ในวันที่ 22 มี.ค. 62 นี้ เป็นวันสืบพยานนัดแรกของคดี “ธเนตร อนันตวงษ์” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอีกราย ซึ่งยังคงถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการโพสต์ภาพเกี่ยวกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ท่ามกลางกระแสการตรวจสอบทุจริตผู้นำระดับสูงในรัฐบาลทหารซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 หากนับเวลาตั้งแต่ที่เขาคุมขังมาจนถึงวันนัดสืบพยานนัดแรกนี้ ธเนตรได้ถูกคุมขังในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลากว่า 210 วัน
ภาพการเข้าขัดขวางการเดินทางไปทำกิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ และการเข้าจับกุมผู้ทำกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 (ภาพโดย Banrasdr Photo)
กล่าวได้ว่าธเนตรเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ในชื่อ “ส่องแสงหาคนโกง” เพื่อตรวจสอบการทุจริตเกี่ยวกับการจัดสร้างอุทธยานราชภักดิ์ ก่อนที่เขาจะถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่ปริศนา และถูกดำเนินคดีตามมาทีหลังในข้อหารุนแรง ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่าคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ยังมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ระบุให้ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร อันหมายถึงการกำหนดให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมหรือรับราชการทหารต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างมาตรา 113-118 ทำให้เขายังต้องเผชิญการพิจารณาบนศาลทหารจนถึงเวลานี้
แม้ว่าในเวลาต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. จะออก “คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559” ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ทว่าประกาศนี้กลับไม่ครอบคลุมคดีที่อัยการทหารสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้และคดีที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหาร ทำให้พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีคดีโดยมีเหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 12 ก.ย. 59 ก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 มีผลใช้บังคับ ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารต่อไป
เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวธเนตร อนันตวงษ์ มายื่นคำร้องขอฝากขัง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 58 ระหว่างเดินธเนตรใช้มือทั้งสองข้างขึ้นไขว้ประสานกันเป็นสัญลักษณ์นกพิราบไว้ที่หน้าอกไว้ตลอดเวลา ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่คสช. ปัดลง (ภาพโดย Banrasdr Photo)
จากวันที่เจ้าหน้าที่พาธเนตรหายไป
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 58 เมื่อธเนตรถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ควบคุมตัวไปจากโรงพยาบาลสิรินธร ขณะที่เขากำลังรักษาอาการลำไส้อักเสบและกำลังรอเข้ารับการผ่าตัด โดยมีเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งกำลังเดินทางไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาล ได้พบเห็นจังหวะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรออกไป
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งชื่อ-นามสกุล ต้นสังกัดแต่อย่างใด และยังไม่แจ้งว่าจะควบคุมตัวธเนตรฯ ไปที่ใด หรือ ควบคุมตัวเพราะเหตุใด อีกทั้งไม่ได้แสดงหมายจับของศาลขณะเข้าควบคุมตัว มีเพียงข้อเท็จจริงจากเพื่อนของเขา ซึ่งเป็นผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อ “Piyarat Chongthep” โพสต์ข้อความว่า
“เมื่อธเนตรทราบว่ามีหมายจับจึงไม่คิดจะหนีและแสดงเจตนาที่จะมอบตัวเพื่อพิสูจน์ตัวเอง และยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวธเนตรลงลิฟท์จากชั้น 7 ไป ก่อนขึ้นรถ โดยใช้รถแท๊กซี่สีเขียวเหลืองไม่ติดป้ายทะเทียน และกระจกก็ถูกปิดด้วยกระดาษ”
ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รอง ผบ.ตร. ได้ออกมาชี้แจงพฤติการณ์จับกุมว่ากรณีดังกล่าว “ไม่ได้เป็นการควบคุมตัวออกจากเตียงที่รักษาตามที่มีการโพสต์กันในโลกออนไลน์แต่อย่างใด แต่เป็นการควบคุมตัวโดยถูกต้องตามหมายจับของศาลขณะที่ผู้ต้องหากำลังจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และมีพฤติกรรมคาดว่าจะหลบหนีไป ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารหลักฐานต่างๆ”
ปิยรัฐ จงเทพ เพื่อนนักเคลื่อนไหวของเขาได้โต้แย้งในเรื่องนี้ว่า
“รอง ผบ.ตร. แถลงสรุปว่า ธเนตร อนันตวงษ์ ถูกจับเพราะเตรียมหลบหนี ไว้ว่า ธเนตรไม่ได้คิดจะหนี เพราะโดยสภาพแล้ว ธเนตรมีอาการป่วย และไม่มีเงิน ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่มีแม้แต่รองเท้าจะใส่ เพราะต้องให้คนหามมา รพ. แบบฉุกเฉิน แม้ว่าคณะจับกุม ปิยรัฐจะไม่ได้อยู่ด้วย เนื่องจากจัดการค่ารักษาพยาบาล แต่เบอร์โทรศัพท์ที่ธเนตรติดต่อมาเป็นเบอร์จากห้องของผู้ป่วย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าการจับกุมเกิดขึ้นที่เตียงผู้ป่วย ไม่ใช่ขณะจ่ายค่ายาอย่างที่ตำรวจได้แถลงไป”
ช่วงเวลาที่ธเนตรถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” เพื่อนนักกิจกรรม ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวธเนตร จากการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลอาญา ทว่าได้มีการยกคำร้อง ก่อนที่ต่อมาทางทนายความของจำเลยได้อุทธรณ์คำร้องขอให้ปล่อยตัวธเนตรอีก ศาลอาญาจึงกลับมาไต่สวนและยกคำร้องอีกครั้ง (อ่านเพิ่มเติมที่: ศาลอาญายกคำร้องควบคุมตัวไม่ชอบธเนตร อนันตวงษ์)
จนกระทั่งวันที่ 19 ธ.ค. 58 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้พาตัวธเนตรมาฝากขังที่ศาลทหาร ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังนายธเนตรผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-30 ธ.ค. ตามคำขอของพนักงานสอบสวน จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และทหารคุมตัวไปยังเรือนจำชั่วคราวมทบ.11 ก่อนที่ทนายความของนายธเนตรได้ยื่นขอประกันตัววงเงิน 4 แสนบาท ศาลทหารพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 1 แสนบาท พร้อมกับมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามยุยงปลุกปั่น และต้องมารายงานตัวทุกๆ 12 วัน
ถึงกระนั้นด้วยภาวะยากลำบากในการต่อสู้คดีของพลเรือนในศาลทหาร ทั้งการถูกควบคุมตัว การไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขั้นตอนที่ล่าช้า และข้อหาที่รุนแรงจากการแสดงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทำให้ต่อมาธเนตรไม่เดินทางมาตามนัดของศาลทหารด้วย ก่อนจะกลับมามอบตัวอีกครั้งหลังจากมีหมายจับ ในวันที่ 24 ก.ค. 59 (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมใน:
ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.)
ความพยายามในการต่อสู้คดีด้วยความเป็นธรรมยังคงดำเนินต่อไป 13 ก.ย.2559 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว ธเนตร อนันตวงษ์ พร้อมหลักทรัพย์ประกัน 20,000 บาท ในคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ครั้งนี้ ศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวธเนตร โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าจากข้อเท็จจริงตามรายงานของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าจำเลยเคยหลบหนีไปในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวไปจากศาลนี้ และศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับจำเลยไว้แล้ว นับว่าจำเลยเคยมีพฤติการณ์หลบหนีในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง (อ่านเพิ่มเติมที่: ศาลไม่ให้ประกันตัว ธเนตร คดีส่องโกงราชภักดิ์ อ้างเคยหนีคดี)
จากโพสต์ “ประเทศหน้า …ี” ถึง “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล” เป็นภัยความั่นคง
พ้นไปจากพฤติการณ์การควบคุมตัวธเนตร เป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่งขึ้น เมื่อพบว่าคำฟ้องของอัยการฝ่ายโจทก์ ซึ่งใช้ในการฟ้องเอาผิดธเนตรในฐานะจำเลย เป็นการนำเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและความไม่ธรรมในกระบวนการยุติธรรม ได้ถูกนำมาใช้ฟ้องในข้อหาความมั่นคง
เนื้อหามีความแตกต่างการแง่กาละและเทศะ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 58 ถึงวันที่ 10 ธ.ค. 58 อันเป็นข้อความที่ธเนตรได้โพสต์ข้อความลงใน Facebook ส่วนตัวของเขาเองที่ชื่อว่า “ธเนตร อนันตวงษ์ รักเสื้อแดง ตลอดไป” โดยมีตัวอย่างโพสต์ที่สำคัญ ดังนี้
ภาพแรกโพสต์วันที่ 16 ก.ย. 58 ได้โพสต์ภาพ 2 ภาพ ระบุข้อความว่า “ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด ? ประชาชนเดือดร้อน” และพิมพ์ข้อความประกอบภาพว่า “ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)”
วันที่ 9 พ.ย. 58 จำเลยได้โพสต์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ “หมอหยอง” หมอดูชื่อดัง ข้อความว่า “ผมเชื่อว่าคงมีกระบวนการอะไรสักอย่างที่กระทำกับหมูหยองภายในคุกทหาร มทบ.11 แขวงนครไชยศรี ตั้งแต่รอบแรกที่ถูกจับและไม่มีใครได้เห็นหน้าอีกเลย จากนั้นค่อยมีข่าว ‘รายชื่อคนใหญ่คนโต’ ในกองทัพและสตช. ออกมากว่า 50 รายชื่อ คนมียศใหญ่โต และแหล่งข่าวระบุว่า “หมอหยองซัดทอด” … คงมีการกระทำอะไรบางอย่างกับหมอหยองในห้องลับปิดตายเหนือการตรวจสอบของสาธารณะห้องนั้นเช่นเดียวกับที่ปรากรมโดนถึงได้การซัดทอดครั้งใหญ่นี้ออกมา …”
วันที่ 24 พ.ย. 58 โพสต์ระบุข้อความว่า “ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล 25 พ.ย. 2015 18.00 น. เป็นต้นไป ลานปรีดี พนมยงค์ มธ.ท่าพระจันทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา…”
วันที่ 1 ธ.ค. 58 ได้โพสต์ภาพบุคคลระบุข้อความประกอบว่า “กรณีโหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่าแผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะแยะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำ ๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริง ๆ 555”
กิจกรรมส่องโกงราชภักดิ์ ที่ธเนตรเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 (ภาพโดย Banrasdr Photo)
มีการสั่งตัดพยาน-เปลี่ยนองค์คณะผู้พิจารณาคดี
เป็นเวลาอันยาวนานที่เขาถูกควบคุมตัว ทว่ากระบวนการพิจารณาคดีกลับเชื่องช้าต่างจากพฤติการณ์การจับกุมเขา ความคืบหน้าไม่กี่เรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ศาลทหาร ได้สั่งตัดพยานบุคคลและเอกสารเกี่ยวกับคดีราชภักดิ์ ทนายจำเลยเห็นว่าดุลยพินิจอาจทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอให้เปลี่ยนองค์คณะพิพากษาใหม่ ศาลพิจารณาแล้วจึงเลื่อนตรวจพยานหลักฐานใหม่อีกครั้ง โดยไม่มีกำหนด ซึ่งในคดีนี้ศาลได้สั่งตัดพยานบุคคลออกไปหลายปาก คงเหลือไม่กี่คน และพยานเอกสารที่เป็นภาพที่ธเนตรโพสต์เฟสบุ๊ค
สำหรับพยานบุคคลสำคัญที่ถูกศาลสั่งตัดออกไปก่อนหน้านี้ อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขณะเดียวกันศาลยังมีคำสั่งไม่รับพยานเอกสารลำดับที่ 17 ซึ่งเป็นผลชันสูตรศพของสุริยัน สุจริตพลวงษ์ และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา โดยทั้งสองมีความเกี่ยวกับผลการตรวจสอบทางการเงินและการทุจริตของโครงการอุทยานราชภักดิ์
ทั้งนี้ศาลให้เหตุผลว่าพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดี หากทนายจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลให้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
ศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับทนายจำเลยไม่ประสงค์จะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาล จึงให้เลื่อนตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งองค์คณะใหม่ (อ่านเพิ่มเติมที่: ศาลสั่งตัดพยานพิสูจน์ทุจริตราชภักดิ์ คดีธเนตร ถูกฟ้อง ม.116)
ไม่ว่ากระบวนการพิจารณาคดีธเนตร ต่อจากนี้จะเดินไปเช่นไร นักสังเกตการณ์หลายฝ่ายคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า กระบวนการดำเนินคดีนี้ลงเอยที่ใด หรือกรณีนี้จะช่วยให้เป็นจุดเริ่มต้นการยกเลิกดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้จริงในอนาคต