เปิดคำฟ้อง 2 คดีเยาวชนปลดแอก ทั้งคดีแกนนำ-ผู้ชุมนุม หลังอัยการเร่งฟ้อง เหตุจวนครบ 1 ปี การชุมนุม

15 ก.ค. 2564 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 และอัยการคดีศาลแขวงดุสิต มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของแกนนำและคดีของผู้ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 รวม 26 คน โดยกลุ่มแกนนำ อาทิ ‘อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ สิริขันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์ ข้อหาหลักคือยุยงปลุกปั่น และเป็นแกนนำมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตาม ป.อาญา มาตรา 116 และ 215 วรรคสาม ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกสั่งฟ้องในข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 กลุ่ม ​Free Youth หรือเยาวชนปลดแอก นัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 3 ข้อ ในงานมีผู้ขึ้นปราศรัย นักดนตรีขึ้นร้องเพลง และผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ภายหลังประชาชนที่ขึ้นปราศรัย กระทั่งนักดนตรีได้ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมตลอดเดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 จำนวน 14 คน ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูก สน.สำราญราษฎร์ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาอีกจำนวน 15 คน 

การชุมนุมครั้งนี้นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ติดตามมาอีกนับร้อยครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รวมทั้งนำไปสู่การยกระดับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเวลาต่อมา

.

.

สั่งฟ้องผู้ปราศรัยและนักดนตรี รวม 11 คน ต่อศาลอาญา ข้อหาหลัก ม.116

เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด รัชดา ผู้ต้องหาในคดีชุมนุม #เยาวชนปลดแอก จำนวน 9 คน ได้แก่ สุวรรณา ตาลเหล็ก, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, ธานี สะสม, ธนายุทธ ณ อยุธยา, เดชาธร บำรุงเมือง, อานนท์ นำภา, กรกช แสงเย็นพันธ์, บารมี ชัยรัตน์ และทศพร สินสมบุญ  เดินทางมาฟังคำสั่งฟ้อง 

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 5 คน ซึ่งไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ ได้แก่ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ ซึ่งแจ้งต่ออัยการว่ายังอยู่ระหว่างการกักตัวเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วน ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก มีนัดฟังคำสั่งอัยการในอีกคดีหนึ่งที่จังหวัดระยอง ส่วนภานุมาศ สิงห์พรม และทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ไม่ได้เดินทางมาศาล

เวลา 14.00 น. อัยการจึงสั่งฟ้องจำเลยรวมจำนวน 11 คน ต่อศาลอาญา โดย ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘ไมค์’ ภาณุพงศ์ จาดนอก ก็ได้ถูกสั่งฟ้องด้วย แม้ไม่ได้เดินทางตัวมาในวันนี้ ส่วนที่เหลือจะมีการสั่งฟ้องตามมาในภายหลังต่อไป

อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 15 ก.ค. 2563 – 18 ก.ค. 2563  ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน กลุ่มจำเลยได้ร่วมกันประกาศเชิญชวนและนัดหมายให้ประชาชนทั่วไปผ่านทางเฟซบุ๊กและสื่อ สังคมออนไลน์อื่นๆ ให้มาร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 18 ก.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยใช้หัวข้อเรื่อง “ใครไม่ทนให้ไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

ต่อมา พวกจำเลยได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามที่ได้ประกาศไว้ โดยจําเลยทั้งสิบเอ็ดกับพวก ได้ร่วมกันตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราวเป็นเวทีเหล็กขนาด 1 X 2 เมตร บนถนนราชดําเนินกลาง วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หันหน้าเวทีเข้าหาร้านแม็คโดนัลด์

พันตํารวจเอก อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กํากับสน.สําราญราษฎร์ ซึ่งมีอํานาจดูแลและรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ และเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้ประกาศแจ้งเตือนให้จําเลยทั้งสิบเอ็ดกับพวก ทราบว่าการกระทําดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฐานกีดขวางการจราจร กีดขวางทางสาธารณะ และขอให้ประชาชนผู้ร่วมกิจกรรมเว้นระยะห่างเนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

พริษฐ์ ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีชั่วคราวดังกล่าวต่อมวลชนที่มาร่วมชุมนุม โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า ชักชวนประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมชุมนุมลงมาบนถนนราชดําเนินกลาง ทําให้มีมวลชนเริ่มเดินลงมาบนพื้นผิวจราจร ชูป้ายข้อความ ตะโกนขับไล่นายกรัฐมนตรี 

ต่อมาเมื่อมีมวลชนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ พวกจําเลยจึงได้ทําการเคลื่อนย้ายเวทีไปตั้งติดขอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประมาณ 1,000 คน เต็มพื้นที่บนถนนราชดําเนินกลางบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้รถสัญจรผ่านบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวได้

พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์, เดชาธร บำรุงเมือง, ธานี สะสม และผู้ที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง ได้สลับกันขึ้นพูดปราศรัยบนเวที โดยไม่ได้คํานึงว่าจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายใดๆ อันเป็นการแสดงให้ปรากฏต่อประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทํา ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฏหมายแผ่นดิน

พริษฐ์ยังได้สั่งการให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมใช้กําลังฝ่าแนวแผงเหล็กที่มีตํารวจจัดเป็นแนวป้องกัน เพื่อนํามวลชนให้ลงไปสู่พื้นผิวการจราจร จากนั้นกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมจึงใช้กําลังดันแผงเหล็กที่กั้นอยู่ เป็นเหตุให้เกิดการยื้อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตํารวจและกลุ่มผู้ทํากิจกรรม จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนหญิงที่ยืนรักษาความปลอดภัยแนวแผงเหล็ก ได้รับบาดเจ็บจํานวน 5 นาย 

ในวันที่ 18 ก.ค. 2563 ทศพร สินสมบุญ ยังได้บังอาจนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยเป็นการโพสต์ภาพการถือป้ายกระดาษข้อความปะปนอยู่ในกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มเปิดสาธารณะ


ทั้ง 11 คน ได้ถูกสั่งฟ้องเป็นจำนวนคนละ 7-8 ข้อกล่าวหา แตกต่างกันไป โดยทั้งหมดถูกฟ้องเช่นเดียวกันใน 6 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย 

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  4. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  5. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  6. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ในส่วนจำเลย 9 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, บารมี ชัยรัตน์, เดชาธร บำรุงเมือง และธานี สะสม ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนธนายุทธ ณ อยุธยา และทศพร สินสมบุญ ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เฉพาะวรรคแรก ไม่ได้เป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทศพร ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา โทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่อัยการไม่ฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน กรณีที่พริษฐ์พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน

จนเวลา 14.30 น. ภายหลังอัยการสั่งฟ้อง ทั้ง 9 คนได้ถูกนำตัวไปยังห้องเวรชี้ โดยทั้งหมดให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ทนายความได้ยื่นประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยศาลตีวงเงินประกันตัวคนละ 35,000 บาท ยกเว้นสุวรรณา ตาลเหล็ก และกรกช แสงเย็นพันธ์ ซึ่งศาลตีวงเงินประกันตัวคนละ 70,000 บาท เนื่องจากเคยต้องคดีที่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น คือคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ARMY57 ที่ศาลแขวงดุสิต โดยจำเลย 10 คน ได้ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล จำนวน 5 คน ในการยื่นประกันตัว ขณะที่บารมี ชัยรัตน์ ใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

เวลา 17.30 น. ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด และได้กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ ยังไม่ได้เป็นแกนนำการชุมนุมทั้งหมดด้วย บางรายเพียงแต่ถูกเชิญขึ้นร่วมปราศรัย หรือบางรายเป็นนักดนตรีเพลงแร็พ ที่ขึ้นทำการแสดง โดยไม่ได้ปราศรัย หรือกรณีทศพรก็ไม่ได้ขึ้นร่วมปราศรัยแต่อย่างใด เพียงแต่ถูกกล่าวหาจากป้ายข้อความที่นำมาชูในที่ชุมนุม 

.

.

สั่งฟ้องผู้ร่วมชุมนุมอีก 15 คน ที่ศาลแขวงดุสิต ข้อหาหลัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ขณะเดียวกันที่ศาลแขวงดุสิต เวลา 13.00 น. นายวรวิทย์ สัมพัฒนวรชัย พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้นัดฟังคำสั่งฟ้องคดีในส่วนของผู้ชุมนุม #เยาวชนปลดแอก จำนวน 15 คน  ได้แก่ ทักษกร มุสิกรักษ์, ปรัชญา สุรกำจรโรจน์, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, กฤษณะ ไก่แก้ว, ยามารุดดิน ทรงศิริ, พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ, สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ณัฐพงษ์ ภูแก้ว, ธนชัย เอื้อฤาชา, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, จิรฐิตา ธรรมรักษ์, ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, กานต์นิธิ ลิ้มเจริญ และ ลัลนา สุริโย 

อัยการได้บรรยายฟ้องในลักษณะเดียวกันกับคดีแกนนำ แต่ไม่ได้มีการบรรยายถึงการปราศรัยในลักษณะที่เข้าข่ายข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่ระบุว่าจำเลยทั้ง 15 คน ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว 

ทั้ง 15 คน ถูกสั่งฟ้องจำนวน 5 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน, พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งในลักษณะกีดขวางการจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยไม่ได้ฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่อย่างใด

จาก 5 ข้อกล่าวหา มีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้นที่มีอัตราโทษจำคุก ขณะที่ข้อหาอื่นๆ มีอัตราโทษปรับ

ทั้งนี้ สิรินทร์ มุ่งเจริญ ยังถูกฟ้องในข้อหาเรี่ยไรในถนนหลวงหรือที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร อีกข้อหาหนึ่ง เหตุจากการถือกล่องขอรับบริจาคเงินจากผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อสำหรับทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน อยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ด้วย ข้อหานี้มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน

พนักงานอัยการยังระบุว่า ‘ไผ่’ จตุภัทร เคยถูกลงโทษในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกลับมากระทำผิดซ้ำอีกภายในเวลา 5 ปี นับจากพ้นโทษ จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษตามกฎหมายด้วย

เวลา 15.00 น. ทนายความได้ยื่นปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ จนเวลา 16.30 น. ศาลแขวงดุสิตได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้ปฎิญาณตนตามความเชื่อ และไม่ต้องวางหลักทรัพย์ พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย. 2564 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าเหตุที่อัยการเร่งสั่งฟ้องในทั้งสองคดีจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เนื่องเพราะในข้อกล่าวหาที่มีเพียงอัตราโทษปรับ จะมีอายุความไม่เกิน 1 ปี นับจากวันเกิดเหตุ ทำให้จะไม่สามารถฟ้องในข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้ ทำให้ต้องมีการสั่งฟ้องในช่วงไม่กี่วันก่อนครบรอบ 1 ปี การชุมนุมครั้งนี้ที่กำลังจะมาถึง 

.

ดูฐานข้อมูลทั้งสองคดี #เยาวชนปลดแอก >> https://database.tlhr2014.com/public/case/1729/lawsuit/508/

.

X