 มิ.ย. 64 มีผู้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาอีก 3 ราย
สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีนี้ทั้งหมด 16 ราย ได้แก่ “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, เซีย จำปาทอง, ธนชัย เอื้อฤาชา, สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า, สุวรรณา ตาลเหล็ก, นันทพงศ์ ปานมาศ, ทวีชัย มีมุ่งธรรม, ซูกริฟฟี่ ลาเตะ, เบนจา อะปัญ, ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และศุภณัฐ กิ่งแก้ว
ตร.แจ้ง 3 ข้อหา ฝ่าฝืน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ม.215-พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา”
ร.ต.ท.ชัชวาลย์ นิยมชาติ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.บางโพ ได้บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรมชุมนุมเกี่ยวกับ “อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา” โดยการชุมนุมมีลักษณะเกี่ยวกับการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ในบริเวณพื้นที่หน้าที่ทําการรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย)
จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ในวันดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 15.00 – 22.45 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก และอยู่อย่างแออัดในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และมีโอกาสสัมผัสกันได้โดยง่าย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ ทั้งยังมีการกล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
รวมถึงการชุมนุมดังกล่าวมีคนเข้าชุมนุมจํานวนมากเป็นการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันมีลักษณะเป็นการกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เนื่องจากทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย และประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาโดยสะดวก
จากพฤติการณ์และการกระทําดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นการกระทําความผิด พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่
- ร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการ แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด ที่ออกตามข้อ 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เรื่อง ห้ามชุมนุม ทํากิจกรรม การมั่วสุม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
- ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นใน บ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
- ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา มาตรา 8
ขณะที่ “รุ้ง” ปนัสยา ไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 13 ราย และอีก 3 รายที่เพิ่งรับทราบข้อกล่าวหา ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ พนักงานสอบสวนได้นัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 มิ.ย. 64 เวลา 09.30 น.
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากมาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้
สำหรับกิจกรรม #ม็อบ20กุมภา ที่หน้ารัฐสภาเกียกกายนั้น มีการปราศรัยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐสภาที่ด้านนอกรัฐสภา โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยก่อนยุติกิจกรรม ยังมีการอ่านจดหมาย “หมุดหมายการต่อสู้ครั้งต่อไปของพวกเรา” เพื่อชี้ว่าประชาชนไม่สามารถให้ความหวังกับการเมืองในระบอบรัฐสภา พร้อมกับขอให้ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร และโปรย “ตั๋วช้าง” ด้านหน้ารัฐสภา