บิดาของ “ธเนตร” ป่วยเสียชีวิต ขณะลูกชายถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ม.116 มากว่า 3 ปี 7 เดือน

3 เม.ย. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานจากอานนท์ นำภา ทนายความของนายธเนตร อนันตวงษ์ ว่าได้ทราบข้อมูลว่านายสนอง อนันตวงษ์ บิดาของธเนตร ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 62 ในวัย 60 ปี เนื่องจากอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค 

ในขณะที่ปัจจุบัน ธเนตรยังคงถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการต่อสู้คดีมากว่า 3 ปี 7 เดือนแล้ว (โดยถูกขังมาตั้งแต่คดีคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.) ทำให้เขาไม่ได้อยู่ร่วมกับบิดาขณะเสียชีวิต และไม่สามารถไปร่วมงานศพของบิดาได้ โดยทนายความได้ฝากผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษแจ้งเรื่องการเสียชีวิตของบิดากับธเนตรแล้ว

.

คดีของธเนตร จวนครบ 4 ปี ยังสืบพยานไม่เสร็จ

ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ “ตูน” เป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม “ส่องแสงหาคนโกง” นั่งรถไฟตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 58 เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค. 58 ก่อนถูกดำเนินคดีตามมา 2 คดี ได้แก่ คดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป จากการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 

ในส่วนคดีที่สอง ธเนตรถูกกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 5 ข้อความ โดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหาในคดี อ้างว่าข้อความเป็นการโจมตีรัฐบาลและทหาร ทั้งปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง ต่อต้านรัฐบาล ได้แก่ ข้อความที่โพสต์ว่า “ประเทศไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)”, ข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ “หมอหยอง” ในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11, ข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมลอยกระทงขับไล่เผด็จการ, ข้อความโพสต์เกี่ยวกับการทุจริตในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ และโพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์  (อ่านรายละเอียดข้อความใน จับตาสืบพยานคดี “ธเนตร” สั่นคลอนความมั่นคง ด้วยการโพสต์ “ประเทศหน้า …ี”)

ธเนตรถูกนำตัวไปฝากขังเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 58 ก่อนได้รับการประกันตัว แต่ธเนตรไม่ได้มารายงานตัวต่อศาลทหารระหว่างการฝากขังครั้งที่ 2 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการขอออกหมายจับเขา จนวันที่ 24 ก.ค. 59 เขาได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ในคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และวันที่ 26 ก.ค. 59 เข้ามอบตัวในคดียุยงปลุกปั่น

ก่อนที่ในคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ศาลทหารกรุงเทพจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างเรื่องเจ้าตัวเคยมีพฤติการณ์หลบหนี ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการพิจารณาคดีมาตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 59 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 3 ปี 7 เดือน 

หลังจากการพิจารณาอย่างล่าช้าในศาลทหาร โดยสืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก คดีของธเนตรได้ถูกโอนย้ายมาที่ศาลพลเรือนในช่วงปลายปี 2562 และได้มีการนัดพร้อมคดีใหม่ที่ศาลอาญาไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 62  และมีกำหนดนัดสืบพยานในคดีต่อไปในวันที่ 12-14 พ.ค. 63

 

ภาพนายสนองขณะเดินทางมาเยี่ยมลูกชายที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 62

.

ขายไก่ย่าง-บวชแทนคุณพ่อ: ความฝันของธเนตร

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เคยสัมภาษณ์ความรู้สึกบิดาของธเนตรไว้ ในนัดพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 62  

สนอง อนันตวงษ์ เคยทำอาชีพคนงานก่อสร้าง แต่ในช่วงหลังด้วยอาการป่วย ได้หันมาประกอบอาชีพพ่อค้าขายไอศรีม ครอบครัวอาศัยอยู่ที่อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี โดยที่ภรรยาของสนองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุไฟช๊อต ตั้งแต่ธเนตรอายุได้ 8 ขวบ

สนองเล่าถึงลูกชายไว้ว่า “จริงๆ ตอนเด็กเขาไม่ใช่คนเกเร ไม่มีเรื่องขัดแย้งลงไม้ลงมือกับใคร กับพ่อก็ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน เมื่อโตสักพักก็มาทำงานรับจ้างก่อสร้างกับพ่อที่กรุงเทพ และไปอีกหลายที่ หลายจังหวัด เขาทำงานช่างได้เหมือนผม ไม่ว่างานเหล็ก งานเชื่อม ฉาบปูน งานไม้ ทำวงกบ ผมกับเขาทำได้หมด ตอนที่ก่อสร้างด้วยกันก็จะเป็นตึก 3 ชั้นแถวงามวงศ์วงวาน ก่อนเกิดเรื่อง” 

สนองยังเล่าถึงประวัติของลูกชายว่า ธเนตรเคยเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 และเคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งถูกประกาศควบคุมการชุมนุมในช่วงดังกล่าว  ทำให้เขาถูกคุมขังราวๆ 1 ปีกว่า ก่อนถูกปล่อยตัวออกมา แต่หลังจากนั้น ธเนตรก็ยังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ต่อมาอีก จนกระทั่งถูกทหารจับกุม และถูกดำเนินคดีในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 

หลังจากลูกชายติดคุก สนองจะเดินทางมาเยี่ยมลูกชายในนัดที่ต้องขึ้นศาล โดยนั่งรถตู้มาจากจังหวัดอุทัยธานีเพียงลำพัง หลายปีหลัง สนองยังต้องฉีดอินซูลีนเป็นประจำทุกวัน เพื่อบรรเทาอาการจากโรคเบาหวาน ทำให้การเดินทางไกลเป็นอุปสรรค ทำไม่ได้บ่อยนัก

สนองบอกเล่าถึงเรื่องที่พูดคุยกับธเนตร ระหว่างลูกชายถูกคุมขังว่า “เขามักจะบอกว่าเมื่อออกมา เขาอยากมีร้านรถเข็นไว้ขับขายไก่ย่าง-ข้าวเหนียว เพราะเป็นงานอิสระ สามารถขับไปได้เรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยเราก็สามารถพักได้ อีกสิ่งหนึ่งเขามีความหวังว่าถ้าได้ออกมา ก็จะบวชให้พ่อ เพราะยังไม่เคยบวชให้พ่อเลย จนกระทั่งถูกจับไปเสียก่อน”


อ่านเพิ่มเติม
จับตาสืบพยานคดี “ธเนตร” สั่นคลอนความมั่นคง ด้วยการโพสต์ “ประเทศหน้า …ี”

เลื่อนสืบพยานคดี ‘ธเนตร’ กระด้างกระเดื่องฯ ด้านพ่อเผยความฝันของลูกหากได้รับอิสรภาพ

ปัญหาการโอนย้ายคดีพลเรือนจากศาลทหาร: จากความยาวนานไม่สิ้นสุดสู่ภาวะสุญญากาศ

 

X