22 มี.ค. 62 ที่ศาลทหาร สืบพยานนัดแรก คดีอัยการทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ธเนตร อนันตวงษ์” หรือ “ตูน” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์เฟสบุ๊ควิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. และความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม โดยวันนี้ “สนอง อนันตวงษ์” พ่อของธเนตร ได้เดินทางมาศาลเพื่อเยี่ยมลูกชายด้วย และได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถึงความฝันของธเนตรเมื่อได้ออกจากเรือนจำ
เวลา 9.00 น. ธเนตร อนันตวงษ์ เดินทางจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาถึงศาลทหาร เมื่อมาถึงธเนตรได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่า พยาน 2 ปากที่มีนัดสืบพยานในวันนี้ ติดราชการเร่งด่วนจึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ โดยโจทก์ยังประสงค์จะสืบพยานทั้งสองปากนี้อยู่ เนื่องจากเป็นพยานที่สำคัญในคดี ศาลจึงอนุญาตให้มีการเลื่อนสืบพยานทั้ง 2 ปาก ไปเป็นวันที่ 19 เม.ย. 62 และ 24 เม.ย. 62 ตามลำดับ สำหรับพยาน 2 ปาก ได้แก่ พลเอกวิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหา ผู้กล่าวหาให้ดำเนินคดีธเนตร ในเวลานั้นยังมียศเป็นพลตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่พยานอีกปากคือ พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมซักถามร่วมธเนตรในคดีนี้
กรณีโพสต์เฟสบุ๊ควิจารณ์รัฐบาลจนถึงติดคุกกว่า 986 วัน
(หมายเหตุ- กล่าวเฉพาะระยะเวลาที่ถูกคุมขังในเรือนจำ คิดเป็น 2 ปี 8 เดือน 14 วัน นับตั้งแต่วันฟ้อง 10/7/2559 – นัดล่าสุด 22/3/2559 ธเนตร ถูกคุมขังมาแล้ว 986 วัน)
สำหรับเนื้อหาในการโพสต์เฟสบุ๊คของธเนตร ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องดำเนินคดีแก่ธเนตร เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 58 ถึงวันที่ 10 ธ.ค. 58 ท่ามกลางกระแสการออกมาตรวจสอบกรณีทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการออกมาตรวจสอบตามมาเป็นจำนวนมาก อ่านตัวอย่างในกรณีนี้เพิ่มเติมได้ตามลิงก์ข้างล่าง
- ทหารผู้กล่าวหาคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ใช้เฟซบุ๊กไม่เป็น แต่เห็นว่าแค่กดไลค์เพจหมิ่นฯ ก็ผิด 112
- ประมวลคดีเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เดินทางไปไม่ถึง
ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวของธเนตรเองที่ใช้ชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” มีตัวอย่างโพสต์ที่สำคัญ อาทิ
ภาพแรกธเนตรโพสต์วันที่ 16 ก.ย. 58 ได้โพสต์ภาพ 2 ภาพ ระบุข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด ? ประชาชนเดือดร้อน” และพิมพ์ข้อความประกอบภาพว่า “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)”
วันที่ 24 พ.ย. 58 โพสต์ระบุข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…”
วันที่ 1 ธ.ค. 58 ได้โพสต์ภาพบุคคลระบุข้อความประกอบว่า “กรณีโหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่าแผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะแยะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำ ๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริง ๆ 555” (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่: จับตาสืบพยานคดี “ธเนตร” สั่นคลอนความมั่นคง ด้วยการโพสต์ “ประเทศหน้า …ี”)
ทั้งนี้ ธเนตร ซึ่งถูกจองจำอยู่ที่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มากกว่า 2 ปี 8 เดือน และยังไม่ได้ประกันตัวเนื่องจากศาลเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีร้ายแรงและเจ้าตัวเคยมีพฤติการณ์หลบหนี ได้เปิดเผยว่านับตั้งแต่ที่เขาอยู่ในเรือนจำ มีงานประจำที่ต้องทำคือพับถุงกล้วยแขกจำนวน 300-400 ใบต่อวัน โดยได้ค่าตอบแทนเดือนละ 70 กว่าบาทเท่านั้น ขณะที่นักโทษคดีนำเข้ายาเสพติดกลับไม่ต้องทำหน้าที่นี้เลย ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับนักโทษคดีการเมืองเช่นเขา
จนวันนี้เมื่อเดินทางมาถึงศาลกลับทราบข่าวตั้งแต่ยังไม่ได้ลงจากรถผู้ต้องหาว่า วันนี้ศาลมีคำสั่งเลื่อนการสืบพยานนัดแรก ทำให้เขาตั้งคำถามว่ากระบวนการที่ล่าช้าเช่นนี้ “ไม่มีทางแก้ไขได้เลยใช่หรือไม่”
พ่อธเนตร ระบุ “ลูกอดทน อยากจะมีรถเข็นขายไก่ย่าง และบวชให้พ่อ”
สนอง อนันตวงษ์ อายุ 59 ปี อาชีพพ่อค้าขายไอติม ซึ่งเป็นบิดาของธเนตร ซึ่งนับตั้งแต่มีการควบคุมธเนตร จนกระทั่งดำเนินคดีได้เดินทางมาศาลในวันนี้เช่นกัน โดยปรกติจะเดินทางมาเยี่ยมลูกชายคนเดียวอยู่เสมอ เนื่องจากแม่ของธเนตรเสียชีวิตไปด้วยอุบัติเหตุไฟช๊อต ตอนธเนตรอายุได้ 8 ขวบ สำหรับวันนี้สนองเล่าว่า เดินทางมาจากบ้านที่อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อมาฟังการพิจารณาคดี แต่ต้องเลื่อนนัดอีกครั้ง “เป็นแบบนี้ตลอดตั้งแต่จับเขามา” สนองกล่าวกับผู้สังเกตการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
“เขาไม่ค่อยบ่นอะไร มีความอดทนสูง” ประโยคสั้น ๆ ที่พูดถึงลูกหลังจากที่พบกับธเนตร บริเวณใต้ถุนศาลทหาร
สนองในวัย 59 ปี เดินทางจากอุทัยธานี ด้วยการโดยสารรถตู้เที่ยวละ 160 บาท เมื่อทราบว่า “ตูน” จะมาขึ้นศาลทหารทุกนัด นอกจากนี้สนองยังเล่าถึงชีวิตธเนตรในช่วงวัยเด็ก จนถึงการได้พูดคุยกับลูกชายระหว่างถูกคุมขังเมื่อได้ออกจากเรือนจำ
“ผมมาเยี่ยมคนเดียวทุกครั้งที่เขาขึ้นศาล บางครั้งก็จะเป็นเขาโทรมาแจ้งข่าวหรือเพื่อนผมแจ้งมา ผมก็จะนั่งรถตู้มาหา จริง ๆ ตอนเด็กเขาไม่ใช่คนเกเร ไม่มีเรื่องขัดแย้งลงไม้ลงมือกับใคร กับพ่อก็ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน เมื่อโตสักพักก็มาทำงานรับจ้างก่อสร้างกับพ่อที่กรุงเทพ และไปอีกหลายที่ หลายจังหวัด เขาทำงานช่างได้เหมือนผม ไม่ว่างานเหล็ก งานเชื่อม ฉาบปูน งานไม้ ทำวงกบ ผมกับเขาทำได้หมด ตอนที่ก่อสร้างด้วยกันก็จะเป็นตึก 3 ชั้นแถวงามวงศ์วงวาน ก่อนเกิดเรื่อง”
“จนกระทั่งตอนปี 2553 ตอนที่มีการชุมนุม (การชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งของคนเสื้อแดง) เขาหายไป มาพบอีกทีเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมหลายพันคนที่ถูกดำเนินคดี” (ธเนตรถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหาราชการแผ่นในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งถูกประกาศในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
ในเวลานั้นธเนตรถูกคุมขังราว ๆ 1 ปีกว่า ก่อนถูกปล่อยตัวออกมา ส่วนความคิดทางการเมืองของตูน สนองเล่าว่า “เขาเป็นคนไม่ค่อยเล่าให้พ่อฟัง แต่ถ้าถามเขาก็จะตอบ เขาชอบประชาธิปไตย ชอบแบบนี้ คนแถวบ้านก็เข้าใจไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งเขาเป็นแบบนี้เขาชอบอิสระเสรี”
ในวัย 59 ปี แม้ว่าสนองจะยืนยันว่าเขายังทำงานได้ แต่ว่ายังคงต้องฉีดอินซูลีน เป็นประจำทุกวันเพื่อบรรเทาอาการจากโรคเบาหวานที่รบกวนเขามาตลอดหลายปี เพื่อรอธเนตรออกมา สนองบอกว่า “เขามักจะบอกว่าเมื่อออกมา เขาอยากมีร้านรถเข็นไว้ขับขายไก่ย่าง-ข้าวเหนียว เพราะเป็นงานอิสระ สามารถขับไปได้เรื่อย ๆ ถ้าเหนื่อยเราก็สามารถพักได้ อีกสิ่งหนึ่งเขามีความหวังว่าถ้าได้ออกมา ก็จะบวชให้พ่อ เพราะยังไม่เคยบวชให้พ่อเลยจนกระทั่งถูกจับไปเสียก่อน”
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการดำเนินคดีกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงจากการโพสต์เฟสบุ๊คของธเนตรนี้ จะมีความคืบหน้าอย่างไร สำหรับนัดสืบพยาน 2 ปากแรกนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดอีก จะมีการสืบพยานวันที่ 19 เม.ย. 62 และ 24 เม.ย. 62 ที่ศาลทหาร