“การที่คนยอมนอนให้จับ ก็เพื่อจะบอกว่าคุณทำสิ่งที่ผิดอยู่”: คุยกับ ‘กระเดื่อง’ ศิลปะปลดแอก ว่าด้วยคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า

คดีที่เกิดขึ้นนี้เป็นคดีทางการเมืองแรกในชีวิตของเขา ทั้งยังเป็นการแสดงออกที่ตัดสินใจเลือกเอง โดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้ถูกจับกุมและดำเนินคดีติดตามมา แต่ก็ยังตัดสินใจเช่นนั้น เพื่อมีส่วนชี้ให้สังคมเห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง หรือ “กระเดื่อง” อายุ 35 ปี เป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปะปลดแอก (Free Arts) โดยเขาเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งงานเพลง งานซาวน์อาร์ต หรืองานทัศนศิลป์ รวมทั้งยังทำงานเหล่านั้นโดยพยายามส่องสะท้อนปัญหาของสังคมการเมืองในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

กระเดื่องเล่าว่าตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เมื่อกลางปีที่แล้ว เขาก็เข้าร่วมการชุมนุมมาตลอด จนเริ่มมีกลุ่มประชาชนปลดแอก ก็เลยเกิดไอเดียกับเพื่อนๆ อยากชวนศิลปินมาแสดงออกด้วยกัน ด้วยเห็นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นยังไม่มีความหลากหลาย ยังเน้นการปราศรัยบนเวทีเป็นหลัก การทำงานแบบศิลปินแขนงต่างๆ น่าจะช่วยสร้างสรรค์กิจกรรมได้มากขึ้น เป็นที่มาของการรวมกลุ่มกันในนาม “ศิลปะปลดแอก” ซึ่งจัดกิจกรรมเปิดตัวครั้งแรกคืองาน ‘Act สิ Art-ศิลปะที่จะไม่ทน’ ในช่วงเดือนกันยายน 2563

 

ภาพจากเพจศิลปะปลดแอก

 

เขาเล่าว่าทางกลุ่มพยายามออกไปทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมและงานเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปร่วมในการชุมนุมหรือกิจกรรมของกลุ่มอื่นๆ ความคิดหลักคือการสนับสนุนกิจกรรมให้ทุกกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย เพื่อสร้างสมดุลให้กับการเคลื่อนไหว

การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ทำให้สมาชิกกลุ่มบางคนถูกดำเนินคดีแล้วหลายคดี เช่น เอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ ผู้ทำงานด้านภาพยนตร์ ก็ถูกกล่าวหาในคดีชุมนุมไปแล้ว 4 คดี แต่กระเดื่องยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน กระทั่งเกิดเหตุการณ์จับกุมและสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า”

กระเดื่องเล่าว่าเขาได้ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มเดินทะลุฟ้า ทั้งไปร่วมเดิน ไปสกรีนเสื้อในระหว่างกิจกรรม พอเริ่มมีการปักหลักเป็นหมู่บ้านทะลุฟ้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 64 กลุ่มศิลปะปลดแอกก็เข้าไปร่วมทำกิจกรรมเชิงศิลปะในพื้นที่หมู่บ้าน อาทิการจัดตลาดนัด “ตลาดราษฎรชนะมาร์เก็ต” หรืองานเพนท์ต่างๆ เพื่อสื่อสารประเด็นของหมู่บ้าน

กระเดื่องย้อนเล่าว่าเช้าตรู่วันที่ 28 มี.ค. 64 เขาไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านทะลุฟ้า โดยคืนก่อนหน้านั้นมีการคุยงานกัน แล้วเขาก็เดินทางกลับ ปรากฏว่าเช้ามา เขาเช็คข่าวพบว่ามีเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าจับกุมเพื่อนๆ และกำลังสลายหมู่บ้านอยู่ จึงตัดสินใจขับรถจักรยานยนต์ไปดูที่เกิดเหตุ

“ประมาณ 7 โมงกว่า เราไปถึงบริเวณจุดหมู่บ้านทะลุฟ้า ก็เจอชุด คฝ. ตอนนั้นเขาเอาคนออกไปหมดแล้ว เราก็ไปนั่งดูหน้าแนว คฝ. ตอนแรกเข้าไม่ได้ เพราะเขาปิดทุกทาง ทีแรกนึกว่ามีข้าวของ Free Arts อยู่ในนั้นด้วย พวกของที่เคยเอามาจัดงาน แต่ก็ได้ทราบว่าเอากลับไปก่อนแล้ว สุดท้ายสักพักก็เข้าไปตรงสะพานชมัยมรุเชฐได้ ก็ได้เจอคนนู้นคนนี้ ได้ทราบว่าตำรวจเข้าไปรื้อของ เก็บยึดของ โดยที่ไม่มีสื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์เข้าร่วม อยู่ดีๆ ก็เก็บไปหมดเลย”

เมื่อสังเกตการณ์การตรวจค้นตรวจยึดของเจ้าหน้าที่อยู่พักหนึ่ง กระเดื่องก็กลับไปทำภารกิจส่วนตัวที่พัก แล้วขับรถไปๆ มาๆ ระหว่างบริเวณหมู่บ้านทะลุฟ้ากับที่พักของเขาอยู่หลายรอบ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลกันนัก และยังเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

เหตุการณ์เช้าวันที่ 28 มี.ค. 64 (ภาพจากเพจศิลปะปลดแอก)

 

“สักพักก็มีความคิดว่าควรจะนัดกัน ตอนเย็นมันควรจะต้องมาเริ่มตั้งหมู่บ้านกันอีก แล้วการจับคนไปตั้งเกือบ 70 คน มันไม่เป็นธรรมมากๆ มันไม่ใช่เรื่องที่มาจับกันเยอะขนาดนี้ บางคนมานอนเป็นเพื่อนกัน บางคนแค่มาทำอาหาร แวะมาช่วยกัน เขาไม่ได้ทำอะไรเลย”

ประมาณ 15.00 น. มีการเริ่มกิจกรรมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐอีกครั้ง โดยมีการเอาลำโพงมาตั้ง และตัวแทนแต่ละกลุ่มผลัดกันอ่านแถลงการณ์ หรือกล่าวถึงเหตุการณ์การจับกุมเพื่อนๆ ในตอนเช้า โดยกระเดื่องไม่ได้ขึ้นพูด แต่มีตัวแทนของกลุ่มศิลปะปลดแอกขึ้นอ่านแถลงการณ์ด้วย

“ประมาณ 18.00 น. ชุด คฝ. ก็เข้ามาจะขอคืนพื้นที่ จะสลายการชุมนุม เขาก็ประกาศ เราก็คุยกันยืนยันว่าใช้สันติวิธี หากใครที่พร้อมจะให้เขาจับ ก็อยู่ด้วยกันบนเสื่อสีฟ้า อันนั้นคือหน้าหมู่บ้าน ไม่ได้ลงไปบนถนน ปรากฏว่าก็มี คฝ. เข้ามากั้นถนน ทางลงสะพาน ไปยังทำเนียบรัฐบาล ถนนก็ปิด ทุกคนก็ยกเสื่อไปวางบนถนน บนสะพาน แล้วก็เริ่มนอนลง ชูสามนิ้ว ตำรวจก็เริ่มเข้ามาจับ ยกไปทีละคน”

กระเดื่องเล่าว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับและอุ้มขึ้นรถเป็นคนสุดท้าย โดยกลุ่มแรกที่ถูกจับรวม 27 คน ถูกนำตัวขึ้นไปบนรถควบคุมผู้ต้องขังคันใหญ่สีดำ ส่วนเขาถูกนำขึ้นไปบนรถคุมขังคันเล็ก ซึ่งมีกลุ่มผู้ถูกจับ 5 คน ถูกแยกออกมา

 

ภาพจากสำนักข่าวข่าวสด

 

เขาจำได้ว่ามีผู้ถูกจับกุมที่ตะโกนเถียงกับเจ้าหน้าที่เมื่อถูกจับไปบนรถ ทำนองว่าเจ้าหน้าที่อ้างการจับกุมด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันโควิด แต่กลับนำคนจำนวนมากเข้าไปขังรวมกันแบบแออัด เจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่ได้ใส่หน้ากาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่ในที

“เจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกอะไรเลย ไม่ได้แจ้งสิทธิ ไม่ได้แจ้งข้อหา ไม่ได้บอกว่าจะพาไปไหน ตอนแรกก็นึกว่าจะพาไป ตชด. เหมือนกับกลุ่มตอนเช้า แต่ขับออกไปสักพัก ก็ว่าไม่ใช่ล่ะ ขับย้อนกลับมาทางวิภาวดี ก็ปรากฏว่าถูกพาไปที่สโมสรตำรวจ ไปบริเวณที่เป็น บช.ปส. (กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) ไปถึงมี คฝ. รออยู่เต็ม มีทั้งหน่วยตำรวจปราบปรามยาเสพติด หน่วยปราบไพรี เจ้าหน้าที่รวมกันเกือบร้อย”

การจับกุมประชาชนในช่วงเย็นวันนั้น นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่พาไปสอบสวนที่ บช.ปส. ย่านหลักสี่ หลังจากตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา พื้นที่หลักถ้าหากมีการจับกุมผู้ชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก คือ บก.ตชด. ภาค 1

กระเดื่องเล่าว่าเมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ก็มีการขอถ่ายบัตรประชาชน และให้เก็บข้าวของของผู้ถูกจับกุมแต่ละคนใส่ถุง ก่อนทยอยพาตัวขึ้นไปชั้นสอง ที่มีการจัดโต๊ะเพื่อการสอบสวนไว้ แล้วก็ใช้เวลารอค่อนข้างนาน กว่าทนายความจะติดตามเข้ามาภายในนี้ได้ หลังจากนั้นจึงเป็นกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา และจัดทำเอกสารทางคดีต่างๆ โดยทั้งหมดถูกแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา ข้อหาหลักคือการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั่นเอง

“ประมาณเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง เมื่อกระบวนการเสร็จหมด ตอนนั้นทนายก็ทยอยกลับออกไป ทีแรกเราก็นึกว่าจะให้นอนที่โถงนั้น มันมีเตียง 2-3 เตียง เราก็มีถอดปลอกที่นั่ง เผื่อต้องใช้ห่มนอน แต่เขาให้ตั้งแถว บอกว่าต้องย้ายที่ ทุกคนก็สงสัยว่าย้ายไปไหน เขาก็บอกไปข้างล่าง เราก็สงสัยว่าเป็นห้องพักหรือเป็นอะไร แล้วมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง บอกผมว่าเตรียมซอฟเฟล (ยากันยุง) เตรียมน้ำไปด้วยนะ เราก็เอ๊ะยังไง”

เจ้าหน้าที่ได้แยกกลุ่มผู้ถูกจับกุมหญิงกับชายออกจากกัน และทยอยให้ทั้งหมดลงไปที่ใต้ถุนอาคารของ บช.ปส. ก่อนทั้งหมดจะพบว่าถูกตัวไปยังห้องขังนั่นเอง กระเดื่องเล่าว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นห้องกรงขังหลายห้อง เรียงกันไปตามอาคารที่น่าจะเป็นรูปตัวแอล และในแต่ละห้อง ก็มีคนที่ถูกจับกุมจากคดียาเสพติดถูกขังอยู่ก่อนแล้ว

“ในกรงขัง มันก็ส้วมเตี้ยๆ อยู่ แล้วก็แยกผู้หญิงผู้ชาย ก็แยกกันอยู่คนละห้องกรงขัง คือห้องผู้ชายมันอยู่ติดผนัง แต่ห้องผู้หญิงมันเห็นทั้งสองด้านเลย ผู้ชายก็เห็น แล้วห้องน้ำไม่ได้มีอะไรปิดด้วย ห้องหนึ่งเขาเอาเข้าไปขังประมาณ 17-18 คน ทุกห้องมีผู้ถูกคุมขังที่เป็นคดียาเสพติดอยู่ก่อนแล้ว พวกเราก็บ่นด่ากัน จนถึงตี 4-5 เราก็นอนกันไม่ได้ มันก็ไม่ได้มีอุปกรณ์การนอนอะไรให้ ไม่ให้อะไรมาเลย มีน้ำดื่มที่เข้าไปได้อย่างเดียว แล้วก็มีซอฟเฟล

“มันเหมือนกับหลอกเรา แล้วทำไมเราต้องโดนขนาดนี้ ทั้งที่เรายังไม่ได้ผิดอะไรเลย ทำไมต้องเอาเข้ามารวมกับคดียาเสพติด ทำไมต้องเอามาขังในนี้ มันเหมือนกับการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ของเรา เรามองว่ามันไม่สมเหตุสมผลที่จะทำแบบนี้ คนที่เคยถูกคุมตัวไป ตชด. เขาก็บอกว่าที่ ตชด. ยังดีกว่า ทั้งที่การเอาไปที่ ตชด. ก็แย่แล้วนะ มันมีคนที่เขาไม่ได้พร้อมมาติดคุกแบบนี้ เขาอาจจะเตรียมใจโดนจับ แต่ไม่ได้คิดว่าจะมาโดนขังแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงเอาเราไปตรงนั้น”

 

 

กระเดื่องเล่าว่าจนเช้าวันรุ่งขึ้น ผู้ถูกจับกุมได้พยายามทักท้วงเจ้าหน้าที่ ถึงการนำตัวมาคุมขังเช่นนี้ ปัญหาการเข้าห้องน้ำที่ไม่สะดวก แล้วฝั่งผู้หญิงก็พบว่ามีคนที่มีประจำเดือน ต้องการผ้าอนามัย เมื่อพยายามร้องขอเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

“คือมันมีตำรวจอยู่ในห้องนั้นตลอด เดินไปเดินมา เราพูดกันหลายรอบว่าคุณทำแบบนี้ได้ไง เขาก็ไม่เอามาให้สักที คือเขาจะพูดว่า ‘ต้องรอนายสั่ง’ พูดแบบนี้ตลอด จนกลุ่มผู้ชายเริ่มประท้วง โดยสาดน้ำจนท่วมห้องขังเลย เป็นน้ำจากถังที่ใช้ราดโถส้วมนั่นแหละ จนที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องโทรหาแม่บ้าน ให้ไปซื้อผ้าอนามัย แล้วก็เริ่มยอมให้ผู้หญิงเดินออกไปเข้าห้องน้ำที่อยู่ข้างนอกห้องขัง ไปเข้าห้องน้ำตำรวจได้ กลายเป็นเหมือนเราไม่มีสิทธิอะไรทั้งสิ้น เราต้องต่อรองเอง”

วันนั้น ทั้งหมดต้องถูกนำตัวไปศาลเพื่อขอฝากขัง ก่อนไปเจ้าหน้าที่ยังพยายามขอตรวจโควิด แต่ทุกคนปฏิเสธ เนื่องจากมีข้อกังวลตั้งแต่ช่วงการสอบสวนคืนวานนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามขอตรวจดีเอ็นเอมาก่อนแล้ว ทั้งที่ไม่ทราบว่าข้อหาที่ทั้งหมดถูกกล่าวหานั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องดีเอ็นเออย่างไร ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าการตรวจต่างๆ เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงยินยอมจะตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียว

สำหรับทีมผู้ต้องหา 32 คน จาก บช.ปส. นั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้รถควบคุมสองคันพาตัวไปยังศาลแขวงดุสิต จากนั้นจึงเป็นกระบวนการขอฝากขังของพนักงานสอบสวน และการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนทั้งหมดจะได้รับการประกันตัว ใช้หลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท โดยทั้งหมดยังต้องต่อสู้คดีต่อไป

เมื่อถามถึงการตัดสินใจแสดงอออก ทั้งที่รู้ว่าจะทำให้ตนเองถูกจับกุม และยังมีภาระในการต่อสู้ทางคดีตามมา กระเดื่องยืนยันว่าในเย็นวันนั้น เขาคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ เลือกจะทำ และไม่เสียใจที่ได้เลือกนอนลง พร้อมชูสามนิ้วเช่นนั้นร่วมกับคนอื่นๆ

“ผมคิดว่าการที่เราจะกดดันเขา มันไม่มีวิธีไหนแล้ว สิ่งที่เขาทำเมื่อเช้าวันนั้น เหมือนกับมันไม่ให้เกียรติความเป็นคนกัน เราก็มีความผูกพันกับหลายคนที่ถูกจับไป คิดว่าอย่างน้อยได้ไปเป็นเพื่อนกับเขา ไปอยู่ในที่ๆ เขาโดนจับไป ก็เลยตัดสินใจร่วมให้เจ้าหน้าที่จับกุม แล้วมันไม่มีวิธีไหน เราจะใช้ความรุนแรงไป มันก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ก็มีวิธีแบบนี้ ที่เรายินยอมที่จะทำให้เห็นการถูกกระทำ

“การนอนลงตรงนั้น มันคือการบอกว่าเราสันติวิธี การจับคนกว่า 60 คนเช้านั้น มันเกินกว่าเหตุ แล้วมาจับเพิ่มอีก 30 กว่าคน มันมาดับเบิ้ลความไร้สาระของการใช้กฎหมายแล้ว คุณจับคนแบบนี้ได้ยังไง เรายอมไม่ได้ที่จะทำให้สิ่งที่คุณทำในตอนเช้าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การที่คนยอมนอนให้จับ มันก็เพื่อที่จะบอกว่าคุณทำสิ่งที่ผิดอยู่

“สำหรับเรื่องคดี ไม่ได้ห่วงมาก ถ้าต้องติดคุก ก็ติด แต่เราก็ยังยืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดนะ เราไม่ได้กลัวการติดคุก ไอ้ที่ตัดสินใจนอนให้จับ ก็เพราะเรามาถึงจุดที่ว่า เออ กลัวทำไมว่ะ คนก็ทยอยติดคุก เราก็อยากรู้ด้วยว่าสิ่งที่เขาโดนต่างๆ มันเป็นยังไง ในจิตสำนึกเรา มันไม่ได้บอกให้กลัว เพราะเรารู้สึกตลอดว่าไม่เคยทำอะไรผิด กับทุกกิจกรรมที่ทำมา แต่เราเห็นว่าไอ้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมต่างหากที่มันบิดเบี้ยว”

 

หมายเหตุ วันที่ 27 เมษายน 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า กรณีผู้ถูกจับกุมในช่วงเช้า 61 คน ต่อศาลแขวงดุสิต และวันที่ 28 เมษายน 2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของผู้ถูกจับกุมในช่วงเย็น รวม 32 คน ต่อศาลแขวงดุสิตเช่นกัน การจับกุมกรณีหมู่บ้านทะลุฟ้านับเป็นการจับกุมผู้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมากที่สุดในวันเดียว นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา

 

อ่านคดีหมู่บ้านทะลุฟ้าเพิ่มเติม

สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

“เวลาในห้องขังมันผ่านไปช้ากว่าเวลาภายนอกหลายสิบเท่า”: คำบอกเล่าของ ‘วาดดาว’ ผู้นอนชูสามนิ้วเหตุสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ถูกหิ้วไปคุมขังที่ บช.ปส.

 

X