เบนจายังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้งในคดีชุมนุม #ม็อบ9กุมภา ที่บริเวณสกายวอล์คห้างมาบุญครอง
>> ‘ราษฎร’ เจออีก 6 ข้อหา 2 คดี #ชุมนุมปล่อยเพื่อนเรา และ #ตีหม้อไล่เผด็จการ ที่สกายวอล์ค ปทุมวัน
สำหรับคดีนี้มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากกิจกรรม “กระชากหน้ากากสยามไบโอไซน์” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64 ช่วงบ่าย ในวันดังกล่าว พริษฐ์และเบนจาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่บริเวณหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ซึ่งเป็นที่ทำการของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ทั้งสองกล่าวปราศรัยเรื่องการผูกขาดวัคซีน หลังรัฐบาลสั่งวัคซีนจาก 2 บริษัท ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และวัคซีนแอสตราเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประเด็นที่รัฐบาลให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ (Siambioscience) เท่านั้น เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา
.
แจ้ง ม.112 เหตุปราศรัยสยามไบโอไซน์ผูกขาดวัคซีนโควิด-19
บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเช้านี้ บริเวณหน้าทางเข้าสน.ปทุมวัน มีการจัดตั้งจุดคัดกรองคนเข้าออก ตรวจวัดอุณหภูมิและแลกบัตรประชาชนสำหรับผู้มาติดต่อ
พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รองผู้กำกับสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้ง 4 ข้อกล่าวหา ต่อเบนจา ได้แก่
- ข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค”
- พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64 ที่บริเวณหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ นายพริษฐ์และเบญจา มาร่วมชุมนุมและกล่าวปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้จัดมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ พร้อมกับมีการกล่าวข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์
ผู้กล่าวหาได้ตัดถ้อยคำของทั้งสองคนเป็นส่วน และอ้างว่าแต่ละส่วนเข้าข่ายความผิด โดยพริษฐ์ถูกกล่าวหาว่าได้ปราศรัยถึงการผูกขาดวัคซีนกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และงบประมาณของวัคซีนพระราชทานที่มาจากภาษีประชาชน
ด้านเบนจาถูกกล่าวหาว่าได้กล่าวปราศรัยเพิ่มเติมในประเด็นเดียวกัน เรื่องการถือหุ้นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ของกษัตริย์ การผูกขาดวัคซีน และกำไรที่ได้มาคนที่ได้รับกลับไม่ใช่ประชาชน
ทั้งนี้ เบนจาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่ลงข้อความว่า “ขี้เกียจมาแล้ว เหนื่อย” แทน
หลังเสร็จกระบวนการ เบนจาได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาได้มาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ทำให้ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว พนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหามาพบอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. 64 เพื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการต่อไป
คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหามาตรา 112 แม้ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง นับเป็นอีกปัญหาหนึ่งของมาตรานี้ ซึ่งเปิดช่องว่างให้ประชาชนเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหานี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ต้องหา และอาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย
ปัจจุบัน (11 มี.ค. 64) จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 67 รายใน 55 คดี เพียงในระยะเวลาแค่ 3 เดือน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรานี้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64