ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้านพยานปากแรกถึงเหตุจูงใจและวิธีการปฏิบัติในคดีอาญาอื่นๆ เหมือนกันกับ ไผ่ จตุภัทร์ หรือไม่ ทำไมถึงต้องขอกำลังจากทหารและตำรวจมาดูแลเวลาขึ้นศาล จนนำไปสู่คำถามบรรทัดฐานการละเมิดอำนาจศาล คืออะไร?
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดถามค้านพยานผู้กล่าวหาคดี 7 นักศึกษาละเมิดอำนาจศาล โดยพยานปากแรกคือ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่น (ผอ.ศาล) สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 60 เป็นวันที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเบิกตัว ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา มาถามคำให้การ หลังถูกพนักงานอัยการฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวออนไลน์บีบีซีไทย (อ่านรายละเอียกเพิ่มเติม ที่นี่ ) และในวันดังกล่าวกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ได้ทำกิจกรรมให้กำลังใจไผ่ จตุภัทร์ บนฟุตบาทหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น
โดยกิจกรรมดังกล่าวมีการร้องเพลง อ่านกวี อ่านแถลงการณ์และวางดอกไม้เพื่อให้กำลังใจไผ่ จตุภัทร์ จนเป็นเหตุให้มีการตั้งข้อกล่าวหาให้กับนักศึกษาทั้ง 7 คน โดยมี อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พายุ บุญโสภณ, อาคม ศรีบุตตะ, จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (กลุ่มดาวดิน) และณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ (กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่) และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘นิว’ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่ )
โดยทนายผู้ถูกกล่าวหาถามถึงมีวิธีการปฏิบัติหรือการดูแลเกี่ยวกับผู้ต้องหาอย่างไร เนื่องจากว่ามีทหารเข้ามานั่งรับฟังการพิจารณา การตรวจรถยนต์ รวมถึงการตรวจบัตรประชาชน ในคดีอาญาอื่นๆ มีการปฏิบัติแบบนี้หรือไม่ และศาลเริ่มประสานงานกับทหารและตำรวจตั้งแต่เมื่อไหร่
ด้าน ผอ.ศาล กล่าวว่าในคดีจตุภัทร์ ก่อนหน้านี้หรือคดีอื่น เวลามีการพิจารณาคดี ศาลได้ให้ทหารมาช่วย รวมทั้งตำรวจเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลไม่พอ โดยส่วนตัวไม่ได้ประสานกับทหารเองโดยตรง แต่ผู้พิพากษาเป็นคนประสาน ส่วนการสอบถามชื่อ ที่อยู่ ฯลฯ ในคดีอื่นๆ ไม่มีการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความวุ่นวาย จึงได้เริ่มประสานงานกับทหารและตำรวจตั้งแต่ศาลอนุญาตให้ถอนประกันไผ่ จตุภัทร์ ครั้งแรก แต่ไม่เคยทำเป็นหนังสือไปเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่ติดต่อประสานงานงานด้วยวาจา
กรณีที่กลุ่มบุคคลที่ทำสัญลักษณ์ มีการชูมือเพื่อให้กำลังใจ ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่นั้นต้องดูที่เจตนาว่าทำสัญลักษณ์อะไร ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหานั้นตนได้หารือกับผู้พิพากษา แต่ไม่ได้หารือกับทหารและตำรวจ และได้ติดต่อขอกำลังเจ้าหน้าที่ก่อน 1 วัน โดยคาดการณ์จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าจะมีเหตุ เช่น มีการรายงานข่าวว่าจะมีการวางพวงหรีด แต่ยังไม่ได้มีการวางจึงไม่ได้มีการบันทึกไว้ และเหตุที่มีการแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มผู้มาให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์ นั้น เนื่องจากมีการแสดงสัญลักษณ์ตาชั่ง โดยมีรองเท้าบูทของทหาร และอีกข้างของตาชั่งเป็นถังน้ำเล็กๆ
ต่อมาทนายผู้ถูกกล่าวหา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนถามค้านพยานว่าในวันดังกล่าวมีมวลชนมาให้กำลังใจ ไผ่ จตุภัทร์จำนวนมาก และเป็นการพิจารณาลับ ซึ่งมีเฉพาะทนาย ผู้ต้องหาและญาติของผู้ต้องหาเท่านั้นที่อยู่ในห้องพิจารณาได้ ซึ่งคนที่มาให้กำลังใจได้ทำตามคำสั่งของศาล โดยไปให้กำลังใจและเยี่ยมไผ่ใต้ถุนศาล และในวันดังกล่าวหลังพิจารณาเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไผ่กลับเรือนจำทันที นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทหาร สื่อมวลชน และประชาชนอยู่ด้วย และก่อนจะมีการทำกิจกรรมหรือถ่ายภาพมี รปภ. ได้แจ้งนักศึกษาให้ไปทำกิจกรรมด้านนอก พยานทราบหรือไม่
กิจกรรมของกลุ่มนักศึกษามีการร้องเพลง อ่านบทกวี อ่านแถลงการณ์ และวางดอกไม้ เพื่อให้กำลังใจไผ่ นอกจากนี้นักศึกษายังประกาศว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค พยานทราบไหม และในวิดีโอนักศึกษาพูดว่า “ไม่ผิดไม่เป็นไร” แต่ไม่ได้มีการพูดถึงศาล นอกจากนี้หลังเสร็จกิจกรรมก็มีการเก็บขยะ และไม่ได้แสดงสัญลักษณ์อะไร ส่วนตาชั่งที่มองว่าเป็นสัญลักษณ์นั้นยังมีสภาทนายความ คณะนิติศาสตร์ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวมันสื่อถึงความยุติธรรม และกลุ่มนักศึกษาได้นำรองเท้าบูทมาเป็นสัญลักษณ์ดังกล่าวข้างหนึ่งนั้น เพราะรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมได้หายไป เนื่องจากทหารได้เข้ายึดอำนาจ
ผอ.ศาล กล่าวว่าตนทราบเฉพาะว่ามีนักศึกษาและทราบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ แต่ไม่ทราบว่ามีใครบ้าง คนที่ทำกิจกรรมแต่งตัวคล้ายนักศึกษา แต่ไม่ทราบว่ามีกลุ่มอื่นหรือไม่ ส่วนถ้อยคำ “ไม่ผิดไม่เป็นไร” ไม่ทราบ เพราะตนฟังไม่ชัด จับใจความไม่ได้ หลังจากที่ได้รับรายงานก็ได้ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยตรวจสอบ
จากนั้นทนาย ผู้ถูกกล่าวหาถามค้านพยานว่าท่านทราบหรือไม่ว่าคนที่ละเมิดอำนาจศาลต้องก่อกวนการพิจารณาคดี แต่การกระทำของนักศึกษาเป็นการกระทำนอกศาลและไม่ปรากฏการกระทำใดๆ กับป้ายหรือทำลายทรัพย์สินของศาล และหากมีการกระทำใดๆ ที่มีการกระทบต่อศาลก็ต้องมี รปภ.ไปแจ้งกับนักศึกษาและในขณะที่นักศึกษาทำกิจกรรมดังกล่าว ก็ได้มี รปภ. ยืนสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้ห้าม
ผอ.กล่าวตอบทนายว่า กิจกรรมของนักศึกษาไม่ได้มีการทำลายทรัพย์สินของศาลจริง และมีการห้ามทำกิจกรรมก่อนการเริ่มกิจกรรม แต่ขณะทำไม่ได้ห้าม เพราะดูที่เจตนา
ต่อมาเวลาประมาณ 13.30 น. ทนายผู้ถูกกล่าวหาถามค้านพยานผู้กล่าวหาปาก พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามชัด พยานปากที่ 2 ก่อนเริ่มถามค้าน พายุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ขอแถลงว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 60 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นบ้านเช่า โดยไม่มีหมายค้นจากศาล และได้ตรวจยึดเอกสารที่ผู้ถูกกล่าวหาเตรียมไว้เป็นพยานหลักฐานที่ยืนยันว่า พวกผู้ถูกกล่าวหาทำกิจกรรมเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ไป ผู้ถูกกล่าวหาคิดว่า พยานฝ่ายผู้กล่าวหาปากนี้อยู่ร่วมเป็นชุดตรวจค้นในวันดังกล่าวด้วย จึงอยากสอบถามถึงเอกสารดังกล่าวว่าอยู่ที่ใด และอยากขอคืนเพื่อนำมาเป็นพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ รับว่า อยู่ร่วมในชุดตรวจค้นในวันดังกล่าวจริง พยานไม่ทราบว่า มีการยึดเอกสารหรือไม่ แต่พยานไม่ได้ยึดเอกสารมา และไม่ทราบว่าเอกสารอยู่ที่ใด
พยานตอบคำถามค้านโดยสรุปว่า รับราชการตำรวจอยู่ที่ สภ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น และมาช่วยราชการที่ สภ.เมืองขอนแก่น ตั้งแต่กลางปี 2558 ในตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปราม มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกชนิด ส่วนหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นหน้าที่พิเศษที่ต้องได้รับมอบหมาย โดยช่วงที่พยานมาช่วยราชการที่ สภ.เมืองขอนแก่น เป็นช่วงที่ คสช.ปกครองประเทศ และทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคล ตรวจค้น ซึ่งตำรวจก็ต้องให้ความร่วมมือหากทหารขอมา ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังความเคลื่อนไหว โดยกลุ่มที่ได้รับรายงานว่ามีการเคลื่อนไหว คือ กลุ่มนักศึกษา ม.ขอนแก่น ทั้งนี้ พยานได้รับมอบหมายให้เฝ้าระวังด้วยวาจา ไม่มีบัญชีรายชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร
การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถ้ามีชาวบ้านเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พยานก็ต้องเฝ้าระวัง ในการปฏิบัติงานของพยาน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ บ้าง
ในวันเกิดเหตุ (10 ก.พ. 60) เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ประสานให้ตำรวจจัดกำลังมาดูแล พยานจึงมาที่ศาล ตั้งแต่เวลา 09.00-10.00 น. โดยพยานอยู่บนห้องพิจารณาของศาล (ภายหลังพยานบอกว่า ไม่ได้ขึ้นไปที่ห้องพิจารณา แต่อยู่ที่ห้องพักทนายความ) ไม่ได้เดินลงไปดูเหตุการณ์ที่หน้าศาล แต่พยานรู้ว่ามีประชาชนมาให้กำลังใจจตุภัทร์เป็นจำนวนมาก ประมาณไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ และไม่รู้มาจากกลุ่มไหนบ้าง พยานไม่ได้รับรายงานว่า จะมีการก่อเหตุร้าย พยานมีผู้ใต้บังคับบัญชาไปด้วยกัน 1 คน ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้เตรียมอุปกรณ์ในการบันทึกภาพและวีดิโอไป เผื่อว่ามีกรณีที่เกิดเหตุร้ายจะได้ใช้บันทึกเหตุการณ์ ทั้งนี้ พยานจึงไม่ใช่ประจักษ์พยานในคดีนี้ เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ได้รับการบอกเล่าจากผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน
ในวันดังกล่าวไม่มีคนไปขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตำรวจก็ไม่ได้เข้าขัดขวางการทำกิจกรรม รวมทั้งไม่มีรายงานว่าได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น ส่วนกิจกรรมที่กลุ่มนักศึกษาจัดนั้นจะเกิดขึ้นหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีของจตุภัทร์หรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ ทั้งไม่ทราบว่า กิจกรรมที่จัดได้ใช้พื้นที่จราจรหรือทำให้จราจรติดขัดหรือไม่ และไม่ทราบว่า ที่บริเวณหน้าป้ายศาล มีป้ายห้ามจัดกิจกรรมหรือไม่
หลังวันเกิดเหตุ พยานได้รับการประสานจากศาลให้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ปรากฏในวีดิโอ พยานได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ตรวจสอบและทำรายงาน โดยใช้วีดิโอจากศาลเท่านั้น พยานไม่คุ้นหน้านักศึกษากลุ่มนี้ ไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มดาวดินหรือไม่ และไม่มีข้อมูลของกลุ่มดาวดิน ไม่รู้ว่ากลุ่มดาวดินทำกิจกรรมกับชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรหรือไม่ เคยถูกทหารเรียกไปปรับทัศนคติหรือถูกติดตามหรือไม่ (ภายหลัง พยานยอมรับว่าคุ้นหน้า เป็นกลุ่มเดิมที่เคยทำกิจกรรมต้านรัฐประหาร หรือเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่พยานเคยไปเฝ้าระวัง)
ในรายงานการตรวจสอบวีดิโอที่ระบุว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นกลุ่ม ขบวนการประชาธิปไตย ตำรวจไม่ได้มีข้อมูลกลุ่มดังกล่าวมาก่อน พยานก็ไม่รู้จักกลุ่มขบวนการประชาธิปไตย และพยานไม่เคยเห็นรายงานดังกล่าวมาก่อน นอกจากนี้ เอกสารทั้งหมดที่เป็นข้อมูลจากการตรวจสอบรายชื่อบุคคลในวีดิโอที่นำส่งศาลไม่มีลายมือชื่อของพยานเข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากพยานมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำการตรวจสอบ
การตรวจสอบหารายชื่อบุคคลในวีดิโอ ทำโดยเอาข้อมูลไปค้นจากคอมพิวเตอร์ของทะเบียนราษฎร์เปรียบเทียบกัน ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานตรวจสอบได้รายชื่อบุคคลมาเพียงแค่ 7 คน
การตรวจสอบรายชื่อบุคคลนั้น ในบางครั้งพยาน ก็จะสอบถามจากหน่วยข่าวของทหารด้วย แต่ในคดีนี้พยานไม่ได้สอบถามจากหน่วยข่าวทหาร
ในบันทึกคำให้การพยานชั้นไต่สวน ที่พยานให้ความเห็นว่า มีกลุ่มบุคคลมาปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทางและอุปกรณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาลนั้น พยานดูจากวีดิโอ แต่พยานจำไม่ได้ว่า มาจากเนื้อหาในบทกวี เพลง หรือแถลงการณ์ที่นักศึกษาอ่าน และจำไม่ได้ว่า เนื้อหาดังกล่าวได้พาดพิงถึงศาลขอนแก่นหรือไม่ โดยที่พยานก็ไม่ได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถอดเทปว่ามีการปราศรัยหรืออ่านแถลงการณ์ว่าอย่างไรบ้าง
คดีนี้เป็นที่น่าจับตาว่าบรรทัดฐานของคำว่า “ละเมิดอำนาจศาล” คืออะไร และมีขอบเขตแค่ไหน ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนยังคงสามารถติดตามและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยการเข้ารับฟังการพิจารณาคดีดังกล่าว ในวันที่ 27-28 ก.ย. 60 ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นนัด ส.ต.ธนากร น้อยสุข พยานฝ่ายผู้กล่าวหา เข้าตอบคำถามค้านทนายผู้ถูกกล่าวหา และไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหารวม 10 ปาก