นัดสืบพยาน มิ.ย. คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #อุดรสิบ่ทน นักศึกษายืนยันไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม

28 ม.ค. 2564 เวลา 14.00 น. ศาลแขวงอุดรธานี นัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ปรเมษฐ์ ศรีวงษา นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กลุ่มเสรีประชาธิปไตยเยาวชนอุดร ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ จากการชุมนุม #อุดรสิบ่ทน ที่สนามทุ่งศรีเมือง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 โดยวันนี้มีเพื่อนของปรเมษฐ์มาร่วมให้กำลังใจด้วย แต่ไม่สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ เนื่องจากมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19

ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ปรเมษฐ์ฟังอีกครั้ง โดยปรเมษฐ์ให้การปฏิเสธตามฟ้องทุกประการ จากนั้นพนักงานอัยการโจทก์ แถลงว่ามีพยานที่จะอ้างเป็นเอกสารจำนวน 12 ฉบับ นอกจากนี้ยังขอส่งซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหวการชุมนุม ‘อุดรสิบ่ทน’ จำนวน 2 แผ่น พร้อมระบุว่าจะนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 6 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจและประชาชนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม และพนักงานสอบสวน

ขณะที่ทนายจำเลยอ้างเอกสารเป็นพยานจำนวน 3 ฉบับ และแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม จึงไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง และขอนำพยานบุคคลเข้าสืบ 2 ปาก  คือตัวปรเมษฐ์เอง และบุคคลที่ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 24 ก.ค. 2563 ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 16-17 มิ.ย. 2564

สำหรับคำฟ้องซึ่งพนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุดรธานีเป็นโจทก์ฟ้องปรเมษฐ์ในความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรมในที่สาธารณะซึ่งมีการรวมกลุ่มกิจกรรมลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค covid-19 โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ 2558, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี” พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 จำเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณลานน้ำพุ สนามทุ่งศรีเมือง อันเป็นที่สาธารณะ มีผู้ร่วมกันชุมนุมประมาณ 400 คน โดยผู้เข้าร่วมนั่งและยืนชิดติดกันแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิดสัมผัสและแพร่เชื้อโรค covid-19 เป็นระยะเวลานานโดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรค covid-19 แพร่ออกไป 

โดยในการชุมนุมดังกล่าวจำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้จัดการดูแลกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ “กลุ่มเสรีประชาธิปไตย นิสิต นักศึกษา อุดรธานี” ได้โพสต์ข้อความนัดหมายเชิญชวนให้นักเรียนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยได้ไปยังที่เกิดเหตุก่อนเวลาชุมนุมเพื่อดูแลเรื่องสถานที่ และยังได้ถ่ายทอดสดเหตุการณ์การชุมนุมไปยังกลุ่มในเฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปทราบและชักชวนให้มาร่วมชุมนุมด้วย โดยไม่ได้จัดให้มีการบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ไม่อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่าง และไม่จำกัดจำนวนผู้ร่วมชุมนุมมิให้แออัด อีกทั้งไม่ได้จัดให้มีที่ล้างมือ และไม่ได้จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรม ทั้งนี้ เป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนด ตลอดจนประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานี

อัยการยังได้ระบุท้ายคำฟ้องว่า เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ covid-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การกระทำของจำเลยจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ covid-19 อันเป็นการยากต่อการควบคุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ของประชากรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างอีก

     >> ฟ้อง น.ศ.ผู้ไลฟ์สด #อุดรสิบ่ทน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัยการขอให้ลงโทษสถานหนัก

     >> ตารางข้อมูลคดีผู้ถูกกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง

การชุมนุมที่ จ.อุดรธานี ในวันที่ 24 ก.ค. 2563 ใช้ชื่อว่า #อุดรสิบ่ทน จัดขึ้นหลังการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่กรุงเทพฯ เพียง 6 วัน โดยขานรับข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของเยาวชนปลดแอก ได้แก่ ให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน, หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีรายงานว่า ในวันดังกล่าว ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่เทศบาลเมือง ไม่ได้มีการห้ามจัดกิจกรรม และพบว่าเจ้าหน้าที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดชั่วคราวบริเวณสนามทุ่งศรีเมือง มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 20 คน พยายามถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดเวลา พร้อมทั้งใช้โดรน 1 ลำ บินเหนือพื้นที่ชุมนุมเพื่อบันทึกภาพกิจกรรมด้วย

 

X