เปิด 7 ข้อหา ‘ชูเกียรติ’ คดี ม.112 ติดกระดาษหน้ารูป ร.10 ก่อนไม่ได้ประกันตัว

“จัสติน” นายชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมจังหวัดสมุทรปราการวัย 30 ปี ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวในคดีมาตรา 112 ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 7 ข้อกล่าวหาที่สน.ห้วยขวาง ในช่วงกลางดึกวันที่ 22 มี.ค. 64 ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำตัวไปขอศาลอาญาฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ชูเกียรติถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 

 

จับกุมไป สน.ห้วยขวาง ทั้งที่ไม่ใช่ท้องที่เจ้าของคดี

22 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 20.15 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่าชูเกียรติถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวตามหมายจับ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจะถูกนำตัวไปยังสน.ชนะสงคราม 

กระทั่งเวลา 22.20 น. ทนายความเดินทางไปถึง สน.ชนะสงคราม ก่อนจะพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่นำตัวชูเกียรติ มายังสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะไม่นำตัวมาที่ สน.ชนะสงคราม เนื่องจากเพิ่งมีการปรับปรุงห้องขังใหม่ ทำให้ไม่มีที่คุมขังผู้ต้องหา ขณะเดียวกันยังมีนักกิจกรรมและมวลชนติดตามมาที่ สน.ชนะสงคราม 

สามชั่วโมงเศษหลังการควบคุมตัว เวลา 23.30 น. ทนายความได้รับแจ้งว่าชูเกียรติถูกนำตัวไปที่ สน.ห้วยขวาง จึงได้เดินทางติดตามไป 

กระทั่งเวลา 00.54 น. ของวันที่ 23 มี.ค. 64 ทนายความได้พบกับชูเกียรติ ที่ สน.ห้วยขวาง ชูเกียรติให้ข้อมูลกับทนายความว่าขณะจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม แต่กลับถูกนำตัวมาที่ สน.ห้วยขวาง โดยไม่ทราบสาเหตุ

ระหว่างถูกควบคุมตัวที่ สน.ห้วยขวาง เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือของชูเกียรติ ทำให้ไม่สามารถติดต่อใครได้ และพยายามดำเนินการสอบสวนโดยใช้ทนายความที่ตำรวจจัดหามาให้ แต่ชูเกียรติไม่ยินยอมจึงถูกใส่กุญแจมือและนำตัวเข้าห้องขังใน สน.ห้วยขวาง

ต่อมาทราบว่าชูเกียรติถูกควบคุมตัวตามหมายจับของศาลอาญาเลขที่ 514/2564 ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 โดยมีการระบุชื่อชุดตำรวจที่เข้าทำการจับกุมจาก สภ.สำโรงเหนือ จำนวน 6 นาย นำโดย ร.ต.อ.ธนกร จุปะมะตัง สารวัตรสืบสวนสภ.สำโรงเหนือ ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.ชูตระกูล ยศมาดี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งในหมายจับและบันทึกจับกุมระบุข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 

บันทึกจับกุมระบุว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจชุดจับกุมได้ทำการสืบสวนติดตามจับกุมชูเกียรติจากบริเวณคอนโดที่พักในจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.ห้วยขวาง ในเวลาประมาณ 21.30 น. และเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 เครื่อง ไว้เป็นของกลาง แม้ว่าตามหมายจับจะไม่มีข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และไม่มีหมายศาลในการตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์โดยเฉพาะก็ตาม

เมื่อทนายความติดตามไปที่สน.ห้วยขวาง ทางตำรวจจึงได้เปลี่ยนใจมาดำเนินการสอบสวนชูเกียรติในช่วงคืนที่ผ่านมาทันที 

 

การแจ้งข้อกล่าวหา ติดป้ายข้อความ ‘ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!’

ทนายความให้ข้อมูลว่าในห้องสอบสวนมีตำรวจในเครื่องแบบ 7 นาย โดย 2 นายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม พื้นที่เกิดเหตุ เดินทางมาสอบปากคำชูเกียรติที่ สน.ห้วยขวาง โดยมีการตั้งกล้องวิดีโอหนึ่งตัว แต่ไม่ทราบว่ามีการบันทึกภาพและเสียงหรือไม่

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหารวม 7 ข้อหา โดย 6 ข้อหาเป็นข้อกล่าวหาเดียวกันกับผู้ถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ และมีการแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 เพิ่มเติมจากคนอื่นๆ

>> ศาลอาญาให้ประกันตัว 16 ผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ20มีนา หลังถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุในลักษณะเดียวกันกับผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 แต่ระบุเพิ่มเติมว่าผู้ต้องหาได้นำกระดาษที่เขียนข้อความว่า ‘ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!’ ไปติดไว้ที่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณต้านหน้ารั้วของศาลฎีกา โดยที่กล้องวงจรปิดสามารถบันทึกภาพของผู้ต้องหาที่กระทำผิดไว้ได้ 

การกระทำดังกล่าวของนายชูเกียรติ เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือกระทำโดยวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องต่อประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินโดยเป็นการกระทำโดยเจตนา ประสงค์ต่อผล และเล็งเห็นผลว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้น จะมีผู้อื่นกระทำความผิดล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

ข้อกล่าวหายังระบุว่าจากการตรวจสอบภาพจากคลิปวีดีโอพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้นำขยะต่างๆ ไปทิ้งไว้ที่บริเวณพระบรมฉายาลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการฉีดสีสเปรย์และสาดน้ำที่พระบรมฉายาลักษณ์จนได้รับความเสียหาย ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม ได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับนายชูเกียรติ ก่อนจะจับกุมตัวได้

ชูเกียรติได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาชูเกียรติยังขอให้การเพิ่มเติมว่าตนไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมายและไม่รับโอกาสในการติดต่อทนายความหรือผู้ไว้วางใจโดยทันที ทำให้เขาถูกควบคุมตัวใส่กุญแจมือไว้ในห้องขังตั้งแต่เวลา 20.00 น. จนกระทั่งทนายมาพบ

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธจะบันทึกถ้อยความดังกล่าว แต่ทนายความขอให้บันทึกไว้ในบันทึกสอบปากคำ ต่อมาตำรวจจึงยินยอมบันทึกให้

ในช่วงคืนดังกล่าว ชูเกียรติถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของสน.ห้วยขวาง

ทั้งนี้ ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อชูเกียรติ แม้จะมีการระบุในหมายจับ และบรรยายพฤติการณ์ของข้อกล่าวหานี้ไว้

 

ตร.ขอฝากขัง พร้อมขอหมายศาลตรวจค้นเครื่องมือสื่อสาร ก่อนศาลไม่ให้ประกันชูเกียรติ

ต่อมาวันที่ 23 มี.ค. 64 พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง รองผู้กำกับสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชูเกียรติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลอาญารัชดา โดยให้เหตุผลว่าต้องสอบพยานอีก 11 ปาก, รอผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของเจ้าพนักงานตำรวจและพยานที่ได้รับบาดเจ็บ, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา 

นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนยังคัดค้านการปล่อยชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่ามีพฤติการณ์ร่วมกันชุมนุมแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปจะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก ประกอบกับผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วหลายครั้ง โดยมีการระบุถึงคดีมาตรา 112 ของชูเกียรติอีก 3 คดี ที่สถานีตำรวจอื่น รวมทั้งคดีตามมาตรา 116 จากการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และอ้างว่าแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปจะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังมีกำหนด 12 วัน ทนายความจึงยื่นขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคก้าวไกล ตีเป็นวงเงินประกัน 100,000 บาท

เวลา 17.12 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วมีความร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง ประกอบผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะความผิดทำนองเดียวกันนี้มาแล้วแต่ผู้ต้องหาก็ยังมากระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้อีก เห็นว่าหากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะไปกระทำการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองซ้ำอีก ตลอดจนพนักงานสอบสวนคัดค้านจึงให้ยกคำร้อง” มีนายสันติ บุตรดี ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ผู้ลงนาม

ขณะเดียวกัน พ.ต.ต.สุรชัย เหมจุไร สารวัตรกองกำกับการกลุ่มงานสนับสนุน ของ บก.ปอท. ยังได้ยื่นขอศาลอาญา ในการออกหมายตรวจค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของชูเกียรติ โดยระบุว่าได้รับการประสานงานและร้องขอ จาก พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานทางเทคโนโลยี จึงเป็นเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 18 (4) ถึง (7) 

จากนั้น ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้เข้าถึงหรือทำสำเนาข้อมูลโทรศัพท์มือถือของชูเกียรติและสั่งให้ส่งรหัสผ่านให้เจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายดังกล่าวให้ชูเกียรติดูในระหว่างการรอผลการประกันตัว ชูเกียรติได้ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงรหัสเครื่องโทรศัพท์มือถือ และไม่ยินยอมให้สำเนาข้อมูลโทรศัพท์ 

เวลา 17.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวชูเกียรติจาก สน.ห้วยขวาง ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

 

X