กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกับหลักนิติรัฐ (ประหาร)

ณัชชา วนวนากร

นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันซึ่งเกิดการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมและการดำเนินงานของสถาบันต่างๆ ในรัฐไทยอย่างกว้างขวาง องค์กรศาลก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะในการดำเนินงานทางการยุติธรรมหรือในการพิจารณาคดีที่เป็นคดีการเมืองหรือคดีนโยบาย จนถึงขนาดที่ประเด็นเรื่อง ‘ตุลาการภิวัตน์’ ถูกยกขึ้นมาถกเถียงเป็นวงกว้าง มีการนำไปปราศรัยในการชุมนุม และภายหลังก็เกิดการชุมนุมประท้วงและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในบริเวณศาล ทำให้เกิดการดำเนินคดีในความผิดละเมิดอำนาจศาลตามมาในภายหลัง ทำให้ยิ่งเกิดข้อกังขาว่าบทบัญญัติละเมิดอำนาจนี้ กำลังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกรัฐนำมาใช้เพื่อจัดการกับประชาชนที่เห็นต่างโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างที่ควรเป็นแต่อย่างใด

กฎหมายเรื่องละเมิดอำนาจศาล เป็นมาตรการทางกฎหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเพื่ออำนวยให้เกิดประโยชน์ในทางยุติธรรม ทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงเป็นกฎหมายที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทยกฎหมายละเมิดอำนาจศาลก็ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องขอบเขตการบังคับใช้ การตีความ และอัตราส่วนโทษ แสดงให้เห็นถึงการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์สาธารณะในการอำนวยความยุติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลของไทยก็ถูกโต้แย้งถกเถียงว่าไม่มีความเป็นสากล มีการคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพของประชาชนน้อยเกินไป เนื่องมาจากการที่มีขอบเขตการใช้บังคับที่กว้างขวาง มีบทลงโทษทางอาญา แต่กลับตีความว่าความผิดละเมิดอำนาจศาลมิใช่ความผิดอาญา ทำให้ในบางกรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้หลักประกันสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดีดังเช่นในคดีอาญา โดยเฉพาะหลักการกระทำเดียวไม่อาจลงโทษซ้ำ และยังมีบทลงโทษจำคุกในอัตราโทษที่สูง

ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญ การปกครองรัฐจะต้องใช้กฎหมายอันเป็นเจตจำนงร่วมกันของประชาชนในการปกครอง และการใช้อำนาจรัฐต้องถูกจำกัดอำนาจให้อยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย โดยในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย การตรากฎหมาย ตีความกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงการระงับข้อพิพาท ย่อมต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐและพลวัตของสังคม ดังนั้นกฎหมายไม่ว่าจะอยู่ในลำดับศักดิ์ใด ก็จะต้องสะท้อนนิติรัฐทั้งในเชิงรูปแบบและในเชิงเนื้อหาออกมา

กฎหมายเรื่องละเมิดอำนาจศาลก็เช่นเดียวกัน หากคำนึงแค่เพียงว่าเมื่อกฎหมายได้รับการบัญญัติขึ้นโดยรัฐย่อมมีความยุติธรรม ใช้บังคับได้กับทุกคน ประชาชนจะต้องทำตามมิฉะนั้นจะได้รับโทษ โดยไม่คิดคำนึงถึงความเป็นธรรมในการใช้กฎหมาย อาจต้องมีการตั้งคำถามว่ากฎหมายนั้นกำลังสะท้อนความเป็นนิติรัฐออกมาอยู่หรือไม่

.

.

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกับหลักความเป็นอิสระของตุลาการ

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายหนึ่งที่มีเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของศาล เพื่อให้ศาลกระทำภาระหน้าที่ในทางตุลาการได้โดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ ไม่ว่าจะจากคู่ความ องค์กรรัฐ และสังคม ทำให้ศาลสามารถพิจารณาคดีได้อย่างอิสระและเป็นกลาง จึงเป็นกฎหมายที่มีในหลายประเทศ แต่โดยหลักแล้ว การกระทำความผิดละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นที่ศาลใด ก็จะเป็นอำนาจของศาลนั้นในการพิจารณาคดี ทำให้เกิดข้อกังขาได้ว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ จะเป็นการขัดต่อหลักความเป็นอิสระของตุลาการหรือไม่ ดังนั้นหากเป็นโทษทางอาญาจึงต้องให้องค์คณะที่มิใช่องค์คณะพิจารณาคดีซึ่งเป็นประเด็นนั้น เป็นผู้พิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาล

ในทางข้อเท็จจริงก็อาจเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ความเป็นอิสระของตุลาการถูกตั้งคำถามขึ้นมาได้ เช่น ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากการที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมชุมนุมประท้วงในบริเวณศาลและมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของศาลทั้งองค์กร เนื่องจากศาลก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ดุลยพินิจผิดพลาด หรือมีอคติมาเกี่ยวข้องในการพิจารณาคดี เมื่อตนเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น

ในกรณีที่คดีหลักซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นคดีการเมืองหรือคดีนโยบาย เมื่อต่อมามีประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงในบริเวณศาลและมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ศาลนั้น ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ประชาชนใช้ในการตั้งคำถามและตรวจสอบการกระทำของรัฐให้มีความเป็นธรรม ก็เป็นที่น่าพิจารณาว่าในทางการเมือง กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกำลังถูกนำมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการจัดการคนเห็นต่างด้วยโทษจำคุก เฉกเช่นกฎหมายอีกหลายเรื่องที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือไม่

.

.

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกับหลักประกันสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดี

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลมีโทษจำคุก อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบนเนื้อตัวร่างกายของบุคคลเฉกเช่นเดียวกับบทลงโทษในคดีอาญา อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์จากความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาและคำพิพากษาของศาลฎีกา มีความเห็นตรงกันว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมิใช่ความผิดทางอาญา ทำให้ในบางกรณีผู้ถูกกล่าวหาอาจมิได้รับการประกันสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดีเช่นจำเลยในคดีอาญา เช่น หลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา หลักการกระทำเดียวไม่อาจถูกลงโทษซ้ำ หรือหลักการรับผิดต่อการกระทำของตนที่ควรค่าแก่การตำหนิ

การกระทำละเมิดอำนาจศาลสามารถเกิดขึ้นต่อหน้าศาลหรือเกิดขึ้นนอกความรู้เห็นของศาลก็ได้ ในกรณีที่ศาลเป็นผู้รู้เห็นโดยตรง ย่อมจำเป็นที่จะต้องออกคำสั่งเพื่อระงับการกระทำนั้นได้ทันทีทันใด การไม่ต้องให้สิทธิจำเลยเช่นจำเลยในคดีอาญา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานในทางยุติธรรมในขณะนั้น สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การกระทำละเมิดอำนาจศาลมิได้เกิดต่อหน้าศาล ความจำเป็นในการระงับการกระทำละเมิดอำนาจศาลเพื่อให้สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ มิได้มีความเร่งด่วนเหมือนกรณีที่การกระทำละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้นต่อหน้าศาลโดยตรง นอกจากนี้การไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล มักแยกออกมาจากคดีหลักที่ศาลกำลังพิจารณาอยู่แล้ว การให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาเช่นจำเลยในคดีอาญาย่อมไม่ทำให้คดีหลักล่าช้าลงไปถึงขั้นทำให้ไม่บรรลุเจตนารมณ์กฎหมาย

ดังนั้นนอกจากกฎหมายจะต้องเสริมสร้างการใช้อำนาจรัฐแล้ว ก็ควรต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย แม้กฎหมายนี้จะเป็นมาตรการตามวิธีสบัญญัติ แต่เมื่อมีโทษทางอาญา ในกรณีที่การกระทำละเมิดอำนาจศาลมิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาล ผู้ถูกกล่าวหาก็สมควรได้รับการประกันสิทธิในทางอาญาด้วย การดำเนินคดีจึงสมควรต้องเป็นไปตามหลักประกันสิทธิในกระบวนการพิจารณาคดี

ส่วนสำคัญที่ทำให้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลของประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือการที่บทบัญญัตินี้ไม่สอดคล้องกับหลักการกระทำเดียวไม่อาจถูกลงโทษซ้ำ โดยในการกระทำความผิดละเมิดอำนาจศาล ผู้ถูกกล่าวหามักจะโดนความผิดอาญาฐานอื่นร่วมด้วยในการกระทำเดียว การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าการละเมิดอำนาจศาลมิใช่ความผิดในทางอาญา ทำให้ในการกระทำกรรมเดียวนี้สามารถลงโทษทางอาญา เช่น โทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และในความผิดอาญาฐานอื่นได้ทั้งสองฐานความผิด ทำให้เกิดข้อน่าพิจารณาว่าเป็นการลงโทษซ้ำซ้อน ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพบนเนื้อตัวร่างกายของตนมากเกินไป เมื่อเทียบกับการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลนั้น

การลงโทษซ้ำซ้อนนี้อาจช่วยทำให้ศาลสามารถดำเนินการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างราบรื่นรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้ลงโทษบุคคลซ้ำซ้อนนี้ อาจมิได้ทำให้สามารถบรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมายได้มากขึ้นแต่อย่างใด และกฎหมายไทยยังมิได้มีการเยียวยาอื่นที่ช่วยมิให้ผู้ถูกกล่าวหาโดนรัฐละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายมากจนเกินไป จากการที่ผู้ถูกกล่าวหาอาจโดนลงโทษในทางอาญาซ้ำสองครั้ง เช่น มีการหักเวลาที่ผู้กระทำผิดถูกจำคุกไปในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลออกจากเวลาที่จะถูกจำคุกในคดีหลัง คือความผิดอาญาฐานอื่นจากการกระทำเดียวนั้น

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลนี้ จึงยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกับหลักสิทธิมนุษยชนในทางสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และหลักการกระทำเดียวไม่อาจถูกลงโทษซ้ำอันเป็นหลักนิติรัฐ

.

.

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลกับหลักความได้สัดส่วน

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่การจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือการดำเนินงานทางยุติธรรม ดังนั้นเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ก็อาจถูกจำกัดได้ด้วยบทบัญญัติละเมิดอำนาจศาล อย่างไรก็ตามกฎหมายที่มีความชอบธรรมก็ควรจะต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ให้ได้ โดยจะต้องเลือกมาตรการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด แต่ทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายบรรลุผล เพื่อให้กฎหมายเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนอันเป็นหลักนิติรัฐ

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนี้ ก็ยังมีลักษณะขัดต่อหลักความได้สัดส่วนอยู่หลายประการ

ประการแรก ขอบเขตการบังคับใช้ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน กล่าวคือ กฎหมายละเมิดอำนาจศาลวางขอบเขตการใช้บังคับไว้ค่อนข้างกว้างและให้ดุลยพินิจแก่ศาลอย่างมาก ถ้อยคำที่ใช้ในบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะในส่วนของประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31 สามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องว่าพฤติการณ์ใดบ้างที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล และที่ใดจึงจะเรียกว่าเป็นบริเวณบริเวณศาลบ้าง

นอกจากนี้ บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 ยังเปิดโอกาสให้ศาลได้ออกข้อกำหนดของศาลว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยอีกด้วย การที่ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความได้ว่าการกระทำใดของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากครอบคลุมถึงการกระทำหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ประชาชนใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของตนในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ศาล หรือชุมนุมบริเวณศาลก็อาจถูกตีความจากศาล ซึ่งเป็นคู่กรณีเองได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ดังนั้นองค์กรศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องใช้กฎหมายในการระงับข้อพิพาท จึงมีส่วนอย่างมากในการวางขอบเขตของกฎหมายละเมิดอำนาจศาลนี้ ว่าจะสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มากเพียงใด จึงควรใช้หลักความได้สัดส่วนเข้ามาชั่งน้ำหนักระหว่างการใช้เสรีภาพดังกล่าวของประชาชน และการจำกัดเสรีภาพตามกฎหมายละเมิดอำนาจศาล เพื่อสะท้อนความเป็นนิติรัฐออกมาในคำพิพากษา อย่างเช่นในประเทศเยอรมนีที่กฎหมายละเมิดอำนาจศาลจะไม่ถูกนำไปใช้กับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม

อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย ศาลมีแนวโน้มเพียงไต่สวนให้เป็นที่ฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าข้อกำหนดศาลว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือเข้าข่ายการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเข้าองค์ประกอบของความผิดละเมิดอำนาจศาล ก็เป็นอำนาจของศาลที่สามารถลงโทษได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่จำต้องรับฟังสาเหตุหรือต้นสายปลายเหตุแห่งการกระทำนั้นแต่อย่างใด การโต้แย้งว่าการกระทำนั้นเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือการอ้างหลักนิติรัฐขึ้นมา ก็อาจไม่ถูกนำไปพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งในการพิพากษาคดี

ดังนั้นเพื่อไม่ให้การใช้ดุลยพินิจของศาลซึ่งก็นับเป็นคู่กรณี จึงอาจมีโอกาสในการใช้ดุลยพินิจผิดพลาดจนกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป ก็ควรมีการออกกฎหมายลำดับรองในการกำหนดขอบเขตในการบังคับใช้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลให้ชัดเจน

ประการที่สอง บทลงโทษจำคุกขัดต่อหลักความได้สัดส่วน กล่าวคือ การที่บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลมีโทษทางอาญาคือโทษปรับ และจำคุก โดยจะปรับได้ไม่เกินห้าร้อยบาท และจำคุกได้ไม่เกินหกเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้กำหนดโทษปรับไว้ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน แต่บทลงโทษจำคุกกลับวางเพดานไว้สูงอย่างมากเมื่อเทียบกับฐานความผิดที่ไม่ได้ร้ายแรง จึงเกิดข้อน่าพิจารณาได้ว่าอาจไม่ใช่มาตรการที่ทำให้เจตนารมณ์กฎหมายบรรลุผลมากที่สุด แต่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติที่มีมานาน และในอดีตการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ ธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลให้อยู่เหนือกว่าสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคมได้ จึงกำหนดโทษจำคุกไว้สูงเพื่อให้คนเกรงกลัว อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ความตระหนักถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนถือเป็นเรื่องสำคัญ บทลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนี้ ควรมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของสังคมด้วย เพดานโทษจำคุก 6 เดือนนั้นอาจสูงเกินความจำเป็น จำกัดสิทธิและเสรีภาพบนเนื้อตัวร่างกายของประชาชนมากเกินไป เมื่อเทียบกับประโยชน์ของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลที่จะได้จากการลงโทษจำคุก เป็นการขัดต่อหลักความได้สัดส่วน และการลงโทษจำคุกนี้ยังเป็นการเพิ่มภาระต่องบประมาณของรัฐ ต่างกับการใช้โทษปรับที่ไม่สร้างภาระให้กับรัฐและยังเป็นรายได้เข้าสู่รัฐได้อีกด้วย

เมื่อลองนำบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไปพิจารณาเทียบกับกฎหมายเรื่องละเมิดอำนาจศาลในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งมีขึ้นภายหลังก็จะพบว่ามีบัญญัติโทษจำคุกไว้ในมาตรา 64 เพียง 1 เดือน และยังมีการบัญญัติลงในตัวบทว่าให้ศาลใช้การลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลอย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็น ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าบทบัญญัติละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น อาจมิได้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่าใดนักเมื่อเทียบกับการเสริมสร้างอำนาจรัฐ

.

เอกสารอ้างอิง

บทความ/วิทยานิพนธ์

วินัย ตูวิเชียร. “ละเมิดอํานาจศาล.”, วิทยานิพนธ์ (น.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525.

จุฑารัตน์ แก้วกัญญา. “กฎหมายละเมิดอํานาจศาลในประเทศไทย.”, สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กองกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางอาญา, 2557.

รายงานการศึกษาวิจัย

เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล และคณะ. “หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล.”, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2560.

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา. “การละเมิดอำนาจศาล: ศึกษาเปรียบเทียบศาลรัฐธรรมนูญไทยกับต่างประเทศ”.กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2562.

อื่นๆ

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม. เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง. “หลักประกันความเป็นธรรม: ในการพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลของศาลปกครอง.”

.

X