วันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวน ‘เอเลียร์ ฟอฟิ’ สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก วัย 30 ปี ในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎร 7 คน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ โดยมีผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาเป็นผู้กล่าวหา
ในนัดนี้ ศาลได้ไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย ได้แก่ นางสาวชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน ผู้ประกาศแจ้งเตือนให้ยุติการใช้เสียงของผู้ชุมนุม และเอเลียร์ ผู้ถูกกล่าวหา
.
เปิดบันทึกการไต่สวนละเมิดอำนาจศาล ผู้กล่าวหายอมรับด่าจริง แต่ด่าถึงการทำงานของรัฐบาลในการจัดการโรคโควิด
ในวันนี้ ที่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิและขอบัตรประชาชนผู้มาใช้บริการที่ศาล อีกทั้งก่อนเข้าห้องพิจารณาเจ้าหน้าที่ศาลยังได้ขอเก็บโทรศัพท์มือถือของทนายความ คู่ความ และผู้สังเกตการณ์อีกด้วย โดยมาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการปกติที่มีในทุกวัน
เวลา 09.30 น. ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลขึ้นบัลลังก์ ก่อนไต่สวน ศาลได้ประกาศเน้นย้ำถึงข้อกำหนดในระหว่างเข้าร่วมการพิจารณาคดี คือ ห้ามไม่ให้ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคนบันทึกภาพ เสียง หรือถ่ายทอดภาพ รวมไปถึงการจดบันทึกถ้อยคำแถลงในระหว่างพิจารณาคดี โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในห้องพิจารณา และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดําเนินไปด้วยความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว
.
พยานปากที่ 1: ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา
พยานปากที่ 1 ผู้กล่าวหาในคดีนี้แถลงว่า ขณะเกิดเหตุตนดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา
ในวันเกิดเหตุ 29 เม.ย. 64 มีมวลชนมารอฟังผลการยื่นขอประกันนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น อาทิ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อานนท์ นำภา, ‘ไมค์’ ภาณุพงษ์ จาดนอก, ‘แอมมี่’ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และ ‘จัสติน’ ชูเกียรติ แสงวงค์
การชุมนุมดังกล่าวมีการทำกิจกรรม ‘ยื่นจดหมายราชยุติธรรม’ ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา และอ่านกลอน “ตุลาการภิวัตน์”
ผู้กล่าวหาแถลงอีกว่า ขณะเกิดเหตุตนไม่ได้พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาล จึงได้เดินทางมาถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 16.00 น. ในเวลานั้นยังคงมีประชาชนหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่งเพื่อรอฟังผลการยื่นขอประกันตัว แต่ไม่พบเห็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในบริเวณดังกล่าวแล้ว
เวลาประมาณ 18.00 น. เมื่อมวลชนทราบผลการยื่นขอประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง โดยศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทุกราย มวลชนจึงได้เลิกชุมนุมและทยอยกลับไป
ต่อมา จากการสืบสวนของฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน สืบทราบตัวบุคคลพร้อมการกระทำ จำนวน 6 ราย รวมถึงเอเลียร์ด้วยนั้น เมื่อตนได้ทราบรายงานดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบจากภาพบันทึกของกล้องวงจรปิด CCTV พบพฤติการณ์คือร่วมกับผู้อื่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยวุ่นวาย จึงได้จัดทำรายงานส่งไปยังอธิบดีศาลอาญาในขณะนั้น และอธิบดีศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ตั้งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล
ผู้กล่าวหาแถลงว่า เมื่อตรวจดูคลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน บันทึกได้ ปรากฏภาพของเอเลียร์ยืนอยู่ร่วมกับกลุ่มมวลชน บริเวณด้านหน้าบันไดทางเข้าศาล ผู้กล่าวหากล่าวว่า ในภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวเอเลียร์แสดงกิริยาท่าทางคล้ายการพูดหรือตะโกนด่าทอบางอย่าง แต่ไม่เห็นรูปปาก เนื่องจากขณะนั้นเอเลียร์ สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ อีกทั้งยังไม่ได้ยินเสียงชัดเจน เนื่องจากเขาไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง
จากนั้นทนายความผู้กล่าวหาได้ซักถามผู้กล่าวหาในประเด็นต่างๆ โดยผู้กล่าวหาได้เบิกความว่า โดยปกติแล้วจะเมื่อมีการยื่นขอประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองก็มักจะมีมวลชนมาร่วมให้กำลังใจในบริเวณศาลอยู่เสมอๆ
ในวันเกิดเหตุ ศาลไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรอง โดยผู้กล่าวหาแถลงว่า จุดคัดกรองนั้นเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยในการพิจารณาคดีมาตรา 112 โดยเป็นการคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาในพื้นที่ศาล เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หลักการคือจะให้ทุกคนเข้ามาได้ ยกเว้นบุคคลที่คาดว่าจะก่อความไม่สงบ
อีกทั้งศาลยังไม่ได้กำหนดจุดรับรองให้มวลชนที่มาให้กำลังใจ เนื่องจากวันดังกล่าวไม่ได้รับการติดต่อเข้ามาว่าจะมีประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
ผู้กล่าวหาแถลงว่า บริเวณพื้นที่บันไดทางเข้าของศาลอาญา มีการวางแผงเหล็กกั้นไว้อยู่ ผู้ชุมนุมบางส่วนยืนอยู่นอกแผงกั้นดังกล่าว แต่ก็มีมวลชนบางส่วนฝ่าแผงกั้นเข้ามาอยู่ด้านใน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแกนนำ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เข้าไปหลังแนวแผงเหล็กกั้นด้วย
ผู้กล่าวหาได้ตอบคำถามอีกว่า ก่อนวันเกิดเหตุทราบจากข่าวมาว่า ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้มีการทรุดลงจากการอดอาหารเป็นเวลาหลายวัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่นั้นไม่ทราบได้ โดยทราบว่า หลังศาลมีคำสั่งเรื่องการขอประกันตัว สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ได้เจรจาพูดคุยกับผู้ชุมนุมให้ทำการแยกย้ายกลับไป โดยไม่ต้องชุมนุมค้างคืนที่ศาล
ในช่วงเวลาที่มีมวลชนมารวมตัวกันด้านหน้าศาลอาญา ศาลก็ดำเนินการพิจารณาคดีอื่นๆ ไปด้วย ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ใดมาร้องเรียนว่าต้องเลื่อนการพิจารณาจากเหตุชุมนุมดังกล่าว และไม่มีการร้องเรียนว่าผู้มารับบริการไม่ได้รับความสะดวก แต่ผู้กล่าวหาเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวทำให้ศาลต้องนำแผงเหล็กออกมาวางกั้นไว้บริเวณด้านหน้าบันไดก่อนขึ้นศาล โดยสภาพแล้วทำให้เป็นการไม่สะดวกกับผู้ที่มาศาล
.
พยานปากที่ 2: พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน (พยาน)
พยานปากที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน แถลงว่า ก่อนวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากตำรวจศาล ว่าจะมีตัวแทนผู้ชุมนุมมายื่นหนังสือเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองต่อศาลอาญา
พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังมารักษาความปลอดภัยที่ศาลอาญาและบริเวณโดยรอบ ในเวลาตั้งแต่ 08.00 น. จำนวนประมาณ 50 นาย
ในวันเกิดเหตุตำรวจได้ประสานงานกับตัวแทนผู้ชุมนุม ว่าสามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมได้ เฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นถนนบริเวณสามแยกด้านหน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญาเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาประมาณ 12.00 น. ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อกับตัวแทนผู้ชุมนุมคนดังกล่าวได้ และผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันบริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา
รอง ผกก.สน.พหลโยธิน จึงได้ประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมถึงข้อกำหนดของศาลอาญาให้ผู้ชุมนุมรับทราบ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังฝ่าฝืนและทำกิจกรรมดังกล่าวต่อไป อีกทั้งยังมีการนำเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กมาใช้ บางรายได้ฝ่าแนวแผงเหล็กกั้นบริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นศาล เข้าไปยืนอยู่พื้นที่ด้านใน
พยานแถลงยืนยันว่าขณะนั้นได้ยินเอเลียร์ตะโดนด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยคำพูดหยาบคายว่า “ไอเหี้ย ไอสัตว์” ในขณะที่ตำรวจกำลังประกาศถึงผู้ชุมนุมอยู่
หลังจากนั้นตำรวจจึงได้ประกาศครั้งที่ 5 ในลักษณะเดิม ต่อจากนั้นเบนจา อะปัญ ได้ขึ้นมาบริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา และได้โปรยกระดาษซึ่งเป็นหนังสือที่นำมายื่นต่อศาล รวมถึงทำกิจกรรมพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง
จนถึงเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยออกจากแผงเหล็ก และหลังเวลา 17.00 น. ผู้ร่วมชุมนุมได้ทยอยกลับ เหตุการณ์ได้กลับสู่ภาวะปกติ
ในระหว่างการไต่สวน พยานได้ให้เจ้าหน้าที่ศาลเปิดพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พยานถ่ายได้ในขณะเกิดเหตุ โดยวิดีโอดังกล่าวชื่อว่า นายพิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และนายเอเลียร์ ฟอฟิ ความยาว 03.33 นาที เป็นคลิปเหตุการณ์ขณะที่ รอง ผกก.สน.พหลโยธิน อ่านประกาศข้อกำหนดของพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ในวิดีโอปรากฏ นายพิสิฎฐ์กุลมีการตะโกนด่าทอแสดงความไม่พอใจของรัฐเกี่ยวกับการแก้ไขจัดการปัญหาโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุมรายอื่นตะโกนด่าเป็นระยะ แต่ไม่พบว่าเอเลียร์ใช้เครื่องขยายเสียงแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ได้ฝ่าแผงกั้นเข้ามาอีกด้วย
พยานแถลงว่า เข้าใจว่าคดีทางการเมืองจะมีมวลชนมาให้กำลังใจเป็นปกติ แต่หากผู้ชุมนุมติดต่อประสานงานเข้ามา ศาลอาญาก็จะได้จัดพื้นที่พักคอยไว้ให้รอได้ ทั้งนี้ตลอดการทำกิจกรรมดังกล่าวพยานแถลงว่า ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด
พยานกล่าวว่าก่อนหน้านี้ทราบว่า ‘เพนกวิน-พริษฐ์’ มีอาการทรุดหนักจากการอดอาหารและทราบอีกว่าคดีของนายพิสิฎฐ์กุล ซึ่งเกิดจากเหตุเดียวกันนี้ ศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว โดยพยานกล่าวอีกว่าตนยังเป็นพยานในคดีดังกล่าวอีกด้วย แต่ไม่เคยทราบว่านายพิสิฎฐ์กุลถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ
ในวันนั้นไม่พบว่ามีผู้แทนของศาลอาญาลงมารับหนังสือขอผู้ชุมนุมแต่อย่างใด แต่ทราบว่ามีการโปรยกระดาษ ซึ่งไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นอย่างไร
.
พยานปากที่ 3: เอเลียร์ ฟอฟิ (ผู้ถูกกล่าวหา)
เอเลียร์ขึ้นเบิกความ โดยกล่าวว่า ตนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการตัดต่อภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยในประเทศอิตาลี ปัจจุบันประกอบเป็นผู้จัดการดูแลกองถ่ายภาพยนตร์
ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ ตนได้ทราบข่าวว่าจะมีการชุมนุมยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง ตนซึ่งรู้จักและมีความสนิทสนมกับพริษฐ์ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว จึงตั้งใจเข้าร่วมการชุมนุมที่ศาลอาญา เพื่อให้กำลังใจแม่ของพริษฐ์เป็นพิเศษ
ในวันเกิดเหตุ ตนได้เดินทางมาศาลด้วยรถจักรยานยนต์ส่วนตัว และถึงศาลอาญาในเวลาประมาณ 11.00 น. จากนั้นได้เดินเข้ามาที่บันไดทางเข้าศาลอาญาและเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขณะนั้นได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมรักษาระยะระหว่างบุคคล ต่อมาเมื่อมีมวลชนมาเข้าร่วมมากขึ้น ตำรวจจึงได้ประกาศข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เอเลียร์แถลงว่าตนไม่ได้เป็นสมาชิกสังกัดกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และไม่ได้ร่วมกับกลุ่มดังกล่าวจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา
เอเลียร์แถลงยอมรับว่าในวันเกิดเหตุได้มีการด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณนั้นจริง แต่ไม่ได้มาจากสาเหตุความโกรธเคืองส่วนตัวแต่อย่างใด แต่มาจากความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 โดยตนได้ตะโกนด่าประมาณ 10 ครั้ง ตัวอย่างประโยค เช่น “พวกมึงนั่นแหละตัวแพร่โควิด”
ในวันเกิดเหตุตนได้อยู่ร่วมกิจกรรมที่บริเวณศาลอาญาถึงเวลาประมาณ 17.00 น. และได้เดินทางกลับ โดยยังไม่ทราบว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนักกิจกรรมทางเมืองที่ถูกคุมขังอยู่หรือไม่ ขณะออกจากศาลยังคงมีมวลชนรอฟังคำสั่งบริเวณหน้าศาลอาญาอยู่จำนวนหนึ่ง
เวลา 12.20 น. ศาลไต่สวนพยานทั้ง 3 ปากเสร็จสิ้น จึงได้กำหนดนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 19 ต.ค. 64 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ คดีละเมิดอำนาจศาล จากเหตุวันที่ 29 เม.ย. 64 มีนักกิจกรรมถูกผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญากล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 6 ราย โดยได้มีการไต่สวนคดีแยกเป็นรายบุคคลไป
ทั้งหมดยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 และข้อหาอื่นๆ รวม 6 ข้อหา จากการทำกิจกรรมที่ด้านหน้าศาลอาญาในวันเดียวกันนั้นอีกด้วย และศาลอาญาได้ออกหมายจับทั้งหก
กรณีของเอเลียร์ ฟอฟิ ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา และฝากขังกับศาลอาญาทุจริตฯ โดยเขาได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
รวบแล้ว 3 คน! กล่าวหา “ดูหมิ่นศาล” จากชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญา
.