มกราคม 65: ยอดรวมคดีทางการเมืองพุ่งเกิน 1,009 คดี ผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 1,767 ราย

ต้นปี 2565 สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังดำเนินต่อไป แม้ไม่ได้มีกิจกรรมหรือการชุมนุมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม แต่หมายเรียกที่เกิดจากการกิจกรรมและการชุมนุมในช่วงปลายปี 2564 ยังคงถูกส่งถึงนักกิจกรรมหลายคน ทั้งเนื่องจากกิจกรรมที่หน้าศาล เรือนจำ หรือหน้าองค์กรสหประชาชาติ หรือคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมที่ดินแดง ก็ยังมีผู้ได้รับหมายเรียกอยู่อย่างต่อเนื่อง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,767 คน ในจำนวน 1,009 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 273 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 16 คน ใน 24 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) แม้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่นักกิจกรรมหรือผู้ที่ตกเป็น “เป้าหมาย” การจับตาของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีมาก่อนแล้วหลายคดี พบว่ายังคงได้รับหมายเรียกในคดีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,448 ครั้งแล้ว

.

.

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 169 คน ในจำนวน 176 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 116 คน ในจำนวน 37 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,428 คน ในจำนวน 617 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 117 คน ในจำนวน 133 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 31 คน ใน 17 คดี

จากจำนวนคดี 1,009 คดีดังกล่าว มีจำนวน 159 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ ในจำนวนนี้มีกรณีที่ศาลยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้องอีกจำนวนรวม 6 คดี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในปริมาณไม่มากนัก

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนมกราคม 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 คดี คดียังทยอยขึ้นสู่ชั้นศาลต่อเนื่อง 

เดือนมกราคม มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่อย่างน้อย 3 คน มีจำนวนคดีใหม่เพิ่มขึ้น 5 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 169 ราย ใน 176 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนรวม 13 ราย และยังมีแกนนำนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในข้อหานี้ระหว่างพิจารณาคดีอยู่ทั้งหมด 4 ราย ขณะเดียวกัน เดือนที่ผ่านมา ศาลได้ให้ประกันตัว “รุ้ง” ปนัสยา และเบนจา อะปัญ ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ และระยะเวลาอันกำจัด

สำหรับคดีสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่ คดีของ “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สามของเขาแล้ว ที่ สน.ชนะสงคราม จากกรณีการปราศรัยในงานครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

นอกจากนั้น ตำรวจ บก.ปอท. ยังมีการจับกุม “พงษ์” ชายวัย 59 ปีจากจังหวัดภูเก็ต มาแจ้งข้อกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ เขาถูกคุมขังอยู่ 4 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว และยังมีกรณีของ “อาร์ม” หนุ่มจากเกาะพะงัน ที่ถูกออกหมายเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหากรณีทำคลิป TikTok ที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร 

รวมทั้งกรณีของ “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวช ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม จากกรณีทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ในอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากที่ในตอนแรก ตำรวจแจ้งเพียงข้อหาทำให้เสียทรัพย์

แนวโน้มคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล พนักงานอัยการยังได้สั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลไปรวมแล้ว 84 คดี โดยเป็นคดีที่ฟ้องเพิ่มในเดือนมกราคม จำนวนอย่างน้อย 9 คดี และยังไม่มีคดีใดเลยที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ในปี 2565 นี้ สถานการณ์ของการต่อสู้คดีจะเข้มข้นมากขึ้น จากการสืบพยานในชั้นศาลในคดีต่างๆ ที่กำลังทยอยมีกำหนดนัดสืบพยานอย่างต่อเนื่องแล้ว ทำให้ต้องจับตาแนวคำวินิจฉัยของศาลที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปีนี้

.

.

ตำรวจหลายท้องที่ยังมุ่งดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมทางการเมือง ไม่เปลี่ยนแปลง

ในเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีต่างๆ ยังดำเนินคดีผู้ชุมนุมในกรณีต่างๆ ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามเรื่องการชุมนุมฯ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ปราศรัยหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ได้ทยอยถูกออกหมายเรียกในต้นปีนี้

ทั้งคดีจากการชุมนุม  #ราษฎรพิพากษามาตรา 112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีทั้งนักวิชาการ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักศึกษา และแกนนำนักกิจกรรม รวมทั้งหมด 17 คน ได้ทยอยเข้ารับทราบข้อหาที่ สน.ลุมพินี

คดีจากการเข้ายื่นหนังสือต่อสหประชาชาติ ร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดี 6 ราย ที่ สน.นางเลิ้ง  

คดีจากกิจกรรม #ราษฎร์ธรรมนูญ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่ม People Go NetWork เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2564 เช่นกัน มีผู้ถูกดำเนินคดีที่ สน.ปทุมวัน รวม 12 คน

ในช่วงปลายเดือนมกราคม ตำรวจ สน.ประชาชื่น ยังมีการทยอยออกหมายเรียกในคดีจากกิจกรรมเคาท์ดาวน์และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงสิ้นปี 2564 โดยมีรายงานหมายเรียกใน 2 คดี มีผู้ดำเนินคดีในแต่ละคดีถึง 25 คน และ 9 คน ตามลำดับ

รวมทั้ง ตำรวจ สน.พหลโยธิน ยังออกหมายเรียกในคดีตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และการใช้เครื่องขยายเสียง จากกิจกรรมที่หน้าศาลอาญา ในช่วงวันที่ 23-24 ธ.ค. 2564  ในสองคดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรวมกัน 20 คน 

ส่วนคดีที่ สน.ดินแดง จากการชุมนุมทะลุแก๊ซในช่วงปี 2564 แม้จนถึงปัจจุบัน จะไม่ได้มีสถานการณ์บริเวณดังกล่าวแล้ว แต่ตำรวจก็ยังมีการออกหมายเรียกและแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ที่พบว่าอยู่ในการชุมนุมบริเวณดินแดงในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางคนที่ถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่าพบซ้ำๆ ในแต่ละวัน ถูกกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้วกว่า 20 คดี

สถานการณ์เช่นนี้ ยังคงสะท้อนเช่นเดิมว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการพยายามปราบปรามหยุดยั้งกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ภายใต้ข้ออ้างเรื่องโรคระบาดที่ดำเนินมาจวนครบ 2 ปีแล้ว

.

.

มาตรา 116 ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาการโพสต์เชิญชวนร่วมชุมนุมทางการเมือง

ในเดือนมกราคม ยังมีสถานการณ์การออกหมายจับนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างน้อย 2 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินหรือผู้ดูแลเพจของกลุ่มนักกิจกรรมสองกลุ่ม ได้แก่ เพจกลุ่มทะลุฟ้า และเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) โดยมีการใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ “ยุยงปลุกปั่น” นำไปใช้ขอศาลออกหมายจับและดำเนินคดี โดยทั้งสองคดีมี “ประชาชนทั่วไป” เป็นผู้ไปกล่าวหา

สองคดีดังกล่าวเกิดขึ้นที่ บก.ปอท. ได้แก่ คดีของ “ป่าน ทะลุฟ้า” ที่ถูก แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นผู้กล่าวหา กรณีโพสต์ชวนเชิญไปร่วมชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าสองครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 และคดีของ “พล” สมาชิกกลุ่ม DRG ที่ถูก นครินทร์ อินแย้ม กล่าวหาว่าเพจของกลุ่มได้โพสต์เชิญชวนไปร่วมชุมนุมสองครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564

ข้อกล่าวหามาตรา 116 นับเป็นข้อหาหนึ่งในหมวดความมั่นคง ที่ถูกใช้อย่างเข้มข้นในยุคของ คสช. เพื่อปราบปรามผู้แสดงออกคัดค้านหรือต่อต้านคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลที่มาจากยึดอำนาจ ส่วนใหญ่คดีที่มีการต่อสู้คดี ศาลมักยกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง หลายคดีศาลและอัยการเห็นว่าเป็นการติชมโดยสุจริตหรือเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่ก็สร้างภาระต่อผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้  แม้จนปัจจุบัน ข้อกล่าวหานี้ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ต่อมา

.

X