เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ สน.ดินแดง ธีรเมธ (สงวนนามสกุล) หนุ่มไร้บ้านวัย 18 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาหลังได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ว่ามีการออกหมายเรียกในคดีจากการชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงเมื่อช่วงปี 2564 อีก 4 คดี แต่เมื่อเข้ารับทราบข้อหา พบว่าถูกแจ้งข้อหาถึง 13 คดีรวด ทำให้ธีรเมธถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมรวมแล้วถึง 21 คดี
ก่อนหน้านี้ ธีรเมธถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วรวม 8 คดี เหตุเนื่องจากการชุมนุมรายวัน #ทะลุแก๊ซ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยเขาเคยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม และ 4 ตุลาคม 2564 ก่อนจะถูกออกหมายเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมอีก 6 คดี ได้แก่ การชุมนุมเมื่อวันที่ 25, 29 สิงหาคม และวันที่ 2, 6, 10, 28 กันยายน 2564
คดีทั้งหมดเขาถูกกล่าวหาข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเว้นคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งตำรวจมีการกล่าวหาว่าเขาร่วมก่อเหตุปาระเบิดเพลิงใส่รถกระบะของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดเพลิงไหม้ และเขาถูกนำตัวไปขอฝากขังเฉพาะในคดีหลังนี้ ก่อนที่ศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว ธีรเมธได้ถูกคุมขังทั้งหมด 48 วัน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 หลังอัยการยังไม่ได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาของกำหนดฝากขัง
.
ในครั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาธีรเมธเพิ่มในอีก 13 คดีรวด โดยเป็นกรณีจากการชุมนุมที่บริเวณดินแดงเช่นเดียวกันทั้งหมด แยกไปตามวันที่ตำรวจอ้างว่าพบเห็นธีรเมธอยู่ในการชุมนุม ได้แก่ วันที่ 4, 7, 8, 11, 12, 14, 17, 18, 20, 21, 22 กันยายน 2564 และวันที่ 1, 5 ตุลาคม 2564
ในทุกคดี ธีรเมธถูกข้อกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ ที่มีจํานวนมากกว่า 25 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ยกเว้นคดีวันที่ 1 ตุลาคม ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง”
ธีรเมธให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทุกคดี และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ก่อนตำรวจจะให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
.
นอกจากกรณีของธีรเมธ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ยังมีประชาชนผู้ถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ดินแดง จากการชุมนุมที่ดินแดงในช่วงปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โกวิทย์ ซมมิน อดีตเสื้อแดงลาดกระบัง ถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 2 คดี เหตุจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 (ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และคดีชุมนุมวันที่ 1 ตุลาคม 2564 (ข้อหาตามมาตรา 215)
หรือกรณีวสันต์ กล่ำถาวร อดีตการ์ดเสื้อแดง ได้ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 คดี จากการชุมนุมที่ดินแดง ในวันที่ 7 และ 21 กันยายน 2564 โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทั้งสองคดี
กรณีสมชาย คำนะ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 1 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุมวันที่ 21 กันยายน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน
สถานการณ์การดำเนินคดีในลักษณะนี้ที่ สน.ดินแดง ซึ่งตำรวจกล่าวหาผู้ที่พบเห็นว่าไปอยู่บริเวณการชุมนุมในพื้นที่ดินแดง แยกคดีเป็นรายวัน ทำให้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แม้บางรายเข้าไปสังเกตการณ์หรือติดตามสถานการณ์การชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งทำให้บางคนยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดีจำนวนมากอีกด้วย
.
ตร.ดินแดงไล่แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ร่วมม็อบทะลุแก๊ซรายวัน บางรายโดนคนเดียว 26 คดี
ไล่แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ร่วมทะลุแก๊สแยกดินแดง 4 คดีรวด ระหว่างกลางสิงหา-กันยา
.