เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 11.30 น. “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG) ได้รายงานผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ ได้เข้าตรวจค้นออฟฟิศของกลุ่ม และได้จับกุม นายพล (นามสมมติ) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ตามหมายจับในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยมีทนายความติดตามไป
ในช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญา เหตุยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกันนี้ศาลได้กำหนดวันนัดให้มารายงานตัวต่อไปในวันที่ 9 มี.ค. 2565
.
ตร.ปอท.บุกจับ พร้อมแจ้ง “ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ” กล่าวหาว่าโพสต์ชวนปชช.ร่วมชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบเรียบร้อย
ในช่วงเช้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่บริเวณ อ.เมืองนนทบุรี โดยมีการแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 19 ม.ค. 2565 เพื่อติดตามหานายพล ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับ ก่อนจะพบตัวในที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงหมายจับ
บันทึกจับกุมของตำรวจระบุว่า การจับกุมเกิดขึ้นในช่วงเวลา 10.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจาก กก.4 บก.ปอท. รวม 12 นาย ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท. เข้าตรวจค้นและจับกุม นายพล ผู้ต้องหาวัย 28 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1937/2564 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2564 ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ก่อนนำตัวไปที่ บก.ปอท. โดยได้มีการตรวจยึดอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของพลไปด้วย
ส่วนพฤติการณ์แห่งคดีระบุว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นายนครินทร์ อินแย้ม ผู้กล่าวหา ได้ทําการตรวจสอบบัญชีเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group-DRG พบว่า เพจดังกล่าวได้โพสต์ข้อความในลักษณะชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมใน #ม็อบ18กรกฎา วันที่ 18 ก.ค. 2564 และชุมนุม #ม็อบ7สิงหามึงเจอกูแน่ ในวันที่ 7 ส.ค. 2564 จากการโพสต์เชิญชวนของเพจดังกล่าว มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบเรียบร้อย และละเมิดกฎหมายแผ่นดินหลายฉบับ
พร้อมทั้งระบุว่า พฤติการณ์เนื้อหาการปราศรัยตามวันและเวลาเกิดเหตุก็มีเนื้อหาปลุกเร้าผู้ร่วมชุมนุม โดยเป็นการวิจารณ์การบริหารราชการของรัฐบาล ตลอดจนยุยงให้ผู้เข้าชุมนุมก่อเหตุความไม่สงบไม่เรียบร้อย และในระหว่างการชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตํารวจใช้กําลังเข้าไปยุติการชุมนุม และมีการใช้กําลังต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น อยู่ในภาวะวิสัยของผู้ชักชวนเชิญชวนย่อมเล็งเห็นได้ว่า การโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมน่าจะก่อความไม่สงบเรียบร้อย ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน แต่ยังขึ้นทําด้วยการแสดงออกด้วยการยุยงปลุกปั่นให้ข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ แก่ผู้ร่วมชุมนุม ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายแผ่นดิน โดยยอมรับเอาผลไว้ล่วงหน้าในการที่ผู้ชุมนุมทําให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการส่วนรวมและทรัพย์สินเอกชน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสารมวลชน
ด้านนายพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมอีกครั้งภายใน 30 วัน
- จากบันทึกการจับกุมในข้อหาตาม ม.116 ไม่มีพฤติการณ์แห่งคดีหรือพยานหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ชัดว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา
- พนักงานสอบสวนไม่เคยออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อนที่จะมีหมายจับ ซึ่งขณะนี้ผู้ต้องหากำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีได้ การออกหมายจับจึงมิชอบด้วยกฎหมาย
- ข้อกล่าวอ้างตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่คิดและจินตการเกินไปไกลกว่าความมุ่งหมายที่ปรากฏตามข้อความที่ใช้กล่าวหาผู้ต้องหา
- การแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐตั้งใจจะใช้ปิดปากการแสดงออกของประชาชนที่แสดงความคิดเห็นตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้
หลังเสร็จกระบวนการดังกล่าว ร.ต.ท.ภูเพชร บุญยะพาส พนักงานสอบสวน ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างเรื่องการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น มีความจำเป็นต้องสอบพยานอีก 6 ปาก ทั้งรอผลการพิสูจน์ของกลาง และรอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา
ต่อมาเวลา 16.50 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกันนี้ศาลได้กำหนดวันนัดให้มารายงานตัวต่อไปในวันที่ 9 มี.ค. 2565
ทั้งนี้ การชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เป็นการชุมนุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเริ่มชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” ในช่วงปี 2563 เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง, ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อนำมาสู้โควิด และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA โดยมีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนพยายามเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกตำรวจตั้งแนวขวาง จนมีการใช้แก๊ซน้ำตาและกระสุนยางต่อผู้ชุมนุม
ส่วนการชุมนุม #7สิงหามึงเจอกูแน่ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเครือข่ายแนวร่วมต่างๆ ได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเคลื่อนขบวนไปที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
.