16 พ.ค. 62 ที่ศาลทหารกรุงเทพ มีนัดสืบพยานคดีที่นายธเนตร อนันตวงษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีบทบาทเข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 2558 ธเนตรในฐานะจำเลยยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ คิดเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือนแล้ว ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยหลักฐานที่อัยการฝ่ายโจทก์นำมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับเขา เป็นข้อความจากเฟสบุ๊คส่วนตัวจำนวน 5 ภาพ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่การทูต อาทิ สหภาพยุโรป (EU) ลักเซมเบิร์ก และออสเตรีย เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี
9.30 น. จำเลยสวมชุดนักโทษสีน้ำตาลอ่อน เดินจากห้องขังนักโทษใต้ถุนศาลทหารขึ้นมาในห้องพิจารณาคดี พร้อมกับสวมกุญแจข้อเท้า มีเจ้าหน้าที่จากเรือนจำ 2 คน คุมตัวมา โดยมีเจ้าหน้าที่บังลังก์ศาล พยานฝ่ายโจทก์ อัยการฝ่ายโจทก์ ทนายจำเลย ผู้ร่วมสังเกตการณ์ นั่งรออยู่
ศาลเริ่มสืบพยานฝ่ายโจทก์ คือ พ.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่สืบสวน หาข่าว และรวบรวมหลักฐาน ซึ่งได้ร่วมกับพล.ต. วิจารณ์ จดแตง (ยศในขณะนั้น) หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่ซักถามธเนตรระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม 2558
สำหรับการสืบพยานในวันนี้เป็นการสืบพยานปากเดิมต่อเนื่องจากนัดที่แล้วยังไม่แล้วเสร็จ โดยครั้งที่ผ่านมาทนายความจำเลยได้นำสืบพยานในประเด็นฐานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร รวมถึงหลักฐานจากข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวของจำเลย ที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้เอาผิดธเนตรใน 2 ข้อหา ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 (อ่านรายงานนี้ได้ที่: คดี “ธเนตร” ยุยงปลุกปั่นฯ พยานจำไม่ได้ว่ารธน. 50 ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง)
อ่านความเป็นมาและความคืบหน้าของคดีก่อนหน้านี้ได้ที่
- ศาลสั่งตัดพยานพิสูจน์ทุจริตราชภักดิ์ คดีธเนตร ถูกฟ้อง ม.116
- จับตาสืบพยานคดี “ธเนตร” สั่นคลอนความมั่นคง ด้วยการโพสต์ “ประเทศหน้า …ี”
- เลื่อนสืบพยานคดี ‘ธเนตร’ กระด้างกระเดื่องฯ ด้านพ่อเผยความฝันของลูกหากได้รับอิสรภาพ
ภาพเสื้อแดงบุกบ้านป๋า –กปปส.ชุมนุม และข้อความประเทศหน้า …ี
หลังจากผู้พิพากษาศาลทหารขึ้นบัลลังก์ กระบวนการพิจารณาคดีก็เริ่มขึ้น ทนายความจำเลยขึ้นถามค้านพยาน โดยเป็นการถามถึงข้อความที่ธเนตรได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวของเขาเองที่ชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” ซึ่งเป็นภาพวันที่ 16 ก.ย. 58 ได้โพสต์ภาพ 2 ภาพ ระบุข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด ? ประชาชนเดือดร้อน” และพิมพ์ข้อความประกอบภาพว่า “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)”
พยานเบิกความโดยรับว่าเป็นผู้ร่วมซักถามจำเลยที่มณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งในขณะนั้นมีการออกหมายจับจำเลยแล้ว แต่ไม่ทราบว่าทำไมต้องนำตัวไปสอบปากคำในค่ายทหาร ส่วนกรณีที่ไม่มีการให้พบญาติ หรือทนายความ ไม่ได้แจ้งสิทธิแก่จำเลย และพยานไม่ได้โต้แย้งว่าวิธีการนี้ขัดกับหลักการวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากพยานเห็นว่าขั้นตอนนี้เป็นหน้าที่ของทหาร รวมถึงภาพหลักฐานการโพสต์เฟสบุ๊คที่ลงลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย พยานเบิกความว่าไม่ได้อ้างส่งเอง แต่อัยการเป็นคนอ้างส่ง
ระหว่างการซักถามจำเลยในวันที่ 16 ธ.ค. 58 นั้น พยานเบิกความว่าไม่ได้บันทึกให้จำเลยทราบว่า บันทึกซักถามนี้จะถูกนำไปใช้เอาผิดในชั้นศาล แต่ก็ได้แจ้งด้วยวาจาแก่จำเลย สำหรับเหตุผลที่ไม่บันทึก เนื่องจากเห็นว่าการซักถามไม่ใช่ขั้นตอนของการสอบสวน ส่วนการขู่เข็ญจำเลยหรือมีการซ้อมทรมานจำเลยหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่เห็นว่าตามปกติจะมีการบันทึกวีดีโอระหว่างซักถาม
ประเด็นต่อมาในภาพเดิมที่มีข้อความ “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)” เป็นภาพเปรียบเทียบการชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปก.) ในปี 2550 และการชุมนุมของขบวนการ กปปส. ในปี 2556-2557 พยานเบิกความว่าการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แม้ว่าจำเลยจะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความไม่เป็นธรรม ส่วนข้อความประกอบภาพข้างต้น พยานเบิกความว่าเป็นข้อความที่ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล คสช. แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีจำเลยคนใดในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงอื่น ๆ ได้ไปก่อความผิดเพราะอ่านข้อความนี้หรือไม่ ส่วนมีคนไลค์หรือแชร์โพสต์นี้ของจำเลยพยานไม่ยืนยัน
เอาผิดธเนตรจากเหตุตรวจสอบทุจริตราชภักดิ์ และการตายของหมอหยอง
ประเด็นในการสืบพยานต่อมาคือ ภาพที่ธเนตรได้โพสต์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ “หมอหยอง” หมอดูชื่อดัง เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 58 มีข้อความว่า
“ผมเชื่อว่าคงมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่กระทำกับหมูหยองภายในคุกทหาร มทบ.11 แขวงนครไชยศรี ตั้งแต่รอบแรกที่ถูกจับและไม่มีใครได้เห็นหน้าอีกเลย จากนั้นค่อยมีข่าว ‘รายชื่อคนใหญ่คนโต’ ในกองทัพและสตช. ออกมากว่า 50 รายชื่อ คนมียศใหญ่โต และแหล่งข่าวระบุว่า “หมอหยองซัดทอด” … คงมีการกระทำอะไรบางอย่างกับหมอหยองในห้องลับปิดตายเหนือการตรวจสอบของสาธารณะห้องนั้นเช่นเดียวกับที่ปรากรมโดนถึงได้การซัดทอดครั้งใหญ่นี้ออกมา …”
พยานได้เบิกความว่า พยานไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการตายของหมอหยอง และไม่ทราบว่าการควบคุมตัวหมอหยองมีสาเหตุมาจากกรณีทุจริตเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ หากแต่ทราบว่าเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ส่วนรายละเอียดการตายและกรณีที่ในเวลาเกิดเหตุพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะมีการกล่าวหาไปยังนายทหารคนอื่นหรือไม่ พยานไม่ทราบกรณีนี้
ประเด็นถัดมา ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามข้อความที่จำเลยโพสต์จริงหรือไม่นั้นไม่ทราบ เพราะไม่อยู่ในหน้าที่ของพยาน ต่อประเด็นการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ พยานเพียงทราบข่าวจากสื่อว่ามีการทุจริต แต่ไม่รู้รายละเอียด และทราบว่าคนที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตมีหลายคน 1 ในนั้นคือ “จ่านิว” หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งมีการพยายามไปทำกิจกรรมนั่งรถไฟส่องโกงอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งพยานเบิกความว่าไม่เคยเรียกพลเอกอุดมเดช สีตบุตร หัวหน้าคณะกรรมการโครงการมาซักถาม และก็จำไม่ได้ว่าเคยเรียกใครมาซักถามเกี่ยวกับกรณีนี้ แต่พยานเบิกความว่าเคยซักถาม “หมอหยอง” ระหว่างที่หมอหยองถูกควบคุมตัว และส่วนใหญ่เป็นการซักถามร่วมกับพลตรีวิจารณ์ จดแตง แต่ไม่เกี่ยวกับกรณีอุทยานราชภักดิ์
ต่อประเด็นกิจกรรมส่องโกงอุทยานราชภักดิ์ที่จำเลยเดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วยนั้น พยานจำไม่ได้ว่าผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดงระหว่างชุมนุมหรือไม่ แต่อาจจะมีเสื้อสีแดงอยู่ข้างในผู้ชุมนุมอีกตัวก็ได้ และพฤติการณ์ของจำเลยก็ถูกดำเนินคดีนั้น พยานเบิกความว่าจำเลยมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง รวมถึงการโพสต์ภาพเสื้อแดง ซึ่งในปี 2553 มีการเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา พยานไม่ยืนยันว่าเป็นสิทธิในการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
อัยการโจทก์ถามติง 2 ประเด็น
เมื่อทนายความจำเลยถามค้านเสร็จสิ้น อัยการทหารฝ่ายโจทก์ลุกขึ้นถามค้านต่อใน 2 ประเด็นหลัก คือประเด็นการแชร์ภาพเปรียบเทียบการชุมนุมของนปช.-กปปส. ของจำเลยซึ่งเป็นการแชร์ต่อมาจากบัญชีเฟสบุ๊คชื่อ “ยุพา ใบตองสด” แม้ว่าพยานเคยเบิกความไม่ได้เรียกยุพา ใบตองสด มาซักถามจริง แต่ก็อาจจะมีเจ้าหน้าที่อื่นเรียกมาซักถามได้ การซักถามของพยานเกี่ยวข้องกับคดีนี้ ก็เนื่องมาจากคสช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง และมอบหมายให้หาข่าว สืบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง ส่วนอำนาจในการสั่งฟ้องหรือไม่นั้น พยานเบิกความว่าเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน
ประเด็นถัดมาคือในเอกสารที่ระบุภาพเฟสบุ๊ค และมีการลงลายมือชื่อของจำเลย แล้วพยานเบิกความระหว่างการถามค้านของทนายความว่าไม่ยืนยันนั้น แต่ยืนยันว่าเฟสบุ๊คชื่อ “ธเนตร อนันตวงษ์ รักคนเสื้อแดงตลอดไป” เป็นของจำเลย เนื่องจากจำเลยยืนยันเองว่าเป็นเฟสบุ๊คของตน สุดท้ายพยานยืนยันว่าข้อความตามเอกสารท้ายฟ้องทั้งหมดอาจจะก่อให้เกิดการยุยงปลุกปั่นประชาชน
หลังจากกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้น ศาลได้นัดสืบพยานคู่ความปากต่อไป คือ ร.ต.ท. วีรบุตร บุตรดีขันธ์ เจ้าพนักงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของจำเลย โดยนัดสืบพยานปากนี้ในวันที่ 23 พ.ค. 62 เวลา 8.30 น.