29 ก.ค. 2564 เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของ 6 นักกิจกรรม ได้แก่ ‘ลูกตาล’ สุวรรณา ตาลเหล็ก, ‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ชาติชาย แกดำ, ณรงค์ ดวงแก้ว และ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีการร่วมกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
คดีนี้มี พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับสืบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย (Mahanakorn for Democracy Group – MDG) และ มอกะเสด (KU Daily) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย ทางแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมแต่งกายเป็นพ่อมด แม่มด เหมือนตัวละครในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ นำหุ่นฟางใส่ชุดพ่อมดติดภาพโวลเดอร์มอร์ ซึ่งเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์ และมีการแจกไม้วิเศษ ก่อนที่อานนท์ นำภา จะเป็นผู้ปราศรัยปิดท้าย ในประเด็นปัญหาเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน พร้อมประกาศข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถานะของสถาบันกษัตริย์
นายวรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย พนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 คน โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 จําเลยทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นแกนนํากลุ่มเครือข่ายต่างๆ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ หรือเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มชุมนุมสาธารณะ ร่วมกับ นายอานนท์ นําภา พวกของจําเลย ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีที่ศาลอาญา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ชุมนุมเพื่อขับไล่จอมวายร้าย และปกป้องประชาธิปไตย ด้วยการร่วมกัน เสกคาถาผู้พิทักษ์ เพื่อปกป้อง ประชาธิปไตย และขับไล่อํานาจมืด จากคนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการตั้งเวทีปราศรัยอยู่บริเวณทางเท้าฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนินกลาง
พวกจำเลยชักชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมรับฟังการปราศรัย โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร หัวหน้าสถานีตํารวจนครบาลชนะสงคราม เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่าการจัดการชุมนุมต้องให้ความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ข้อความหรือป้ายต่างๆ ต้องเป็นข้อความที่ไม่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นผู้อื่น และต้องไม่ยุยงปลุกระดม ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
จําเลยทั้งหกกันพวก ได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีพูดร้องเพลงปราศรัยโจมตีรัฐบาลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พวกของจําเลยยังมีการพูดพาดพิงโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนฟังแล้วเกิดความรู้สึกเกลียดชัง ต่อต้าน ไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐบาล ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมชุมนุมและรับฟังปราศรัยจํานวนมาก ประมาณ 200-300 คน ยืนกันหนาแน่นแออัด ไม่เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร ผู้ใช้ทางเท้าได้รับความเดือดร้อน ไม่สะดวกในการสัญจรผ่านตามปกติ
ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมมีลักษณะสนใจฟังและคล้อยตามคําพูดของจําเลยทั้ง 6 กับพวก มีการร่วมกันปรบมือ ตะโกนโฮ่ร้อง แสดงความพึงพอใจ ผู้ชุมนุมมีการถือป้ายแสดงข้อความต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นรัฐบาล สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ได้รับความเสียหาย ยุยงเสียดสีบุคคล ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทั้งจําเลยทั้ง 6 กับพวกไม่จัดให้มีมาตราการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกําหนด จึงเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
พนักงานอัยการได้ฟ้องทั้ง 6 คน ในสามข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
อัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษ ‘ลูกเกด’ ชลธิชา ต่อจากคดี UN ส่วนของแกนนำ และคดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิวันที่ 18 และ 21 ต.ค. 2563 ขณะที่สุวรรณา ขอให้นับโทษต่อจากคดีชุมนุมม็อบมุ้งมิ้ง หน้ากองทัพบก และ ‘มายด์’ ภัสราวลี อัยการขอให้นับโทษต่อจากคดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 21 ต.ค. 2563 และม็อบหน้าสถานทูตเยอรมัน 26 ต.ค. 2563
หลังศาลแขวงดุสิตรับฟ้องคดีไว้ ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ และให้สาบานตนว่าจะมาตามนัดของศาล พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไป ในวันที่ 15 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น.
ในส่วนของอานนท์ นำภา ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา 112 และ มาตรา 116 จากการชุมนุมครั้งนี้ ได้ถูกดำเนินคดีแยกเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญา และมีกำหนดนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีในวันที่ 4 ส.ค. 2564
น่าสังเกตว่าในคดีนี้ อัยการได้มีการฟ้องทั้งในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาพร้อมกัน ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการใช้อำนาจตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออก ข้อกำหนดฉบับที่ 13 ที่ระบุให้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ทำให้เกิดความคลุมเครือและปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายสองฉบับ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปพร้อมกัน และยังไม่มีแนวทางการตีความจากศาลที่แน่ชัดจนถึงปัจจุบัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดคำให้การ “ทนายอานนท์” คดีแฮรี่ พอตเตอร์ หลังถูกแจ้งเพิ่ม ม.112 ย้ำเจตนารมณ์อยากเห็นสถาบันกษัตริย์ อยู่อย่างสง่างาม
ประชาชน-น.ศ. 6 คน คดีชุมนุมแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เข้ารับทราบ 3 ข้อกล่าวหา