6 ทะลุฟ้า ถูกถอนประกันคดีสาดสี เหตุขีดเขียน ‘ปล่อยเพื่อนเรา-ยกเลิก 112’ ผนังห้องเวรชี้ หลังขัง 1 คืน ศาลให้ประกัน ‘วิโรฌา’ เพียงคนเดียว

21 ม.ค. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันสมาชิกทะลุฟ้า 6 ราย ในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ได้แก่ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, “เปา”ปวริศ แย้มยิ่ง, “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ และ “ออ” วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ เนื่องจากกระทำผิดเงื่อนไขการให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากกรณีขีดเขียนฝาผนังในห้องเวรชี้ ขณะทั้ง 6 รายถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องเวรชี้ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา 

เวลาประมาณ 09.40 น. ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาได้ติดต่อแจ้งกับทนายความซึ่งเป็นนายประกันในคดีนี้ว่า สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า จำนวน 6 ราย ซึ่งได้ไปมอบตัวต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องเวรชี้ได้ทำการขีดเขียนฝาผนังเป็นข้อความต่างๆ เช่น ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ และ ‘ยกเลิก 112’ จำนวนหลายจุดด้วยกัน อีกทั้งยังได้ขีดเขียนคำหยาบคายลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งแขวนอยู่ด้านในห้องดังกล่าว

ชวัลนาถยังได้แจ้งกับทนายต่ออีกว่า ให้นำตัวจำเลยทั้ง 6 รายมาส่งมอบตัวต่อศาลอาญาภายในวันดังกล่าว ไม่เช่นนั้นแล้วจะออก ‘หมายจับ’ ทันที 

13.00 น. สมาชิกทะลุฟ้าทั้ง 6 ราย พร้อมด้วยทนายความเดินทางไปมอบตัวต่อศาลอาญา ทั้งที่ยังไม่มีการออกหมายจับแต่อย่างใด เมื่อไปถึงสมาชิกทะลุฟ้าทั้งหมดถูกคุมตัวไปยังห้องเวรชี้ 

ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธกรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขีดเขียนและทำลายทรัพย์สินของศาลอาญาขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องเวรชี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 

ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้ง 6 ราย ต่อศาลอาญา และขอให้ศาลได้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเวรชี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งเพิกถอนประกัน เนื่องจากข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 6 รายได้กระทำการขีดเขียนฝาผนังและทำลายทรัพย์สินของศาลอาญาในห้องเวรชี้นั้น ยังเป็นเพียงการกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่

ศาลสั่งถอนประกัน ทะลุฟ้าทั้ง 6 ราย โดยไม่ให้ไต่สวน ซ้ำยังตั้งเป็น ‘ละเมิดอำนาจศาล’ อีกคดี 

16.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันสมาชิกทะลุฟ้าทั้ง 6 ราย ในคดีสาดสีหน้าทุ่งสองห้อง โดยมี อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีศาลอาญาเป็นผู้ลงนามคำสั่ง โดยให้เหตุผลการถอนประกันว่ามาจากเหตุกระทำผิดเงื่อนไขการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในข้อกำหนดที่ว่า ‘ห้ามกระทำผิดซ้ำในลักษณะความผิดทำนองเดียวกัน’ 

ในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง นั้น ทั้งหมดถูกกล่าวหาด้วยข้อหา มาตรา 360 “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นกระทำผิดลักษณะเดียวกันกับการขีดเขียนและทำลายทรัพย์สินในห้องเวรชี้ของศาลอาญา

นอกจากนี้ในคำสั่งเพิกถอนประกัน ศาลยังได้ระบุอีกว่าจากการกระทำของจำเลยทั้ง 6 รายในห้องเวรชี้ ศาลได้ตั้งเรื่องในคดี ‘ละเมิดอำนาจศาล’ แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอีก ส่วนคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งหมดนั้น ศาลได้ยกทุกคำร้อง โดยไม่ได้ระบุเหตุผลแต่อย่างใด 

จากนั้นจำเลยทั้ง 6 ราย ถูกควบคุมตัวไปคุมขังต่อที่เรือนจำ โดย 5 ราย ได้แก่ ทรงพล, นวพล, พีรพงศ์, ปวรวิศ และวชิรวิชญ์ ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้านวิโรฌาถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

หลังถูกขัง 1 คืน ศาลให้ประกัน “ออ” วิโรฌา เพียงรายเดียว

22 ม.ค. 2565 ในช่วงเช้า ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว “ออ” วิโรฌา วัย 19 ปี กับศาลอาญาอีกครั้ง ซึ่งต่อมาศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว ลงนามโดย พลีส เทอดไท ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ทำให้วิโรฌาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากทัณฑสถานหญิงกลาง โดยใช้หลักประกันเดิมในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง

ในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ที่ทั้ง 5 รายถูกถอนประกันในครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นวพล, วชิรวิชญ์, ปวริศ และทรงพล เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 โดยนวพล วชิรวิชญ์ และปวริศ ถูกคุมขังเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 33 วัน ด้านทรงพลถูกคุมขังเป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 15 วัน 

ทั้งนี้ ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในครั้งนั้น นวพลและวชิรวิชญ์ได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ แต่ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติดีแล้ว และทำให้ในขณะนี้มีผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 22 รายแล้ว 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตร. แจ้ง 3 ข้อหา 13 มวลชนทะลุฟ้า เหตุปราศรัย-สาดสีใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง

เปิดบันทึกไต่สวน 4 สมาชิกทะลุฟ้า ก่อนได้ประกันตัวคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง แต่ ‘ไดโน่-ปีก’ ติดโควิดลงปอดในเรือนจำ จนรายแรกต้องเลื่อนงานแต่ง

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

X