วานนี้ (15 มิ.ย.64) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัด เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำหมู่บ้านทะลุฟ้า จากเครือข่าย People Go Network และ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม นักกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า ไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาล เหตุร่วมชุมนุมเพื่อให้กำลังใจแกนนำในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร บริเวณหน้าศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 64
การไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลครั้งนี้ ถูกเลื่อนมาจากวันที่ 26 เม.ย. 64 เนื่องจากวันดังกล่าว มีเพียงเลิศศักดิ์และทนายความที่เดินทางมาศาลตามหมายเรียก ส่วนนวพลยังไม่ได้รับหมาย เนื่องจากไม่มีผู้รับตามจ่าหน้าซอง อีกทั้งยังไม่สามารถเดินทางมาศาลอาญาได้ เพราะต้องกักตัวเนื่องจากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด
ในนัดนี้ ศาลได้ไต่สวนนางสาวชวัลนาถ ทองสม ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญา ผู้กล่าวหา, ร้อยตำรวจเอกตฤณ รัตนแก้ว เจ้าพนักงานตํารวจศาลผู้เข้าไปเจรจาให้หยุดงดใช้เครื่องขยายเสียง และพันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจนครบาลพหลโยธิน ผู้ประกาศแจ้งเตือนให้ยุติการใช้เสียงของผู้ชุมนุม
บันทึกการไต่สวน “คดีละเมิดอำนาจศาล” ศาลเน้นย้ำถึงข้อกำหนดภายในห้องพิจารณาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ที่ห้องพิจารณา 812 เวลา 9.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ โดยก่อนเริ่มพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่จะเข้าฟังการไต่สวน พกพาโทรศัพท์มือถือเข้าห้องพิจารณาคดี
ก่อนไต่สวน ศาลได้อ่านข้อกำหนดที่ระบุห้ามไม่ให้บันทึกภาพและเสียง ห้ามไม่ให้คู่ความหรือบุคคลภายในห้องพิจารณาลุกขึ้นยืนแถลงการณ์ หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวนการพิจารณาคดี ผู้ใดฝ่าฝืนจะถือว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ศาลแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่า คดีนี้ผู้อํานวยการสํานักอํานวยการประจําศาลอาญากล่าวหาว่า วันที่ 8 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวกรวม 18 คน ต่อศาลอาญา
ในขณะที่เจ้าหน้าที่นําตัวจําเลยมาควบคุมในห้องพิจารณาคดีห้องเวรชี้ 2 เพื่อรอสอบคําให้การ และรอฟังคําสั่งในการขอปล่อยตัวชั่วคราว กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน เคลื่อนมวลชนมาบริเวณหน้าศาลอาญา นวพล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และเลิศศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 กับกลุ่มผู้ชุมนุมนําเครื่องขยายเสียงมาใช้ในการพูดคุย ร้องเพลง โดยหันลําโพงเข้าไปในศาลอาญา
เจ้าพนักงานตํารวจศาลจึงเข้าไปเจรจาให้หยุดใช้เครื่องขยายเสียง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ การกระทําของทั้งสองคน แม้ได้กระทํานอกรั้วศาลอาญา แต่การใช้เครื่องขยายเสียงหันลําโพงเข้าไปในศาล พูดคุย ร้องเพลง มีเจตนาที่จะให้มีเสียงดังก่อให้เกิดความรําคาญ ขัดขวางเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของศาล เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในบริเวณศาลอาญา และกระทําการฝ่าฝืนข้อกําหนดของศาลอาญาเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในศาล และบริเวณรอบศาล
นวพลและเลิศศักดิ์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และประสงค์ขอต่อสู้คดี ศาลจึงให้มีการไต่สวนผู้กล่าวหาและผู้เกี่ยวข้อง
ปากที่ 1: ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา (ผู้กล่าวหา)
ศาลเริ่มการไต่สวน ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา
ซึ่งเบิกความถึงเหตุเมื่อวันที่ 8 มี.ค.64 เวลา 10.45 น. ระหว่างรอคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ได้เคลื่อนมวลชนมาบริเวณหน้าศาลอาญา ประตูที่ 8 พร้อมกับรถเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ มีการเปิดเพลง และพูดคุยกันในกลุ่มผู้ชุมนุม
จากรายงานการสืบสวนของตํารวจ สน.พหลโยธิน และภาพบันทึกในซีดีแล้ว ได้ปรากฏภาพว่า นวพลและเลิศศักดิ์รวมอยู่ในมวลชน กำลังรวมตัวกันอยู่หน้าบริเวณรั้วของศาล มีการเปิดเครื่องขยายเสียง พูดคุยผ่านเครื่องขยายเสียง และหันลำโพงมาทางศาล ซึ่งถือเป็นการรบกวนการพิจารณา ก่อให้เกิดความรำคาญ ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ศาลประกาศไว้ก่อนหน้า พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการก่อความสงบไม่เรียบร้อย จึงต้องนำเรื่องรายงานต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และเรียกผู้ถูกกล่าวหามาไต่สวน
พยานเบิกความอีกว่า ในวันเกิดเหตุดังกล่าว ศาลอาญาได้มีกำหนดนัดสืบพยานทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย รวมทั้งหมด 174 คดี ปรากฎตามบัญชีนัด ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความรำคาญ รบกวนการพิจารณาคดีอื่นๆ พยานยืนยันว่าขณะอยู่ในอาคาร ตนได้ยินเสียงดังมาจากการชุมนุมปราศัยอยู่ด้านนอกรั้วศาล รวมถึงมีผู้พิพากษารายหนึ่งได้ท้วงติงว่ามีเสียงดังเข้ามาในอาคารเช่นกัน
ทนายได้ถามค้านพยานว่า การออกข้อกำหนดของศาลทำเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาลใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ข้อกำหนดดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงภายในและภายนอกบริเวณของศาล อีกทั้งพยานเห็นว่า แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเกิดขึ้นภายนอกบริเวณรั้วของศาลอาญา แต่ทว่าเสียงการทำกิจกรรมของผู้ชุมนุมได้กระจายเข้าไปในตัวอาคาร
ชวัลนาถยังเบิกความว่า ศาลไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรม ในขณะนั้น มีประชาชนหลายคนสามารถนั่งอยู่บริเวณริมถนนและนอกรั้วศาลเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ได้ โดยไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด เพียงแต่การทำกิจกรรมนั้น จะต้องไม่เกิดเสียงดังรบกวน
ทนายถามพยานว่า ผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยอยู่นอกบริเวณศาล ได้ปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ด่าทอศาล หรือใช้คำหยาบหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ ผู้ถูกกล่าวหาพูดจาสุภาพ ไม่ได้ใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าทอศาล แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการส่งเสียงดังเป็นระยะๆ
ทนายถามต่อว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ 2 ร่วมการชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และคดีอื่นๆ ไม่ได้ถูกเลื่อน เพราะการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คดีอื่นๆ อีกทั้งยังไม่ได้รับรายงานว่าคดีอื่นๆ ต้องเลื่อนนัด เพราะเหตุการชุมนุมครั้งนี้ รวมถึงหลังจากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนางสาวปนัสยากับพวก รวม 3 คน กลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ถูกกล่าวหาก็ได้สลายชุมนุมไปโดยดี
พยานปากที่ 2 ร้อยตํารวจเอกตฤณ รัตนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจศาล (ผู้เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม)
เวลา 11.00 น. ศาลได้สืบพยานปาก ร้อยตํารวจเอกตฤณ รัตนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจศาล เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ ได้รับทราบจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะมีการทำกิจกรรมชุมนุมเกิดขึ้น จึงได้ไปยืนรักษาความเรียบร้อยอยู่หน้าประตู 1 ของศาลอาญา
ต่อมา เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาอยู่ตรงหน้าประตูทางเข้าของศาลอาญา กลุ่มผู้ชุมนุมมีประมาณ 100 คน พร้อมกับรถที่บรรทุกเครื่องเสียง ซึ่งมีลำโพงหันมาทางศาล ได้มีการเปิดเพลงและร้องเพลงในกลุ่มผู้ชุมนุม
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 13.30 น. พยานได้รับคำสั่งจากผู้บริหารศาลให้ไปขอความร่วมมือกับผู้ชุมนุมช่วยลดเสียงลง ตอนเข้าไปเจรจามีเจ้าหน้าที่หลายนาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตำรวจจากสน.พหลโยธิน และเจ้าพนักงานตำรวจศาล
พยานได้เดินเข้าไปคุยกับนวพล ก่อนจะประกาศกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “ขออนุญาตทุกคน ขอความร่วมมือ เนื่องจากเสียงดังมาก เกิดแรงสั่นสะเทือนเข้าไปในอาคารที่ทำการศาลอาญา ขออนุญาตอ่านข้อกำหนดศาลอาญาให้ฟัง” พยานกล่าวว่าในขณะที่อ่าน มีมวลชนบางส่วนที่ฟัง และมีบางส่วนที่เป่าแตรส่งเสียง อย่างไรก็ตามพยานได้อ่านจนจบ
ทนายได้ถามค้านพยานว่า พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระหว่างพักเที่ยง รวมถึงลักษณะการใช้เสียงก็ดังขึ้นเป็นระยะๆ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีท่าทีที่จะฝ่ารั้วเข้ามาในบริเวณศาลใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ การชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงพักเที่ยง และมีเสียงดังเป็นครั้งคราว กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีท่าทีที่จะฝ่าเข้ามาในศาล รวมถึงแจ้งว่าไม่ประสงค์จะเข้ามาด้านใน ขอทำกิจกรรมนอกรั้ว
ทนายถามค้านพยานอีกว่า ทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมือง กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการพูดคุยกันในกลุ่มเป็นปกติ รวมถึงใช้เครื่องขยายเสียงหรือลำโพงเป็นปกติใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ แต่ว่าในวันเกิดเหตุมีการใช้เครื่องเสียงที่ดังกว่าปกติ ทว่าการชุมนุมปราศัยไม่ได้มีถ้อยคำหยาบคายแต่อย่างใด
ทนายจึงถามค้านในประเด็นนี้ต่อว่า เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่ดังกว่าปกติ จึงสามารถควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
พยานปากที่ 3 พันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย (ผู้ประกาศแจ้งเตือนให้หยุดการใช้เสียง)
เวลา 13.30 น. ศาลสืบพยานฝั่งผู้กล่าวหาต่อ ได้แก่ พันตำรวจโทศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย รอง ผกก.ป.สน.พหลโยธิน เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า ศาลอาญาฯ ได้ขอกำลังตำรวจจาก สน.พหลโยธิน มารักษาความปลอดภัย ทั้งภายในบริเวณศาลและนอกรอบศาล พยานได้มาถึงเวลาประมาณ 08.00 น. และได้ทำการรักษาความปลอดภัยอยู่ตลอด จนกระทั่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางจากสำนักงานอัยการสูงสุมายังศาลอาญาฯ ประมาณ 100 คน หลังจากนั้นก็มีการปิดประตูทางเข้าออกหมายเลข 8 กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวได้ปราศัยเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวของจำเลย
ต่อมา 13.00 น. พ.ต.ท.ศักดิ์ชัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ได้ดำเนินการขอให้งดการใช้เสียง โดยประกาศแจ้งเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงให้ปฎิบัติตามข้อกำหนดของศาลอาญาฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะแจ้งเตือนไปแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยอย่างต่อเนื่อง
ทนายถามค้านพยานว่า เพื่อให้การชุมนุมดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อย การใช้เครื่องขยายเสียงในการควบคุมฝูงชนจึงมีความจำเป็นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า การใช้เครื่องขยายเสียงนั้นไม่มีความจำเป็น หากจะใช้ แค่ลำโพงขนาดเล็กก็เพียงพอ อีกทั้งแค่การพูดคุยกันปกติในกลุ่มผู้ชุมนุมก็เพียงพอที่จะควบคุมฝูงชนได้ พยานยังเบิกความต่ออีกว่า หลังจากประกาศแจ้งเตือนแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องขยายเสียงที่มีขนาดเล็กลง อีกทั้งยังทำกิจกรรมปราศรัยนานเป็นชั่วโมง
หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้นพยานสามปากนี้ ศาลได้ขอให้ทนายเขียนคำแถลงการณ์เพิ่มเติม แล้วนัดไต่สวนพยานของผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 4 ปาก ได้แก่ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคน และพยานผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ปาก ในวันที่ 13 ก.ย. 64 เวลา 09.00 น.
ศาลระบุว่าเหตุที่นัดนาน เนื่องจากว่าวันว่างไม่ตรงกันและอยู่ในระหว่างการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอบถามผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 และทนายความแล้ว ยังไม่มีใครได้รับการฉีดวัคซีน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมเยาวชนปลดแอกถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 64 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลแล้วอย่างน้อย 13 ราย ใน 13 คดี และมีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลแล้วอย่างน้อย 20 ราย ใน 3 คดี นอกจากนั้นยังมีคดีจากการชุมนุม #ม็อบ2พฤษภา ที่ทราบว่ามีการดำเนินคดีเรื่องละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติมแล้ว
ในจำนวนนี้ คดีละเมิดอำนาศาลนั้นเป็นคดีที่เกิดจากเหตุการณ์ชุมนุมทวงคืนสิทธิประกันให้กลุ่มแกนนำ “ราษฎร” ที่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 29 เม.ย. และ 30 เม.ย. 64 ถึง 7 คดี