2 นักกิจกรรมถูกแจ้งข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา” เหตุเรียกร้อง #SAVEบางกลอย หน้าหอศิลป์ 

14 มิ.ย. 64 ที่ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นักกิจกรรม  2 ราย เข้าเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 4 มิ.ย. 64   ในฐานความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีร่วมกิจกรรม #ม็อบ22กุมภา หรือ ม็อบ #saveบางกลอย ที่หน้าหอศิลป์ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มภาคี saveบางกลอย โดยหมายเรียกระบุว่า คดีนี้มี พ.ต.ท.เอกภพ ลิขิตธนสมบัติ เป็นผู้กล่าวหา

มูลเหตุของคดีนี้สืบเนื่องจาก วันที่ 22 ก.พ. 64 ภาคี saveบางกลอย ได้จัดกิจกรรม # saveบางกลอย ที่ลานหน้าหอศิลป์ฯ แสดงข้อความบนป้ายผ้าต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐหยุดคุกคามชาวบ้าน และส่งชาวบ้านกลับไปยังถิ่นฐานเดิม “ใจแผ่นดิน” และ “บางกลอย” หลังเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนธิเจ้าหน้าทหาร-ตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 100 นาย ผลักดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่อีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 20 ก.พ. – 5  มี.ค. 64 ทั้งที่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มภาคี saveบางกลอย เพิ่งเซ็นข้อตกลง 3 ข้อเรียกร้อง 6 ข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่จะถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากบางกลอย จะไม่มีการคุกคามพี่น้องบ้านบางกลอย

ผู้ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 5 ราย โดยวันนี้มีผู้เดินทางรับทราบข้อหา 2 ราย คือ ชาติชาย แกดำ และ ศิริ นิลพฤกษ์ ส่วนอีก 3 ราย นัดหมายจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 16 มิ.ย. และ  23 มิ.ย. 64 

 

ตร.แจ้ง 2 ข้อหา ฝ่าฝืน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา”

พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รองผู้กำกับ สอบสวน สน.ปทมวัน ได้บรรยายพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 เวลา 17.00 น. บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุม คือ ผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มาร่วมชุมนุมและขึ้นกล่าวปราศรัย โดยได้มีการนําเครื่องขยายเสียง อันได้แก่ ไมค์ลอยพร้อมเครื่องขยายเสียง มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และกลุ่มผู้ชุมนุมได้แสดงออกเชิญสัญลักษณ์ และผลัดกันขึ้นปราศรัย โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมแสดงพลังกดดันให้ถอนกําลังเจ้าหน้าที่ออกจากบางกลอย และไม่ให้มีการคุกคามพี่น้องบางกลอย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมโดยให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีอยู่ เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้ ขยายไปในวงกว้าง จึงห้ามไม่ให้มีการชุมนุม ทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทํา ดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข 

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้จัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคติดต่อ ไม่มีการเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัยซึ่งเป็นการกระทําผิดกฎหมาย แต่ผู้ต้องหาและพวกไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด ผู้กล่าวหาจึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีกับ เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

จากพฤติการณ์และการกระทําดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พนักงานสอบสวนถือเป็นการกระทําความผิด จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งหมด 2 ข้อหา ได้แก่

  1. “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ เรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
  2. “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ  มาตรา 8

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ภายใน 20 วัน  

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ต้องหาไป เนื่องจากมาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้ 

 

X