ธันวาคม 64: สรุปยอดผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองใกล้ถึง 1,000 คดี จำนวนอย่างน้อย 1,751 คน

ช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2564 สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่ โดยมีการจับกุมชาวบ้านและผู้ร่วมชุมนุมกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และการออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุม #สมรสเท่าเทียม และ #ราษฎรพิพากษา112 รวมจำนวนหลายราย ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ขณะที่พนักงานอัยการยังคงทยอยสั่งฟ้องคดีจากการแสดงออกทางการเมืองหลายคดีขึ้นสู่ชั้นศาล

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,751 คน ในจำนวน 985 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 272 ราย

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,337 ครั้ง

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 67 คน ใน 28 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) เป็นเยาวชนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 5 ราย 

.

.

ส่วนสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 166 คน ในจำนวน 171 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 115 คน ในจำนวน 37 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,415 คน ในจำนวน 603 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง) แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 76 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 112 คน ในจำนวน 126 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 26 คน ใน 16 คดี

จากจำนวนคดี 985 คดีดังกล่าว มีจำนวน 152 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ 

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบในช่วงเดือนธันวาคม 2564 นี้ ยังมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 5 คดี อัยการยังเร่งสั่งฟ้องคดี ม.112 ขึ้นสู่ชั้นศาล 

เดือนธันวาคม มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 4 คน ใน 5 คดี ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 166 ราย ใน 171 คดี โดยเป็นเยาวชนรวม 13 ราย ในจำนวนนี้ยังมีผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีอยู่ทั้งหมด 5 ราย แม้จะมีการไต่สวนขอประกันตัวแกนนำ 4 รายอีกครั้ง แต่ศาลยังคงปฏิเสธการให้ประกันตัวต่อไป

เดือนที่ผ่านมามีคดีสำคัญ ได้แก่ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในเรือนจำ เพิ่มอีก 1 คดี จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความกรณีกลุ่มอ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ไปคุกคามเยาวชน และเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์พิจารณาตนเอง ทำให้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 23 ของเขาแล้วที่ถูกกล่าวหา มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ตำรวจ บก.ปอท. ยังมีการจับกุมกรณี “วารุณี” ผู้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ภาพพระแก้วมรกตสวมเครื่องทรง Sirivannavari คดีนี้มีสมาชิกของกลุ่ม ศชอ. เป็นผู้ไปกล่าวหา รวมทั้งในช่วงสิ้นปี ตำรวจยังจับกุม “ภูมิ หัวลำโพง” และเยาวชนอายุ 15 ปี อีกหนึ่งราย ไปแจ้งข้อหากรณีถือป้ายข้อความเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง บริเวณใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนมีขบวนเสด็จด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีการออกหมายเรียกให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีของสถานีตำรวจต่างๆ อยู่เป็นระยะ โดยเดือนธันวาคมมีคดีของวุฒิ ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นิมิตรใหม่ ในคดีที่มีประชาชนรายหนึ่งไปร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้

ในคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พนักงานอัยการยังได้สั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาลไปรวมแล้ว 75 คดี หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 43 ของจำนวนทั้งหมด โดยยังไม่มีคดีใดเลย เท่าที่ทราบที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี แม้แต่คดีจากการติดป้ายข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่จังหวัดลำปาง ที่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด อัยการก็ยังมีคำสั่งฟ้องในเดือนที่ผ่านมา 

.

ผู้ถูกจับกุมจากกรณี Saveจะนะ (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)

.

จับกุมและไล่ออกหมายเรียกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมต่างๆ ต่อเนื่อง

ในเดือนที่ผ่านมา การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และการออกหมายเรียกผู้ชุมนุมในกรณีต่างๆ ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่ละคดียังมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำนวนมากด้วย 

กรณีชาวบ้านและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น #Saveจะนะ ชุมนุมติดตามทวงสัญญาของรัฐบาล ในการยุติการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมจำนวนถึง 37 ราย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 และถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งข้อหาย่อยอื่นๆ ทุกราย ทั้งหมดไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด และผู้ถูกจับกุมกล่าวหา 31 ราย ยังเป็นผู้หญิง โดยมีผู้สูงอายุหลายราย 

ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังออกหมายเรียก ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ28พฤศจิกา64 #ม็อบสมรสเท่าเทียม ที่สี่แยกราชประสงค์ รวมถึง 20 คน และผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ12ธันวา64 “ราษฎรพิพากษามาตรา 112” ที่แยกราชประสงค์ รวม 17 คน ไปแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในช่วงสิ้นปี 2564 อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดตาก เนื่องจากเห็นว่าไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคแต่อย่างใด ทำให้มีคดีจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องรวมอย่างน้อย 6 คดี ซึ่งยังเป็นจำนวนส่วนน้อยของคดีที่ถูกกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีกว่า 600 คดีแล้ว หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ขณะที่ ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ถูกกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนับเป็นคดีที่สองต่อจากคดีชุมนุมที่จังหวัดอุดรธานี ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งยังเป็นแนวโน้มที่ต้องจับตาต่อไปในปีนี้ 

.

.

ศาลพิพากษาลงโทษคดีละเมิดอำนาจศาล 5 คดีรวดในเดือนเดียว

ในเดือนธันวาคม ศาลยังได้มีคำวินิจฉัยในคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาลรวม 5 คดี ด้วยกัน ได้แก่ 

  1. คดีของเบนจาและณัฐชนน ที่ถูกกล่าวหาจากกิจกรรมหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64
  2. คดีของ 5 ผู้ชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา โดยกลุ่ม REDEM ที่หน้าศาลอาญา 
  3. คดีของ “โจเซฟ” นักกิจกรรมที่กรีดแขนตนเองระหว่างพิจารณาคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
  4. คดีของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และนวพล ต้นงาม กรณีรวมตัวให้กำลังใจแกนนำ ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64
  5. คดีของภัทรพงศ์ น้อยผาง นักศึกษาธรรมศาสตร์ จากกรณีการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64

ในทุกคดีเหล่านี้ เหตุเกิดจากการแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของแกนนำนักกิจกรรม โดยศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามที่กล่าวหาทั้งหมด โดยมีคดีลำดับที่ 3 คดีเดียวที่ผู้ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพ ส่วนอีก 4 คดี ได้มีการไต่สวนพยานในคดีเกิดขึ้น และศาลพิพากษาว่ามีความผิด โดยมีทั้งคนที่โดนลงโทษปรับ, ลงโทษจำคุกให้รอลงอาญา, ให้รอการกำหนดโทษ, ลงโทษจำคุกหรือกักขังโดยไม่รอลงอาญา ทำให้ในหลายคดียังจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ศาลสามารถตั้งเรื่องไต่สวนเอง และลงโทษผู้กระทำผิดเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการสอบสวนหรือฟ้องร้อง ทั้งยังเป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่อศาลเอง ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความไม่เป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอย่างมาก

ทั้งบทบาทของศาลที่เข้ามาเกี่ยวกับการตัดสินคดีการเมืองจำนวนมาก ทำให้การแสดงออกหรือการวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์กรตุลาการเป็นไปอย่างเข้มข้นขึ้นมากในสังคมด้วย การใช้ข้อหาละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลจึงมีนัยยะสำคัญที่ต้องติดตามจับตาต่อไป 

.

หมายเหตุ สถิติคดีนี้ไม่ใช่จำนวนคดีที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายทั้งหมด แต่รวมคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ด้วยเท่าที่ทราบข้อมูล

.

X