วันนี้ (22 ธ.ค. 64) ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนพยานผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล ของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำเครือข่าย People Go Network และ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า เหตุร่วมชุมนุมเพื่อให้กำลังใจแกนนำในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64
คดีนี้มีผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา และศาลนัดไต่สวนนัดแรกไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 64 โดยไต่สวนพยานฝ่ายผู้กล่าวหาจนเสร็จสิ้นไปจำนวน 3 ปาก และเลื่อนนัดไต่สวนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาออกมา
ในช่วงเช้าวันนี้ ศาลได้ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองปาก มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรวมตัวกับกลุ่มประชาชน โดยมีเจตนามาให้กำลังใจและรับฟังคำสั่งฟ้องต่อศาลอาญาในคดีของปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวกรวม 18 คน ในกรณีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร เท่านั้น ต่อมาเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องปนัสยาและพวกแล้ว ทั้งสองก็เคลื่อนย้ายการรวมตัวกันจากหน้าตึกสำนักงานอัยการสูงสุดมาที่หน้าศาลอาญา เพื่อรอฟังคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวของเพื่อนนักกิจกรรมต่อ
การใช้เครื่องขยายเสียงในที่หน้าศาลอาญานั้น เป็นไปเพื่อดูแลความเรียบร้อยของประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจนักกิจกรรมซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 คน และป้องกันไม่ให้ทุกคนเข้าไปในบริเวณศาลจนเกิดการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของศาล ซึ่งอาจเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาล
ส่วนการปราศรัยของทั้งสองคนนั้น ก็เป็นการปราศรัยในประเด็นสิทธิในการประกันตัวในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว อันเป็นการกระทำที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 44 วรรค 1 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีนี้ในช่วง 15.00 น. ในทันที
.
ศาลชี้ใช้ลำโพงทำให้เสียงดัง – ปราศรัยด้วยถ้อยคำที่เป็นการปลุกเร้าประชาชน เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลนั่งบัลลังก์และได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองนั้นเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลหรือไม่ ศาลระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองนําเครื่องขยายเสียงมาใช้ในการพูดคุย ร้องเพลง โดยหันลําโพงเข้าไปในศาลอาญาทำให้เกิดเสียงดัง อันเป็นการรบกวนการพิจารณาของศาล
ส่วนการปราศรัยของไดโน่ที่ว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” และของเลิศศักดิ์ที่ว่า “มาดูใจศาลว่าศาลจะให้ความยุติธรรมแก่เราได้หรือไม่” ที่ปรากฎในภาพบันทึกในซีดีนั้น เป็นการปลุกเร้าประชาชนและมีผลเป็นการรบกวนกระบวนการพิจารณาระหว่างรอคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของปนัสยากับพวก ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา
จากพฤติการณ์ข้างต้น ศาลระบุว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (1) โดยศาลสั่งลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 500 บาท แต่เนื่องจากทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ไม่ปรากฎความเสียหายอย่างอื่นจึงให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี โทษปรับให้คงไว้เหมือนเดิม
ต่อมาเลิศศักดิ์และไดโน่ได้ชำระค่าปรับต่อศาลอาญาด้วยเงินของตัวเอง คนละ 500 บาท
ทั้งนี้ ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อสังเกตว่า คำพิพากษาของศาลในคดีนี้ ศาลมีเพียงคำพิพากษารอการลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ถูกกล่าวหากระทำในลักษณะนี้อีก เหมือนคดีละเมิดอำนาจศาลของนักกิจกรรมที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ อาทิ คดีของ เอเลียร์ ฟอฟิ และ พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง ที่ศาลอาญากำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลไว้ถึง 2 ปี ที่สร้างภาระให้กับเอเลียร์และพิสิฏฐ์กุลในการรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดเวลา
อนึ่ง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกถึงเดือนธันวาคม 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลแล้วอย่างน้อย 26 ราย ใน 16 คดี ในจำนวนนี้ คดีละเมิดอำนาศาลนั้นเป็นคดีที่เกิดจากเหตุการณ์ชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันให้กลุ่มแกนนำ “ราษฎร” ที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 29 เม.ย. และ 30 เม.ย. 64 ถึง 7 คดี
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: