คดี “ธเนตร” ยุยงปลุกปั่นฯ พยานจำไม่ได้ว่ารธน. 50 ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง

24 เม.ย. 62 ที่ศาลทหาร เป็นนัดสืบพยานนัดแรกคดี “ธเนตร อนันตวงษ์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีบทบาทเข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 58 ซึ่งธเนตรในฐานะจำเลยยังคงถูกคุมขังในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยหลักฐานที่ถูกอัยการฝ่ายโจทก์นำมาฟ้องร้องเป็นข้อความจากเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขาจำนวน 5 ภาพ

หลังจากเลื่อนการนัดสืบพยานมาหลายครั้ง วันนี้จึงนับเป็นการสืบพยานปากแรก คือ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ซักถามร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ระหว่างควบคุมธเนตรไว้ที่ มทบ.11 ในเดือนธ.ค.58 ก่อนจะมีการนำตัวมาส่งฟ้องที่กองบังคับการปราบปราม

อ่านความเป็นมาและความคืบหน้าของคดีก่อนหน้านี้ได้ที่

พยานเบิกความว่าธเนตรมีพฤติกรรมกระด้างกระเดื่อง และยุยงปลุกปั่นประชาชน

10.30 น. อัยการทหารฝ่ายโจทก์ ขึ้นซักถามพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ปัจจุบันรับราชการเป็นผบก.ปส.1 ซึ่งในคดีนี้มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ซักถามธเนตรร่วมกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง (ยศในขณะนั้น) และเป็นผู้กล่าวหาจำเลยใน 2 ข้อหาคือ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 โดยขณะเกิดเหตุ (2558) พยานมีหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนและหาข่าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2557

พยานเบิกความว่า คดีเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16 ก.ย. – 10 ธ.ค. 58 ซึ่งหน่วยข่าวภายในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ได้ตรวจพบข้อความที่จำเลยได้กระทำความผิดจากการตรวจสอบเฟสบุ๊คจำเลยระหว่างการควบคุมตัวในเดือนธ.ค. 58

วันที่ 7 ธ.ค. 58 จำเลยเป็นผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ในการชุมนุมดังกล่าวมีการชักชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลคสช. โดยจากการสืบสวนและซักถามจำเลย พบว่าจำเลยทำหน้าที่เป็นการ์ด (ผู้รักษาความปลอดภัย) ให้กับสิรวิชญ เสรีธิวัฒน์ นอกจากนี้พบว่าในช่วงปี 53 เป็นต้นมาจำเลยยังเคยเข้าร่วมกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ซึ่งมีลักษณะเป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ทั้งยังก่อให้เกิดความรุนแรง

สำหรับกระบวนการตรวจสอบเฟสบุ๊คจำเลย พยานได้ร่วมกับพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของทหารร่วมอยู่ด้วยได้ตรวจสอบการโพสต์ข้อความตั้งแต่ช่วงจำเลยเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์ ก่อนจะพบการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องและต่อต้านรัฐบาลคสช. ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 58 ถึงวันที่ 10 ธ.ค. 58 อันเป็นข้อความที่ธเนตรได้โพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขาเองที่ชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” โดยมีตัวอย่างโพสต์ที่สำคัญ ดังนี้

ภาพแรกโพสต์วันที่ 16 ก.ย. 58 ได้โพสต์ภาพ 2 ภาพ ระบุข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด ? ประชาชนเดือดร้อน”  และพิมพ์ข้อความประกอบภาพว่า “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)” โดยเปรียบเทียบการชุมนุมของ นปช. (คนเสื้อแดง) กับการชุมนุมของกลุ่มกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ว่ายึดสถานที่ราชการกลับไม่ติดคุก ทำให้ประชาชนมีความคิดต่อต้านรัฐบาล โดยจำเลยได้แชร์ภาพมาจากผู้ใช้เฟสบุ๊คอีกราย

ภาพต่อมา เป็นภาพที่โพสต์เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 58 จำเลยได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ “หมอหยอง” หมอดูชื่อดัง ข้อความว่า “ผมเชื่อว่าคงมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่กระทำกับหมูหยองภายในคุกทหาร มทบ.11 แขวงนครไชยศรี ตั้งแต่รอบแรกที่ถูกจับและไม่มีใครได้เห็นหน้าอีกเลย จากนั้นค่อยมีข่าว ‘รายชื่อคนใหญ่คนโต’ ในกองทัพและสตช. ออกมากว่า 50 รายชื่อ คนมียศใหญ่โต และแหล่งข่าวระบุว่า “หมอหยองซัดทอด” … คงมีการกระทำอะไรบางอย่างกับหมอหยองในห้องลับปิดตายเหนือการตรวจสอบของสาธารณะห้องนั้นเช่นเดียวกับที่ปรากรมโดนถึงได้การซัดทอดครั้งใหญ่นี้ออกมา …” พยานเห็นว่าภาพและข้อความดังกล่าวได้ชักชวนประชาชนให้ออกมาต่อต้านรัฐบาล และอาจจะนำมาซึ่งความวุ่นวายจนไม่สามารถควบคุมได้

อัยการโจทก์ได้นำสืบในประเด็นเดียวกันต่อว่า คำว่า “share” พยานแปลว่าอะไร พยานได้ตอบว่าคือการเผยแพร่ โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 58 จำเลยได้โพสต์ภาพบุคคลระบุข้อความประกอบว่า “กรณีโหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่าแผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะแยะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำ ๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริง ๆ 555” ซึ่งมีข้อความที่สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยกล่าวหารัฐบาลและกองทัพว่าทำการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์

รวมถึงข้อความที่จำเลยโพสต์เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 58 โพสต์ระบุข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…”

เมื่อพยานได้ทำการซักถามจำเลยเสร็จแล้ว จึงได้ไปแจ้งความจำเลย โดยมีคำสั่งจากคสช. ให้พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เข้าแจ้งความ และพยานก็ได้ทำบันทึกการสอบปากคำ และขอให้ศาลทหารออกหมายจับ อีกทั้งก่อนที่จะมีการจับกุมจากการซักถามจำเลย พบว่ารหัสอีเมล์ยังถูกส่งต่อให้ปิยรัฐ จงเทพ เพื่อนของจำเลย โดยอ้างว่าจะมีการจับกุมจำเลยจึงให้ฝากรหัสอีเมล์ไว้ที่ปิยรัฐด้วย

พยานจำไม่ได้ว่ารธน. 50 บัญญัติให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ได้อำนาจมาโดยชอบ 

ทนายความจำเลยขึ้นถามค้านพยานในประเด็นแรก ถึงสิทธิแห่งการต่อต้านรัฐประหารของจำเลย โดยถามพยานว่าการยึดอำนาจของคสช. ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่ขอยืนยัน ต่อคำถามที่ว่าพยานสามารถแยกได้หรือไม่ว่าการกระทำใดเพื่อให้ได้อำนาจมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พยานไม่ยืนยัน แต่เบิกความว่าอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มาโดยชอบ

ขณะที่ระหว่างการรัฐประหารในปี 57 พยานจำไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ถูกฉีกไปนั้นได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ทราบว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ทราบว่ามีกฎหมายฉบับใดอนุญาตให้ผู้บัญชาการทหาร ยึดอำนาจและตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ทนายความจำเลยได้นำสืบต่อไปว่า การยึดอำนาจของคณะรัฐประหารคสช. ถือเป็นการก่อกบฏหรือไม่ พยานไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้

ต่อมาทนายความจำเลยได้นำสืบ ในหลักฐานเอกสารที่เป็นข้อความการโพสต์ของจำเลยเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 58 โพสต์ระบุข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…”

พยานเบิกความว่า ทราบว่าการลอยกระทงถือเป็นประเพณีของไทย ไม่ทราบว่าการลอยกระทงมีความเชื่อว่าเป็นการลอยสิ่งอัปมงคลหรือสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชีวิต ซึ่งในการโพสต์เชิญชวนของจำเลยได้มีข้อความขับไล่รัฐบาล โดยมีรูปของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีอยู่ในภาพด้วย ต่อประเด็นกิจกรรมอื่นที่อยู่ในโพสต์เดียวกัน พยานไม่มีความเห็นต่อกิจกรรมร้องคาราโอเกะ ร้องเพลง 3 ช่า ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ระบุในโพสต์ดังกล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่มีความรุนแรงหรือไม่ อีกทั้งพยานไม่ได้ไปสังเกตการณ์กิจกรรมนั้นในวันดังกล่าว รวมถึงไม่ได้มีการซักถามหรือเรียกตัว ผู้โพสต์ข้อความต้นทางที่ธเนตรได้ทำการแชร์มาเพื่อให้ปากคำหรือดำเนินคดี

การสืบพยานปากแรกดำเนินไปจนกระทั่ง 13.00 น. ได้มีการหารือกันระหว่างอัยการทหาร ทนายความฝ่ายจำเลย และผู้พิพากษา จึงได้ตกลงว่าจะมีการนัดสืบพยานปากนี้อีกครั้ง เนื่องจากยังมีคำถามต่อพยานอีก 5 ภาพ ที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง ต่อมาศาลจึงอนุญาตและให้นัดสืบพยานต่อไปในวันที่ 7 พ.ค. 62 และวันที่ 16 พ.ค. 62 เวลา 8.30 น.

หมายเหตุ- กล่าวเฉพาะระยะเวลาที่ธเนตรถูกคุมขังในเรือนจำ คิดเป็น 2 ปี 8 เดือน 14 วัน นับตั้งแต่วันฟ้อง 10/7/2559 จนถึงนัดสืบพยานปากแรกวันนี้ เขาถูกคุมขังมาแล้ว 1,019 วันแล้ว

X