ศาลสั่งลงโทษ “กักขัง” 5 ผู้ชุมนุมสาดสีหน้าศาลอาญา ม็อบ REDEM 2 พ.ค. 64 ร้องสิทธิประกันตัวนักโทษการเมือง ฐานละเมิดอำนาจศาล ก่อนให้ประกันระหว่างอุทธรณ์

22 ธันวาคม 2564 เวลา 12.00 น. ศาลอาญา มีคำพิพากษาลงโทษห้าผู้เข้าร่วมการชุมนุม สาดสี-ปามะเขือเทศ ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 (#ม็อบ2พฤษภา) ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 5 คน ได้แก่ ศุภกิจ บุญมหิทานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1, วีรภาพ วงษ์สมาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และ ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5

ทั้ง 5 คนถูกกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันกระทําการอันก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ภายในบริเวณศาลอาญาและรอบศาลอาญา โดยการนําสิ่งของประกอบด้วยมะเขือเทศ ไข่ไก่ ขวดน้ำบรรจุ ของเหลวสีแดง และวัตถุอื่นๆ ขว้างปาข้ามรั้วของศาลอาญา เข้าไปในบริเวณศาลอาญา ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา คดีนี้ ศาลมีการนัดไต่สวนไปเมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ในรายละเอียดการกล่าวหาโดย ชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ขวดใส่สีและเศษไม้ขว้างเข้าไปในบริเวณศาลอาญา ตกที่บริเวณหลังป้ายศาล ไม่ถึงจุดที่ตำรวจ คฝ. วางกำลังอยู่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ขว้างถุงสีเข้าไปในบริเวณลานจอดรถหลังป้ายศาล ห่างจากจุดที่เจ้าหน้าที่ คฝ. วางกำลังอยู่มาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ปาถุงสีเข้าไปในบริเวณศาลเช่นเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ช่วยขนถังสีซึ่งวางอยู่ริมถนนป้ายศาลอาญา ไม่มีการกระทำอื่นๆ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ใช้ถุงสีขว้างปาเข้าไปในลาดจอดรถศาล 2 – 3 ครั้ง หลังจากที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทั้ง 5 ได้เดินทางกลับ ไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมหลังจากนั้น

ศาลได้มีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายต่างกัน กล่าวคือ

 1. ศาลสั่งลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึง 3 ให้จำคุกคนละ 2 เดือน แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสามมีอายุไม่เกิน 20 ปี จึงมีเหตุลดโทษให้หนึ่งในสาม และการนำสืบมีประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 40 วัน แต่เพื่อไม่ให้มีประวัติลงโทษจำคุก ศาลจึงสั่งกักขังแทน 40 วัน โดยศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

 2. ศาลสั่งลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จำคุก 3 เดือน ปรับ 480 บาท แต่การนำสืบมีประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 320 บาท แต่เนื่องจากพฤติการณ์ไม่รุนแรง ไม่มีกระทำการใดเป็นการก่อความวุ่นวายอื่นอีก และไม่ปรากฎว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี พร้อมกับต้องทำงานบริการสังคมและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

 3. ศาลสั่งลงโทษ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จำคุก 3 เดือน แต่การนำสืบมีประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม เหลือโทษจำคุก 2 เดือน แต่เพื่อไม่ให้มีประวัติลงโทษจำคุก ศาลจึงสั่งกักขังแทน 2 เดือน โดยศาลเห็นว่าไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ในคำพิพากษาศาลระบุว่า จากการไต่ส่วน ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน ยอมรับว่าเป็นบุคคลในภาพถ่ายและคลิปพยานหลักฐานซึ่งถูกนำมาเปิดในนัดไต่สวน ตามที่พนักงานสืบสวนได้เบิกความ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ขว้างไม้และถุงบรรจุสีแดงเข้าไปในบริเวณศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2, 3 และ 5 ได้ขว้างถุงบรรจุสีแดงเข้าไปในบริเวณศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 แม้ไม่ได้ขว้างปาสี แต่ได้ทำการช่วยยกสิ่งของ เป็นการสนับสนุนการกระทำของผู้ชุมนุม ศาลเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 และ 33

ศาลระบุอีกว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 จะต่อสู้ว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้จำกัดการใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ประกอบกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ยังมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองความเป็นอิสระของศาลไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคาม ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้า จึงไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าการกระทำเกิดขึ้นนอกเวลาราชการ ศาลเห็นว่าฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งคุ้มครองความเป็นอิสระของศาลที่ต้องกระทำอยู่ตลอดเวลา

หลังจากที่ศาลอ่านคำสั่ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 – 3 และ 5 ซึ่งถูกลงโทษกักขังโดยไม่รอลงอาญา ถูกนำตัวไปยังห้องเวรชี้ ทางทนายความและญาติจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการอุทธรณ์คดี 

ก่อนที่ในช่วงเย็น เวลาประมาณ 17.20 น. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสี่คน กำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวรายละ 50,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลเลื่อนไต่สวนประชาชน 5 ราย คดี “ละเมิดอำนาจศาล” ให้โอกาสต่อสู้คดี หลัง 1 ในผู้ถูกกล่าวหาติดประจำการทหารเกณฑ์
X