ศาลรอกำหนดโทษ 2 ปี ‘เอเลียร์’ ศิลปะปลดแอก ฐานละเมิดอำนาจศาล ร้องสิทธิประกัน เจ้าตัวชี้ ‘ศาลควรฟังเสียงประชาชน’

วันนี้ (19 ตุลาคม 2564)  เวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ ‘เอเลียร์ ฟอฟิ’ สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก วัย 30 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาล จากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ด้านหน้าของศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎร 7 คน 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 ศาลได้นัดไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ได้แก่ ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, พันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน ผู้ประกาศแจ้งเตือนให้ยุติการใช้เสียงของผู้ชุมนุม และเอเลียร์ ผู้ถูกกล่าวหา และได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้

เปิดบันทึกไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ‘เอเลียร์’ ศิลปะปลดแอก ร้องสิทธิประกันหน้าศาลอาญา เจ้าตัวยอมรับ ‘ยืนด่าจริง’ แต่ด่าการทำงานของรัฐ

.

ในวันนี้ บริเวณด้านหน้าทางเข้าศาลอาญามีการตั้งจุดตรวจอุณหภูมิและคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าฟังการพิจารณาคดี อีกทั้งยังมีการให้ลงชื่อเพื่อบันทึกข้อมูลและเลขบัตรประชาชนไว้ด้วย โดยอนุญาตให้เฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีได้

ทั้งนี้ด้านหน้าห้องพิจารณาคดี เจ้าพนักงานตำรวจศาลได้ตั้งจุดเก็บโทรศัพท์มือถือผู้ร่วมสังเกตการณ์คดี และบังคับให้ผู้ร่วมสังเกตการณ์คนหนึ่งเปลี่ยนหน้ากากอนามัยซึ่งพิมพ์ลายคำว่า “Anti Prayut” เป็นหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา โดยอ้างว่าขอความร่วมมือไม่ให้สวมใส่สิ่งของที่มีนัยทางการเมืองเข้าไปภายในห้องพิจารณาคดี

ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยเท้าความเกี่ยวกับมูลเหตุของคดี ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนัดหมายผ่านเฟซบุ๊กให้มวลชนมาติดตามให้กำลังใจผลการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทางการเมืองในขณะนั้น จำนวน 7 ราย อาทิ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และจัสติน-ชูเกียรติ แสงวงค์ มีมวลชนราว 300 คน มารวมตัวกันที่หน้าอาคารศาลอาญา โดยในบริเวณดังกล่าว มีตำรวจรักษาการณ์ในพื้นที่ประมาณ 50 นาย และมีการวางแผงเหล็กกั้นที่ด้านหน้า

ต่อมา พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รองผู้กำกับการ สน.พหลโยธิน ได้ออกมาประกาศข้อกฎหมายเกี่ยวกับประกาศกรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดของศาลอาญา โดยอ่านซ้ำอยู่หลายครั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังฝ่าฝืนและทำกิจกรรมดังกล่าวต่อไป อีกทั้งยังมีการนำเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กมาใช้ บางรายได้ฝ่าแนวแผงเหล็กกั้นบริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นศาล เข้าไปยืนอยู่พื้นที่ด้านใน ซึ่งขณะนั้นนายเอเลียร์ได้ตะโกนด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยคำพูดหยาบคายว่า “ไอเหี้ย ไอสัตว์” และ “พวกมึงนั่นแหละตัวแพร่เชื้อ” ในขณะที่ตำรวจกำลังประกาศถึงผู้ชุมนุมอยู่

หลังจากนั้นตำรวจจึงได้ประกาศครั้งที่ 5 ในลักษณะเดิม จากนั้นเบนจา อะปัญ ได้ขึ้นมาบริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา และได้โปรยกระดาษซึ่งเป็นหนังสือที่นำมายื่นต่อศาล รวมถึงทำกิจกรรมพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง จนถึงเวลา 16.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยออกจากแผงเหล็ก และหลังเวลา 17.00 น. ผู้ร่วมชุมนุมได้ทยอยกลับ เหตุการณ์ได้กลับสู่ภาวะปกติ

ศาลระบุว่า แม้เอเลียร์จะให้การว่า การตะโกนด่านั้นเป็นการด่าการบริหารและการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรโควิด-19 ของรัฐบาล ไม่ได้พาดพิงหรือโจมตีการทำงานของศาล และอ้างว่าการด่าเป็นสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

แต่เสรีภาพนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดบุคคลอื่น จึงไม่สามารถอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งเมื่อตำรวจประกาศให้เลิกการทำกิจกรรม ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมเลิก 

ถึงแม้ในวันเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ได้ร่วมโปรยกระดาษ ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง และฝ่าแผงกั้นเข้าไปในบริเวณที่ศาลห้ามไว้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ร่วมตะโกนด่ากับผู้มาร่วมทำกิจกรรม ทำให้ผู้มาร่วมกิจกรรมเกิดความฮึกเหิม 

ทั้งนี้การด่าและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ผิดกฎหมายได้อีกหลายหลายวิธี แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาตะโกนด่าทอด้วยเสียงดังเป็นถ้อยคำหยาบคาย เป็นการประพฤติก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประกาศศาลอาญา เรื่องข้อกำหนดศาลอาญา ข้อที่ 1  

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า “ในวันเกิดเหตุแม้จะไม่สามารถระบุตัวผู้ถูกกล่าวหากับผู้ที่มาร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ได้ แต่ผู้ถูกผู้กล่าวหาก็ได้ร่วมตะโกนด่ากับผู้มาร่วมชุมนุม จึงนับว่ามีความผิดฐาน ‘ละเมิดอำนาจศาล’ 

“แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นเพียงผู้มาให้กำลังใจ และไม่ได้มีพฤติการณ์ร้ายแรง เป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยมีประวัติกระทำผิดมาก่อน มีประวัติการศึกษาที่ดี น่าจะมีอนาคต มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นว่าสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ ศาลจึงจะให้โอกาสสักครั้งหนึ่ง 

“จึงมีคำพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ เป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเช่นทำนองนี้อีกภายในกำหนดระยะเวลารอการกำหนดโทษนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56”

.

เอเลียร์เผย “ถ้าไม่มีพื้นที่พูดคุยกัน สังคมก็เดินไปข้างหน้าไม่ได้”

หลังฟังคำสั่งของศาลในคดีนี้เสร็จสิ้น เอเลียร์ได้เปิดเผยว่า ยังรู้สึกไม่พอใจกับการตัดสินในวันนี้ เพราะศาลควรจะรับฟังเสียงของประชาชนให้มากกว่านี้ 

“ถามว่าพอใจไหม ผมก็รู้สึกไม่พอใจเท่าไหร่ เสียงของเราคือเสียงของประชาชน มันเป็นเสียงที่เขาควรจะฟังที่สุดแล้ว 

“แต่กลับกลายเป็นว่าเขาพยายามที่จะไม่ฟังเสียงเหล่านั้น คิดว่าตัวเองมีกฎหมายอยู่ในมือ เขาเลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องฟังเสียงใคร เขาเลือกที่จะไม่เอาเสียงของพวกเราในวันนั้นไปปรับปรุงแก้ไข แต่กลับเลือกที่จะลงโทษที่เราไม่คิดเหมือนกับเขา

“สุดท้ายถ้าไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยกัน สังคมมันก็ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้”

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 มีผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลทั้งหมด 6 ราย ได้แก่ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง และเอเลียร์ ฟอฟิ ทั้งหมดยังถูกกล่าวหาในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” และข้อหาอื่นๆ แยกออกไปอีกด้วย

คดีของเอเลียร์นับเป็นคดีที่ 3 ที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้ มีคดีของ ‘ชินวัตร’ ที่ศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ด้วยเงินสดจำนวน 10,000 บาท และคดีของ ‘พิสิฎฐ์กุล’ ซึ่งศาลได้พิพากษาให้รอการกำหนดโทษ เป็นเวลา 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ห้ามแสดงพฤติการณ์ไม่เรียบร้อยในบริเวณภายในระยะเวลากำหนดโทษเช่นเดียวกับเอเลียร์

.

X