ยกฟ้อง! คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #อุดรสิบ่ทน ศาลชี้ จำเลยเพียงโพสต์เชิญชวน ไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม ไม่มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค

วันนี้ (25 สิงหาคม 2564) ศาลแขวงอุดรธานี นัดฟังคำพิพากษาคดีของปรเมษฐ์ ศรีวงษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถูกกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการไลฟ์สดขณะมีชุมนุม ที่ลานน้ำพุ ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 เวลา 9.20 น. กฤษฎา สกุลศรีประเสิฐ ผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษายกฟ้อง มีใจความโดยสรุปว่า แม้โจทก์จะพิสูจน์ได้ว่า ปรเมษฐ์เป็นหนึ่งในผู้ดูแลเพจ “กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี” และมีการโพสต์เชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 แต่ไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากขณะเกิดเหตุรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลให้ไม่บังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงนำนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาปรับใช้กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้  การตีความให้ผู้เชิญชวนผู้อื่นมาร่วมชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นผลร้ายต่อผู้เชิญชวนมากเกินไป เนื่องจากขัดแย้งกับสภาพและขอบเขตการกระทำของผู้เชิญชวน 

อีกทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลสถานที่ขณะเกิดเหตุ หรือก่อนเกิดเหตุแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่ต้องมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คำพิพากษาระบุด้วยว่า การชุมนุมดังกล่าวไม่ถือเป็นการยุยงให้เกิดความวุ่นวาย เพราะตลอดการชุมนุมไม่มีเหตุวุ่นวาย อีกทั้ง พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ  พยานโจทก์ ในฐานะผู้แจ้งความก็ระบุว่า เนื้อหาการปราศรัยในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 มีเพียงการวิจารณ์รัฐบาล และการชุมนุมไม่มีการขัดขวางเจ้าหน้าที่รัฐ 

ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่า ในการชุมนุมดังกล่าวผู้เข้าร่วมชุมนุมนั่งและยืนชิดติดกันแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น ศาลเห็นว่า จะต้องมีการแออัดกันของผู้ชุมนุมตลอดพื้นที่ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนย้ายในพื้นที่ชุมนุมได้อย่างอิสระ และทุ่งศรีเมืองเป็นสถานที่โล่งกว้าง อีกทั้งจำเลยได้เว้นระยะห่างโดยไม่ได้ยืนใกล้ชิดหรือเกาะกลุ่มกับผู้ใด ส่วนการเกาะกลุ่มรวมตัวกันของผู้ชุมนุมอยู่เหนือการควบคุมของปรเมษฐ์ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ หรือมีการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง

คดีของปรเมษฐ์นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองและมีการต่อสู้คดี คดีแรกของประเทศที่มีคำพิพากษาออกมา 

ก่อนหน้านี้เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “การดำเนินคดีผมครั้งนี้ และคนอื่นๆ ด้วยข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับได้ว่ารัฐต้องการปิดปากประชาชนโดยแท้จริง  แน่นอนว่าสถานการณ์โควิด -19 ส่งผลต่อการทำมาหากินของเรา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของเราอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด”  

หลังฟังคำพิพากษาปรเมษฐ์กล่าวอีกว่า “ก็รู้สึกได้รับความเป็นธรรม แต่ยังข้องใจในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก นอกจากนี้ยังคิดถึงกรณีและสถานการณ์ละเมิดสิทธิอื่นๆ ในประเทศที่ยังน่ากังขา โดยเฉพาะการจับกุมนักกิจกรรม และการอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่อย่างน้อยคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผมในวันนี้ แสดงให้เห็นว่ายังพอมีความหวังที่จะเห็นความยุติธรรมบ้าง แม้ต้องใช้เวลานาน” 

ก่อนคดีซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 จะมาถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้ ปรเมษฐ์ต้องสูญเสียเวลาในการทำหน้าที่นักศึกษาเพื่อเดินทางไปที่ สภ.เมืองอุดรธานี, สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานี, ศาลแขวงอุดรธานี ไปจนถึงสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดอุดรธานีเพื่อให้พนักงานคุมประพฤติตรวจสอบประวัติและทำรายงานเสนอประกอบการพิจารณามีคำพิพากษาของศาล รวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ในเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเคร่งครัด โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 และโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสำคัญ ปรเมษฐ์ก็คงไม่ต้องสูญเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนไม่ต้องกังวลต่อการถูกดำเนินคดีหรือการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเช่นที่ผ่านมา 

สำหรับเหตุในคดีย้อนไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่อุดรธานีมีกการชุมนุม #อุดรสิบ่ทน เป็นจังหวัดที่ 4 ในอีสาน มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ล้อไปกับข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอกและการชุมนุมอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ตลอดเวลาการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมราว 400 คน ยืนรวมกันเป็นกลุ่มชูป้ายวิจารณ์ทหารและรัฐบาล รวมถึงชูกระดาษรูปบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย มีการอ่านแถลงการณ์ยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชน  การชุมนุมวันนั้นปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 60 นาย กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณทุ่งศรีเมือง คอยถ่ายภาพผู้มาร่วมชุมนุม มีการที่ใช้โดรน 1 ตัว บินเหนือพื้นที่ชุมนุมเพื่อบันทึกภาพกิจกรรม อีกทั้งพบกล้องวงจรปิดติดตั้งใหม่ภายในทุ่งศรีเมือง เมื่อเดินตามสายเชื่อมต่อพบว่า มีปลายทางที่รถตู้ตำรวจ หลังการชุมนุม ปรเมษฐ์ซึ่งเป็นผู้ไลฟ์สดการชุมนุมถูกดำเนินคดี โดยเขาต่อสู้คดีเรื่อยมากระทั่งศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

ย้อนเหตุชุมนุม ‘อุดรสิบ่ทน’ ก่อนฟังคำพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม คดีแรก

น.ศ.เข้ารับทราบข้อหาเป็นผู้จัดชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังไลฟ์สดชวนคนร่วม #อุดรสิบ่ทน

น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ขอความเป็นธรรมอัยการไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ฟ้อง น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัยการขอให้ลงโทษสถานหนัก

นัดสืบพยาน มิ.ย. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #อุดรสิบ่ทน นักศึกษายืนยันไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม

.

X