ตำรวจบุกจับ 2 ผู้ชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา เรียกร้องวัคซีน แม้จะเข้ามอบตัว พร้อมแจ้ง 5 ข้อหา ก่อนศาลให้ประกันตัว

วานนี้ (22 ก.ค. 64) เวลาประมาณ 15.30 น. ศูนย์ความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมนายณรงค์ศักดิ์ บัวหนอง สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากบ้านพักในเขตห้วยขวาง ก่อนควบคุมตัว ไปที่ สภ.เมืองนนทบุรี ในคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำเข้าและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ให้กับประชาชน ที่บริเวณหน้ากระทรวงสาธารณสุข วันที่ 16 ก.ค. 64 

ตำรวจชุดจับกุมจากสภ.เมืองนนทบุรี, กองกำกับการสืบสวนภูธรภาค 1 และ กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดนนทบุรี ได้จับกุมตัวณรงค์ศักดิ์ ตามหมายจับออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 342/2564 ลงวันที่ 20 ก.ค. 64 

วันเดียวกัน ในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากนายวัชรพงษ์ คล่องแคล่ว ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ16กรกฎา วัย 18 ปี อีกรายหนึ่ง ทราบว่าตนมีหมายจับในคดีเดียวกันนี้ของศาลจังหวัดนนทบุรี และเขาเตรียมจะเดินทางไปมอบตัว แต่เจ้าหน้าที่กลับได้เข้าจับกุมตัวขณะกำลังเดินทางไป สภ.เมืองนนทบุรี ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 343/2564 ลงวันที่ 20 ก.ค. 64 โดยมีการเจรจาให้เจ้าหน้าที่ไม่ใช้เครื่องพันธนาการ และให้ผู้ไว้วางใจติดตามมาด้วย

หลังทั้งสองคนถูกนำตัวมาที่ สภ.เมืองนนทบุรี ตำรวจได้ทำบันทึกจับกุม โดยในตอนแรก ทนายความไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมด้วย แม้ว่าจะได้ร้องขอกับตำรวจแล้ว โดยเจ้าหน้าที่อ้างถึงมาตรการโควิด

สำหรับในบันทึกจับกุมของวัชรพงษ์ ตำรวจได้บรรยายพฤติการณ์ว่า  ชุดจับกุมได้ทําการสืบสวนและได้รับแจ้งจากสายลับ (ขอปิดนาม) เพื่อขอรับสินบนรางวัลนําจับ ถึงที่พักอาศัยของผู้ต้องหารายนี้ ตํารวจชุดจับกุมจึงได้เดินทางไปเฝ้าสังเกตการณ์ที่ที่พัก จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.15 น. พบชายไทยลักษณะคล้ายผู้ต้องหา เจ้าพนักงานจึงได้แสดงตัวจับกุม

ขณะที่ข้อหาในหมายจับและบันทึกจับกุมระบุทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหา โดยมีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย และผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา

ต่อมาในเวลาประมาณ 19.40 น. ตำรวจสภ.เมืองนนทบุรี แจ้งว่าจะสอบคำให้การผู้ต้องหาทั้งสองในวันถัดไป (23 ก.ค. 64) เวลา 09.00 น. เนื่องจากติดข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ทนายความจึงกำชับผู้ต้องหาทั้งสองไม่ให้เซ็นเอกสารอะไร และปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการใดหากปราศจากทนายความ ผู้ต้องหาทั้งสองได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.เมืองนนทบุรี ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 22 ก.ค. เป็นต้นมา 

พนักงานสอบสวนแจ้ง 5 ข้อหา ไม่มีม.116 และขอศาลฝากขัง อ้างผู้ต้องขังมีพฤติการณ์หลบหนี

ช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.ค. 64 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาณรงค์ศักดิ์และวัชรพงษ์ ในทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสอง มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย, ข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 (6) 

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ต่อทั้งสองคน เหมือนที่มีการระบุไว้ในชั้นจับกุม แต่มีการเพิ่มข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เข้ามาแทน

ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือในภายหลัง 

ต่อมา พนักงานสอบสวนสภ.เมืองนนทบุรี ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองกับศาลจังหวัดนนทบุรี ผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา 

คำร้องบรรยายพฤติการณ์ในคดีว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 13.20 น. มีการนัดหมายชุมนุมของกลุ่มราษฎรนนทบุรี นําโดยชินวัตร จันทร์กระจ่าง บริเวณทางเข้าโรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมีรถยนต์ติดตั้งเครื่องขยายเสียงขับมาจอดเตรียมพร้อม

ต่อมาในเวลาประมาณ 14.43 น.  พ.ต.อ.วนัสชัย ยิ่งยงสมสวัสดิ์  ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ได้ชี้แจงกับผู้ชุมนุมว่า หากมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คน จะเป็นความผิดตามกฎหมาย และในระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อกฎหมายกับผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา  

เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ชินวัตรเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมฝ่ากําลังตํารวจเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งแถวยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ในเวลาประมาณ 17.19 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้น และใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ด้วยการกระโดดถีบกระโดดเตะ และผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจนอกเครื่องแบบเข้าจับกุมตัวแกนนําผู้ชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าร่วมต่อสู้ขัดขวางมิให้จับกุม โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า มีการใช้ก้อนหินทําร้ายเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจนได้รับบาดเจ็บ 

พนักงานสอบสวนยังได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหามีพฤติการณ์ชุมนุมประท้วง ก่อความรุนแรง ทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ หากให้ประกันตัว พนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ต้องหาน่าจะไปร่วมชุมนุมก่อความรุนแรงให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และมีพฤติการณ์หลบหนี 

หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

คำร้องยืนยันว่าพฤติการณ์แห่งคดีต่างๆ ยังเป็นการกล่าวหาของพนักงานสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล อีกทั้งพฤติการณ์ดังกล่าวมานั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง และผู้ต้องหานั้นพร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นพิจารณาคดีต่อไป 

คำคัดค้านของพนักงานสอบสวนยังเป็นเพียงเพียงคํากล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี อีกทั้งวัชรพงษ์ได้ประสานงานติดต่อกับทนายความเพื่อจะให้พาเข้ามอบตัว หลังทราบว่าตนมีหมายจับ  แต่ปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวเสียก่อน ผู้ต้องหาทั้งสองยังได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน 

นอกจากนี้ ผู้ต้องหาทั้งสองยังมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว และไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล ผู้ต้องหาทั้งจึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีความสามารถในการก่ออันตราย หรือสร้างอุปสรรคและความเสียหายให้กับกระบวนการพิจารณาคดี

จนเวลาประมาณ 15.20 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งณรงค์ศักดิ์และวัชรพงษ์ โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 150,000 บาท และนัดหมายให้ผู้ต้องหาทั้งสองมารายงานตัวที่ศาลในวันที่ 15 ต.ค. 64 เวลา 08.30 น. 

คดี #ม็อบ16กรกฎา จับกุมดำเนินคดีแล้ว 7 ราย

สำหรับเหตุการณ์ #ม็อบ16กรกฎา ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 7 แล้วราย โดยมีผู้ถูกจับกุมจากที่ชุมนุมดังกล่าว จำนวน 2 ราย ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ “ไบรท์” แกนนำกลุ่มราษฎรนนทบุรี และสุเทพ แซ่ลิ้ม ชายวัย 40 ปี ทั้งสองถูกแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อหา โดยมีความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อหาหลัก 

ต่อมาตำรวจได้มีการขอออกหมายจับผู้ร่วมชุมนุมอีกหลายราย โดยมีผู้ถูกจับกุม ได้แก่ ธนเดช ศรีสงคราม หรือ “ม่อน อาชีวะ” แกนนำกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64  

ก่อนที่ในช่วงเช้ามืดวันที่ 19 ก.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบไปกดดันให้ดนตรี มีเท่า ให้เข้ามอบตัวในคดีเดียวกันนี้  รวมทั้งนายวีรภาพ วงษ์สมาน ซึ่งทราบว่าตนเองมีหมายจับ จึงได้เข้ามอบตัวจากพนักงานสอบสวน และได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหาเช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

>>>แจ้งข้อหา ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ชินวัตร-สุเทพ” ชุมนุมทวงถามวัคซีน ก่อนศาลให้ประกัน ไม่ต้องวางหลักทรัพย์

>>>จับ 18 มอบตัว 2! ชุมนุม หน้า สธ. – ทำเนียบ ไล่ประยุทธ์-ทวงวัคซีน mRNA ก่อน 9 รายแย้งจับกุมมิชอบ เหตุ ตร.ไม่มีหมายจับ

X