วานนี้ (18 ก.ค. 64) เวลาประมาณ 20.00 น. นายธนเดช ศรีสงคราม หรือ “ม่อน อาชีวะ” แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ถูกจับกุมบริเวณหน้า สน.บางเขน โดยชุดจับกุมนำโดย พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ ธนศภณัฏฐ์ ผกก.กก.สส.2 ระบุว่า ธนเดชมีหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 336/2564 ลงวันที่ 18 ก.ค. 64 เหตุจากการชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ให้กับประชาชน ที่บริเวณหน้ากระทรวงสาธารณสุข ในฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมมากกว่า 10 คน โดยมีอาวุธ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ธนเดชถูกควบคุมตัวมาทำบันทึกจับกุมที่ สน.บางเขน โดยมีประชาชนอีก 11 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย ร่วมเดินทางมาที่ สน.ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางมาถึง สน. เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับควบคุมตัวทั้งหมดไว้ อ้างว่า พบภาพทั้ง 11 รายเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยในครั้งแรกตำรวจแจ้งว่า จะทำประวัติแล้วปล่อยกลับบ้าน แต่ต่อมากลับมีการทำบันทึกการจับกุมและให้ทั้งหมดลงชื่อโดยไม่ได้ให้อ่านข้อความให้ฟัง พร้อมทั้งแจ้งว่า จะควบคุมตัวไปที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ติดตามจับกุมเพื่อนของธนเดชและแฟน ซึ่งขับรถของธนเดชกลับบ้านที่นนทบุรี ก่อนควบคุมตัวทั้งสองมาที่ สน.บางเขน รวมมีผู้ถูกจับกุม 14 คน ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่ ตชด.ภาค 1 ในเวลาประมาณ 01.00 น.
ทั้งนี้ กรณีการจับกุมประชาชน 13 ราย ซึ่งไม่มีหมายจับ โดยอ้างเหตุจากการชุมนุมในช่วงเย็นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการจับกุมซึ่งหน้าขณะเกิดเหตุ เข้าข่ายเป็นการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา เวลาประมาณ 03.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับแจ้งถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสายสืบเข้าจับกุมประชาชนอีก 1 ราย ที่ห้องพัก โดยช่วงแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้ทั้งสามเข้ามอบตัว จากกรณีเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา แต่ไม่มีหมายจับ ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีหมายจับของนายดนตรี มีเท่า จึงแสดงหมายจับที่ 338/2564 ลงวันที่ 18 ก.ค. 64 และเข้าจับกุมในเวลา 04.00 น. ต่อมา ทนายความเครือข่ายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามไปที่บ้านพักของดนตรี ก่อนที่ตำรวจจะควบคุมตัวดนตรีมาที่สภ.เมืองนนทบุรี
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 ได้ระบุไว้ว่า ” ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า มีผู้ถูกจับกุมอีก 4 รายหลังการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดย 2 รายถูกจับกุมบริเวณแยกยมราช ส่วนอีก 2 รายนั้นถูกควบคุมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดว่าทั้งสี่ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ ในเช้าวันที่ 19 ก.ค. 64 วีรภาพ วงษ์สมาน ยังได้เข้ามอบตัวในคดีมาตรา 116 จากการชุมนุมหน้ากระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน ทำให้ในช่วงคืนวันที่ 18 ก.ค. จนถึงเช้ามืดวันที่ 19 ก.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม อย่างน้อยทั้งหมด 20 ราย แบ่งเป็น ผู้จับกุม 18 ราย และผู้ที่เดินทางมามอบตัวอีก 2 ราย
.
จับกุม “ม่อน อาชีวะ” เหตุชุมนุมเรียกร้องวัคซีน mRNA หลังวันเกิดเหตุ ได้รับบาดเจ็บใต้คิ้วขวาแตก
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 64 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา หน้ากระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามควบคุมตัวแกนนำการชุมนุม เช่น “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และธนเดช แต่เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนและตำรวจ ทำให้ธนเดชได้รับบาดเจ็บคิ้วขวาแตก ต้องนำตัวส่งตัวส่งโรงพยาบาล ในขณะที่ชินวัตร และสุเทพ แซ่ลิ้ม ถูกคุมตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองห้า ก่อนที่ทั้งสองจะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีฝากขัง แต่ศาลให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
หลังจับกุมธนเดชและควบคุมตัวมาที่ สน.บางเขน ตำรวจได้ทำบันทึกจับกุมได้บรรยายพฤติการณ์ในการจับกุมโดยสรุปว่า
เมื่อ 18 ก.ค. 64 เวลา 19.00 น. ก่อนทําการจับกุมเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมรับได้แจ้งจากสายลับว่า ธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 336/2564 ลงวันที่ 18 ก.ค. 64 มาร่วมชุมนุมที่บริเวณแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเวลา ประมาณ 15.00 น. จากนั้นธนเดชกับกลุ่มเพื่อนได้เดินทางพร้อมขบวนผู้ชุมนุมมายังบริเวณแยกนางเลิ้งใกล้ทําเนียบรัฐบาล โดยใช้รถยนต์ฟอร์ต สีเทาดํา เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้เดินทางมาตรวจสอบ พบธนเดชบริเวณแยกสนามม้านางเลิ้ง
ต่อมาสายลับได้แจ้งอีกว่า ธนเดชได้เดินขึ้นรถยนต์คันดังกล่าวออกจากบริเวณแยกสนามม้านางเลิ้ง มุ่งหน้าแยกยมราช เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจึงได้แจ้งให้กับผู้บังคับบัญชาทราบและออกติดตามเรื่อยมา โดยใช้เส้นทางถนนเพชรบุรี มุ่งหน้าประตูน้ำ สามเหลี่ยมดินแดง ใช้ถนนวิภาวดีขาออก กลับรถที่หลักสี่ มุ่งหน้าถนนรามอินทรา จนกระทั่งถึงบริเวณหน้า สน.บางเขน รถยนต์คันดังกล่าวได้หยุดบริเวณริมถนนหน้า สน.บางเขน ชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจ และแสดงหมายจับให้ธนเดชดู
ชั้นจับกุม ธนเดชให้การปฏิเสธ และไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุมข้างต้น
.
จับประชาชน 11 ราย ไม่มีหมายจับ และไม่ได้กระทำผิดซึ่งหน้า
กรณีการควบคุมตัวประชาชนอีก 11 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 4 ราย และ 6 ราย อายุ 18-20 ปี ส่วนอีกรายเป็นคนขับรถ อายุ 27 ปี เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกการจับกุมของเยาวชน 4 คน แยกต่างหาก แต่ระบุพฤติการณ์การจับกุมเช่นเดียวกันว่า
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทําการสืบสวนติดตามจับกุม นายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี จึงได้ออกสืบสวน ติดตามจับกุมธนเดช จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้พบธนเดช มาเข้าร่วมการชุมนุมพร้อมกับผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงได้ทําการติดตามพฤติการณ์โดยตลอดว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดได้กระทําการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายโดยร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงกับการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด
จากนั้นจึงได้ติดตามเฝ้าดูพฤติการณ์โดยตลอดจนกระทั่งผู้ต้องหาทั้งหมดออกจากพื้นที่ชุมนุมเวลาประมาณ 19.00 น. โดยสารมากับรถยนต์ฟอร์ด สีเทาดํา เดินทางมุ่งหน้าถนนพหลโยธิน เจ้าหน้าที่จึงได้ติดตามจนถึงบริเวณหน้า สน.บางเขน รถยนต์คันดังกล่าวได้หยุดบริเวณริมถนน ชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจและแสดงหมายจับเข้าจับกุมธนเดช
ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 11 คน เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมพบพฤติการณ์การกระทําความผิดซึ่งหน้า กรณีเข้าร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมายจึงได้ทําการจับกุมโดยกล่าวหาว่า “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด” (ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง) เพื่อนำส่งพนักงานสอบสวน สน.สําราญราษฎร์
ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สน.สําราญราษฎร์ ว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางเข้าไปยังที่ สน.สําราญราษฎร์ เกรงว่าจะมีการปิดล้อมและกดดันให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา และอาจมีการก่อเหตุร้ายขึ้น จึงขอให้นําตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปส่งที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี ซึ่งได้ขอไว้เป็นที่ทําการของพนักงานสอบสวน
หลังจากจัดทำบันทึกจับกุมแล้ว ตำรวจได้นำมาให้ทั้งหมดลงชื่อโดยไม่ได้แจ้งว่าเป็นเอกสารอะไร รวมถึงไม่ได้ให้อ่าน หรืออ่านให้ฟัง
.
จับประชาชนอีก 2 ราย หลังติดตามขณะทั้งสองขับรถ “ม่อน อาชีวะ” กลับบ้าน
ในส่วนของนิว (นามสมมติ) อายุ 43 ปี และเกด (นามสมมติ) ซึ่งขับรถของธนเดชกลับบ้าน และถูกตำรวจติดตามจับกุมมาที่ สน.บางเขน โดยชุดจับกุมจากกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 (บก.สปพ.) นำโดย พ.ต.ท.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ รอง ผกก.สายตรวจฯ เมื่อถึง สน.บางเขน เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกการจับกุมในเวลา 21.00 น. โดยแจ้งข้อกล่าวหาให้ทั้งสองทราบว่า “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” รวมทั้งได้แจ้งข้อกล่าวหานิวอีก 1 ข้อหา คือ “พาอาวุธ (มีด) ไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร”
ตำรวจบรรยายพฤติการณ์ในการจับกุมโดยสรุปว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่า นิวและเกดเดินทางออกจากบ้านที่เมืองทองธานีด้วยแท็กซี่ มาที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่มีการชุมนุม จากนั้นธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลนนทบุรีได้มาพูดคุยกับทั้งสองคนโดยมีเจ้าหน้าที่ตํารวจติดตามตลอดเวลา ต่อมามีนายบีม ไม่ทราบนามสกุล เดินเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย
จนเวลาประมาณ 18.50 น. นิว, เกด และบีม เดินมาที่รถยนต์ของธนเดชที่จอดทิ้งไว้ใกล้กับวัดบวรฯ และขับออกไปขึ้นสะพานปิ่นเกล้า มุ่งหน้าเข้าไปส่งนายบีมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จากนั้นกลับรถออกจากหมู่บ้าน ขับรถด้วยความเร็วต่ำ และวนเข้าไปกลับรถในวัดอัมพวัน ซึ่งเป็นซอยตัน ลักษณะเป็นพิรุธคล้ายจะทําการหลบหนี ชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจ แสดงบัตร และขอทําการตรวจค้น ผลการตรวจค้น พบบัตรของธนเดช, อาวุธมีดยาว 1 ฟุต จํานวน 2 เล่ม และหัวน็อตสีเงินเงาและสีดำ 26 อัน จากใต้ที่นั่งเบาะหลัง จึงตรวจยึดเป็นของกลาง พร้อมทั้งตรวจยึดรถกระบะคันดังกล่าว และโทรศัพท์มือถือของนิวและเกด
ในชั้นจับกุมนี้ นิวและเกดได้ให้การโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมว่า พวกตนเดินทางมาร่วมชุมชนตามที่ได้รับข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อถึงที่ชุมนุมได้พบธนเดชจึงพูดคุยกัน ทั้งสองเคยพบธนเดชมาแล้ว 3-4 ครั้ง และมีแนวความคิดไม่ชอบรัฐบาลคล้ายกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ทํางานหยุด พวกตนไม่มีงานทํา อีกทั้งรัฐบาลยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนโควิด-19 จนทําเกิดการระบาดอย่างรุนแรง
และเมื่อจะกลับจากที่ชุมนุม เนื่องจากใกล้เคอร์ฟิว ธนเดชจึงได้ให้พวกตนยืมรถขับกลับ และธนเดชจะให้น้องมาขับรถกลับไปอีกที ขณะนั้นบีม ซึ่งตนได้รู้จักกันในที่ชุมนุม ได้ขอเดินทางกลับด้วย หลังจากส่งบีมแล้ว พวกตนเดินทางกลับบ้านโดยหลงทางบริเวณวัดอัมพวัน จนถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจแสดงตัวตรวจค้นและจับกุม ซึ่งอาวุธมีดและหัวน็อตซึ่งพบในรถเป็นของธนเดชเจ้าของรถ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองปฏิเสธที่จะลงชื่อในท้ายบันทึกการจับกุม
ทั้งนี้ ในขณะที่นิวและเกดถูกควบคุมตัวมาถึง สน.บางเขน ตำรวจได้แยกทั้งสองออกจากกลุ่มของธนเดช ไม่ได้ให้พบกัน ทำให้ทนายความซึ่งเดินทางมาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ธนเดช ไม่ได้พบกับทั้งสอง และไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการทำบันทึกจับกุมดังกล่าว
.
แจ้งข้อกล่าวหา 9 ราย เพิ่มเติมที่ ตชด. ฐาน ชุมนุมมากกว่า 5 คนในเขตกรุงเทพฯ – กีดขวางทางสาธารณะ/การจราจร
หลังการทำบันทึกจับกุมธนเดช กลุ่มเยาวชนและผู้ชุมนุม รวมทั้งนิวและเกด เสร็จ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้ง 14 คน ไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 โดยอ้างเหตุว่า การนำไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจท้องที่คือ สภ.เมืองนนทบุรี และ สน.สำราญราษฎร์ จะมีผู้ชุมนุมติดตามไปกดดันตำรวจให้ปล่อยผู้ถูกจับกุม รวมถึงก่อเหตุร้ายอื่น ก่อนขึ้นรถ เจ้าหน้าที่ได้ยึด โทรศัพท์ บุหรี่ ไฟแช็ค ใส่ถุงพลาสติก และเมื่อเดินทางถึง บก.ตชด.ภาค 1 ในเวลาประมาณ 01.00 น. ตำรวจยังให้ทุกคนเขียนชื่อ ที่อยู่ และชื่อพ่อแม่
รุ่งเช้าวันนี้ (19 ก.ค. 64) เวลาประมาณ 06.30 น. ทนายความจึงเดินทางติดตามไปถึง จากนั้นพนักงานสอบสวนยังได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจากเหตุการชุมนุมวันที่ 18 ก.ค. 64 ที่ไม่ใช่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 9 ราย ในข้อหา ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมในสถานที่แออัด ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกําหนด ฝ่าฝืนข้อกําหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธ.ค. 63 ข้อ 3, ร่วมกันชุมนุมที่มีการรวมคนมากกว่า 5 คนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 ข้อ 3 วรรคสาม, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบกฯ มาตรา 114
ทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยให้การด้วยว่า พวกตนถูกจับกุมที่หน้า สน.บางเขน จึงไม่ใช่เป็นการจับกุมขณะกระทําความผิดซึ่งหน้าตามที่ถูกกล่าวหา และในขณะจับกุมไม่มีทนายความจึงได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้โต้แย้งว่าเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งหมดจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 6 ส.ค. 64
นอกจากนี้ ชัย (นามสมมติ) อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นผู้ขับรถกระบะพาธนเดช พร้อมทั้งกลุ่มเยาวชน 10 คน ออกจากที่ชุมนุม ได้ให้การว่า ตนไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ตามวันและเวลาที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกจับกุมที่หน้า สน.บางเขน ขณะไปส่งคนรู้จัก ในส่วนของรถกระบะที่ตํารวจชุดจับกุมทําการตรวจยึดนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อ ซึ่งพ่อได้มอบการครอบครองให้ตนนํามาใช้ในการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป โดยรับส่งพัสดุของบริษัท ลาล่ามูฟ รวมถึงหากมีใครว่าจ้างให้รับส่งหรือขนของในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ตนก็ใช้รถคันดังกล่าว
.
จับ “ดนตรี” กลางดึกในห้องพัก เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา ทวงวัคซีน mRNA ด้านวีรภาพเดินทางเข้ามอบตัวเช้าวันที่ 19 ก.ค.
เวลา 03.00 น. ของเช้ามืดวันที่ 19 ก.ค. 64 ศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบไปหาที่บ้านพักของดนตรี มีเท่า โดยกดดันให้ดนตรีและเพื่อนอีก 2 คน เข้ามอบตัวในคดีมาตรา 116 จากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องวัคซีน mRNA ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีหมายจับ อย่างไรก็ตาม ดนตรีได้ติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์ทนายความฯ เวลา 04.00 น. หลังพ้นกำหนดเคอร์ฟิว ทนายความเครือข่ายจากศูนย์ทนายความฯ จึงได้ติดตามไปที่บ้านพักของดนตรี และพาดนตรีเข้ามอบตัวกับตำรวจที่เฝ้าอยู่ด้านล่างที่พัก ตำรวจจึงแสดงหมายจับที่ 338/2564 ลงวันที่ 18 ก.ค. 64 ก่อนจะควบคุมตัวดนตรีมาที่ สภ.เมืองนนทบุรี
สำหรับบันทึกจับกุมบรรยายพฤติการณ์การจับกุมนายดนตรีโดยย่อว่า เจ้าพนักงานชุดจับกุมได้รับแจ้งจากสายลับว่า นายดนตรี มีเท่า ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 338/2564 อาศัยอยู่ที่ห้องพักแห่งหนึ่ง เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจึงเดินทางมาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณชั้นล่างของห้องพัก ก่อนที่ นายดนตรีทราบว่าตนมีหมายจับ และประสานทนายความเข้ามอบตัวกับเจ้าพนักงานตำรวจที่ชั้นล่างของห้องพัก ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจได้นำตัวดนตรีมาทำบันทึกจับกุม และส่งตัวพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรีต่อไป
ต่อมา ในเช้าวันที่ 19 ก.ค. 64 ตำรวจได้ควบคุมตัวธนเดชจาก บก.ตชด.ภาค 1 มาที่ สภ.เมืองนนทบุรี นอกจากนี้ วีรภาพ วงษ์สมาน ซึ่งคาดว่า ตนเองถูกออกหมายจับจากกรณีดังกล่าวเช่นกัน หลังเดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตตามนัดของพนักงานสอบสวน เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมกับสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 64 หน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ได้เดินทางพร้อมทนายความไปที่ สภ.เมืองนนทบุรี ทันที เพื่อตรวจสอบหมายจับ และมอบตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 337/2564 ลงวันที่ 18 ก.ค. 64 เช่นเดียวกับธนเดชและดนตรี
โดยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรีได้แจ้งข้อกล่าวหาธนเดช, ดนตรี และวีรภาพ รวม 5 ข้อหา ได้แก่ “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, “ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมมากกว่า 10 คน โดยมีอาวุธ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, “ร่วมกันทำร้ายร่างการเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง
ในวันนี้ (19 ก.ค. 64) พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยังได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมของกลุ่ม “ไทยไม่ทน” เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 64 หรือการชุมนุม #ม็อบ5เมษา ที่สวนสันติพร แก่ธนเดชด้วย โดยธนเดชได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นกัน
.
ศาลให้ประกันตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 16 ราย
เวลาประมาณ 11.15 น. หลังพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมประชาชน 9 ราย ที่ถูกจับกุมกรณีการชุมนุม 18 ก.ค. 64 และสอบคำให้การเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนได้ขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังประชาชนทั้ง 9 ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จาก บก.ตชด.ภาค 1 โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแบบไม่วางหลักประกัน
ประมาณ 16.00 น. ศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวประชาชนทั้ง 9 ราย แต่ให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท ทนายความจึงใช้เงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์รวม 180,000 บาท วางเป็นหลักประกัน โดยศาลกำหนดนัดรายงานตัวที่งานรับฟ้องในวันที่ 6 ส.ค. 64 เวลา 09.00 น.
สำหรับ เยาวชนอีก 4 รายที่ถูกจับกุมในคดีชุมนุม 18 ก.ค. 64 พนักงานสอบสวนได้ส่งตัวทั้งสี่ไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัวทั้งสี่ไว้ระหว่างการสอบสวน แต่อนุญาตให้ประกันตัวเยาวชนทั้ง 4 โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ถ้าหากผิดสัญญาประกัน จะปรับเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท
ส่วนกรณีการจับกุมจากการชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรีได้ขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีฝากขังผู้ต้องหาทั้งสาม ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ต่อมา ศาลจังหวัดนนทบุรีอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 120,00 บาท รวมใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกันอีก 360,000 บาท โดยศาลกำหนดนัดให้รายงานตัวในวันที่ 11 ก.ย. 64 เวลา 08.30 น. ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี
จากการจับกุมครั้งนี้ในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชม. ต้องใช้เงินประกันเป็นจำนวนถึง 540,000 บาท
สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 จัดขึ้นเพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ ประยุทธ์ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข, ปรับลดงบสถาบัน-กองทัพ, และเรียกร้องขอวัคซีน MRNA อย่างไรก็ตาม พบเหตุการณ์คุกคามอย่างกว้างขวางทั้งก่อนและขณะการชุมนุม กล่าวคือ ตั้งแต่ก่อนเริ่มการชุมนุม ราว 11.45 น. พบเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเจ้าของหอพักไปสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย พร้อมกับยึดอุปกรณ์ประกอบการชุมนุม เช่น หุ่นล้อเลียน หุ่นฟาง จากห้องพักดังกล่าว ทั้งยังมีการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม แม้เพิ่งประกาศเดินขบวนเพียง 20 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีการใช้กระสุนยางกับผู้ชุมนุม พบนักข่าวถูกกระสุนยางยิงอย่างน้อย 3 ราย
>> ประมวล #ม็อบ18กรกฎา ไปทำเนียบฯ ทวงวัคซีน mRNA ไล่ประยุทธ์ ลดงบฯสถาบัน-กองทัพ (ประชาไท)
.