ไม่ได้ด่าศาล แต่ด่าจนท.ซึ่งอ้างมาตรการโควิดกับประชาชน: จับตาศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาลของ “กระเดื่อง” #ศิลปะปลดแอก

พรุ่งนี้ (25 มิ.ย. 2564) เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “กระเดื่อง” พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง สมาชิกกลุ่ม #ศิลปะปลดแอก หรือ Free Arts เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎร 7 คน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 บริเวณหน้าศาลอาญา 

คดีนี้ ศาลนัดไต่สวนไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 64 โดยมีพยานทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา), พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน (พยาน) และตัวของกระเดื่อง ผู้เป็นจำเลย

>>> เปิดบันทึกไต่สวนละเมิดอำนาจศาล “กระเดื่อง” ศิลปะปลดแอก เหตุ ร้องให้ประกันแกนนำ #ม็อบ29เมษา เจ้าตัวชี้ วิจารณ์มาตรการโควิด ไม่ใช่ศาล

อนึ่ง คดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุวันที่ 29 เม.ย. 64 มีนักกิจกรรมถูกผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญากล่าวหาดำเนินคดีนี้ทั้งหมด 6 ราย โดยได้มีการไต่สวนคดีแยกเป็นรายบุคคลไป และมีหนึ่งคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษไปแล้วนั่นก็คือคดีของ “ไบรท์”​ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง โดยศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือนไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยเงินสดจำนวน 10,000 บาท

>>> ลงโทษจำคุก 4 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 แต่ไม่ถอนประกันคดี 19 กันยาฯ

ทำความรู้จัก พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง – นักดนตรีและศิลปินผู้ใช้งานศิลปะเพื่อวิพากษ์ความอยุติธรรม

สำหรับพิสิฎฐ์กุล หรือ “กระเดื่อง” คือนักดนตรีสายเพลงอิเลคทรอนิคส์ ดนตรีทดลองและดนตรีเทคโน และเป็นศิลปินผู้เลือกใช้งานศิลปะเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สภาวะสังคมในปัจจุบัน เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม #ศิลปะปลดแอก หรือ #FreeArts 

ชายหนุ่มวัย 35 ปี รายนี้เล่าว่า ในอดีต เขาเคยเข้าร่วมในการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 แต่ตอนนั้นไปในฐานะผู้สังเกตการณ์ ไม่ได้เข้าร่วมอย่างเต็มตัว จนเมื่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกลบเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เขาได้สะท้อนเกี่ยวกับความรู้สึกของตนที่เคยหมดหวังกับประเทศไทย แต่กลับได้พลังใจในการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในวันที่เกิดมวลชน #คณะราษฎร2563 

“เราเคยเป็นคนส่วนน้อย เคยโดนด่าว่าเป็นควายแดง จนมาถึงรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 57 มันตอกย้ำให้เรารู้สึกหมดแรง เพราะแม้จะมีคนออกมาต่อต้าน แต่ก็ไม่ได้เยอะ จนทำให้เริ่มหมดหวังกับประเทศนี้ เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมากขึ้น อยู่ไทยไม่ถึงสามสี่เดิอนต่อปี”

“เราเริ่มกลับมารู้สึกมีพลังอีกครั้งเมื่อมีการเคลื่อนไหวปีที่แล้ว ทำให้เรารู้สึกว่า คนมันเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่และรุ่นเราหันมาสนใจประชาธิปไตยมากขึ้น คนที่เคยมองว่าเราหัวรุนแรง ล้มล้างสถาบัน พอมาถึงปีที่ผ่านมา  คนกลุ่มเดิมเริ่มเข้าใจเรามากขึ้น ว่าเราไม่ได้ต้องการล้มล้างสถาบัน เราแค่ต้องการปฏิรูป ทำให้สังคมมันอยู่ในหลักการและเหตุผล เป็นบรรยากาศใหม่ที่ทำให้เราสามารถคุยกับเพื่อนได้”

“คนรุ่นใหม่ทำให้เรารู้สึกว่า ประเทศนี้มันยังมีอนาคต ทำให้อยากเข้าร่วมในการเคลื่อนไหว เป็นจุดเริ่มต้นของการทำศิลปะปลดแอก เรารู้สึกอยากกลับมาอยู่ประเทศไทยมากขึ้น อยากจะมีชีวิตที่ดี และเราเชื่อว่าเป็นไปได้ แม้ว่าตอนนี้กฎหมายพยายามจะกดเราก็ตาม แต่สังคมมันเปลี่ยนแล้ว และไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป”

หลังจากเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม “ศิลปะปลดแอก” ซึ่งก่อตั้งในช่วงเดือนกันยายน 2563 จนถึงปัจจุบัน กระเดื่องถูกกล่าวหาในคดีการเมืองแล้วรวม 3 คดี ได้แก่ คดีหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งกระเดื่องร่วมนอนให้เจ้าหน้าที่จับกุมหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็นวันที่ 28 มีนาคม 2564, คดีละเมิดอำนาจศาล และคดีดูหมิ่นศาลพร้อมข้อหาอื่นๆ เหตุจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน ในทั้งสองคดี

>>> “การที่คนยอมนอนให้จับ ก็เพื่อจะบอกว่าคุณทำสิ่งที่ผิดอยู่”: คุยกับ ‘กระเดื่อง’ ศิลปะปลดแอก ว่าด้วยคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า

ในการชุมนุมวันนั้น กระเดื่องเล่าว่า ตัวเขาเองติดตามคดีความของนักเคลื่อนไหว และมักจะคอยมาให้กำลังใจเวลาที่มีใครต้องขึ้นศาล ทว่าในวันดังกล่าวได้มีการอ่านประกาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าการชุมนุมครั้งนี้อาจเสี่ยงให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส ในฐานะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโรคระบาดของรัฐ ตนจึงเกิดความโกรธ เนื่องจากตลอดปีที่ผ่านมา เขาต้องสูญเสียรายได้ ทั้งๆ ที่พยายามปฏิบัติตามคำสั่งมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฎตามข่าวว่า การระบาดหลายครั้งก็สืบเนื่องมาจากความไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น

“ปกติ ผมเป็นคนที่คอยติดตามคดีความของเพนกวินและนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ อยู่แล้ว เวลาทุกครั้งที่เขาขึ้นศาลกัน ผมก็จะเดินทางมาให้กำลังใจ ในวันนั้น มีการนัดหมายที่จะทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย เพื่อร้องขอความยุติธรรมจากศาล”

“ผมมาถึงประมาณบ่ายโมง พอมาถึงก็สังเกตการณ์ตามปกติ เพราะเราก็รู้อยู่ว่าการชุมนุมในบริเวณนี้อาจจะมีเรื่องของการละเมิดอำนาจศาล แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะโดนคดี แต่รับรู้ว่า ถ้าทำกิจกรรมในบริเวณนี้ก็อาจจะมีความผิดตามมา แต่ใจผมก็ไม่ได้คิดจะมาทำอะไร แค่อยากจะมาฟังเฉยๆ เท่านั้น”

“จากนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาประกาศข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งตอนนั้นเรามีความโกรธด้วย ทั้งจากตอนที่รู้ข่าวว่าเพนกวินถ่ายเป็นเลือด การที่เพนกวินอดอาหารแล้วศาลก็ยังไม่ให้ประกัน แต่เราก็ยังไม่ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจ ตอนแรกไม่คิดจะตอบโต้ แต่เห็นว่า ทางตำรวจประกาศหลายรอบมาก เรื่องมาตรการโควิด 19 บอกว่าการชุมนุมนี้ส่งผลเสี่ยงให้คนติดเชื้อ”

“ตัวเราเอง ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เราเป็นคนที่เคยหารายได้ ด้วยการเดินทางไปเล่นดนตรีที่ต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและพื้นที่แถบเอเชียด้วย รายได้หลักเรามาจากตรงนั้น ปีที่แล้วจริงๆ จะต้องมีทัวร์ เพราะเพิ่งออกอัลบั้มใหม่ แต่พอมันเกิดการระบาดของโควิด เราก็ไม่อยากไป เลยต้องยกเลิกงาน ทำให้หนึ่งปีนั้นเราไม่สามารถไปไหนได้เลย ทำให้เราต้องใช้เงินเก็บของตัวเอง” 

“ทุกครั้ง ประชาชนจะพยายามรับผิดชอบกับตัวเองและสังคม แล้วแต่ละครั้งที่มันเกิดเหตุการณ์ระบาดเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดมาจากผู้ชุมนุมหรือประชาชน แต่มันเกิดมาจากสิ่งที่รัฐทำ แล้วการที่รัฐหันมาใช้มาตรการเหล่านี้ตลอดเวลา โดยการมาพูดกับเราว่า ไอ้การชุมนุมนี้ มาเรียกร้อง มาอยู่ตรงนี้ มาฟังว่าศาลว่าจะมีคำสั่งให้ประกันหรือไม่ หาว่ามันผิดข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันก็ทำให้เราเกิดบันดาลโทสะเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องเผชิญตลอดปีที่ผ่านมา มันเยอะไปหมด คำพูดของตำรวจกลายเป็นสิ่งจุดประกายความโกรธของเรา ทำให้เราไม่ไหว จนมันระเบิดออกมา กลายเป็นคำด่าทอ” 

“ถึงแม้มันจะมีท่อนที่หยาบคาย แต่ถ้าฟังทั้งหมดก็จะรู้ว่า เราโดนผลกระทบอะไรมาบ้าง การที่คลัสเตอร์โควิดทั้ง 3 ครั้งมาจากเจ้าหน้าที่หรือคนที่มีความสัมพันธ์กับรัฐมันสะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบ ประชาชนอย่างเราๆ เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบทุกอย่าง มากกว่าที่รัฐสั่งด้วยซ้ำไป เราป้องกันตัวเองตลอด จุดหนึ่งมันทำให้เราบันดาลโทสะ พอตำรวจหยุดประกาศ เราก็ออกมาสูบบุหรี่ แล้วก็ทำกิจกรรมกับ Free Arts แล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้สร้างความวุ่นวายอะไร”

“เรายืนยันว่า เราไม่ได้ด่าศาล หรือบังคับ หรือละเมิดอะไร เราพูดเพราะแค่เราต้องการแสดงซึ่งสิทธิของเรา เพราะเรารู้สึกว่าถูกกดทับมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาโดยการจัดการของรัฐ สื่งที่มาบังคับใช้กับประชาชนก็ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยซ้ำที่ติดโควิดมากกว่าประชาชน คำด่าทอของเราไม่เจาะจงไปที่ใคร เพียงแค่ต้องการพูดสิ่งที่อยู่ในใจเท่านั้น”

 

X